Saturday, April 27, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย (2)

แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย ตอนที่สอง ที่ผู้เขียนขอเสนออีก 3 ประการที่สำคัญ ที่จำเป็นต่อการพัฒนา ทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเจริญของประเทศในอนาคต

ากบทความ แนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์สำหรับประเทศไทย ตอนที่ 1 ผมได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์ไว้ 3 ประการ คือ การพัฒนาสุขสภาพ กาย ใจ จิต, การพัฒนากระบวนคิด และการพัฒนาความรู้ ปัญญา ความดี ในบทความนี้ ผมจะนำเสนออีก 3 ประการที่สำคัญที่จำเป็นต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเจริญของประเทศในอนาคต ดังต่อไปนี้

1. การพัฒนาการเรียนรู้และวิธีการเรียนรู้

การเปลี่ยนแปลงของความรู้เป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น และสามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้นจากทุกที่ ทุกเวลา ทำให้การศึกษาเพื่อให้รู้ลึก กว้าง ไกล และการเรียนรู้ด้วยตนเองมีความสำคัญมากขึ้น แต่ในความจำกัดของความสามารถและเวลาในการเรียนรู้ของผู้เรียน

เราจึงจำเป็นต้องพัฒนาการเรียนรู้และวิธีการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ของการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน ผมจึงขอนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ 32 วิธี และวิธีเรียนสุข 15 วิธี เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักเครื่องมือการเรียนรู้ที่หลากหลาย ฝึกฝนให้เกิดความเชี่ยวชาญ และเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม

1.1 การเรียนรู้ 32 วิธี การเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากประสาทสัมผัสทางกายเท่านั้น แต่การเรียนรู้เกิดได้ทั้งระดับ กาย ใจ จิตการเรียนรู้ 32 วิธีตามแนวคิดของผมสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ส่วน ซึ่งแต่ละส่วนใช้วิธีการแตกต่างกันและได้ผลลัพธ์การเรียนรู้แตกต่างกัน ผู้เรียนสามารถเลือกใช้ตามความเหมาะสมและสามารถผสมผสานให้ได้ผลลัพธ์ตอบโจทย์ที่ต้องการ

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

ส่วนที่ 1 เรียนรู้ ‘ทักษะพื้นฐาน’ เพื่อเรียนรู้ ได้แก่ การสังเกต การฟัง การอ่าน การใช้กายสัมผัส การเขียน การถามไถ่และการซักไซ้

ส่วนที่ 2 เรียนรู้ ‘ตัวช่วย’ เพื่อเรียนรู้ ได้แก่ การบันดาลใจ การใช้กรณีศึกษา การฝึกสอน การใช้เทคโนโลยี การสร้างบุคลิกภาพและลักษณะนิสัย

ส่วนที่ 3 เรียนรู้ ‘กระบวนคิด’ เพื่อเรียนรู้ ได้แก่ การคิด การแสดงตัวอย่างรูปธรรม การสะท้อนคิดภายใน การประเมิน และการแก้ปัญหา

ส่วนที่ 4 เรียนรู้ ‘สร้างความรู้’ เพื่อเรียนรู้ ได้แก่ การคิดริเริ่มสิ่งใหม่ การทำโครงงาน การทำวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรม

ส่วนที่ 5 เรียนรู้ ‘ปฏิสัมพันธ์’ เพื่อเรียนรู้ ได้แก่ การสอน การปฏิสัมพันธ์ความคิดกับผู้รู้ การเสวนา การโต้วาที การอภิปราย และการระดมความคิด

ส่วนที่ 6 เรียนรู้ ‘ลงมือทำ’ เพื่อเรียนรู้ ได้แก่ การพัฒนาทักษะ การลงมือปฏิบัติ การทดลอง การฝึกอบรม และการทัศนศึกษา

1.2 การเรียนสุข 15 วิธี หมายถึง การออกแบบวิธีการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้มนุษย์เกิดความสุขหรือความปรารถนาที่จะเรียนรู้ เมื่อกระบวนการเรียนรู้ทำให้มนุษย์มีความสุข จะทำให้เกิดการเรียนรู้ จดจำ และเข้าใจได้ง่าย มนุษย์ประกอบด้วย กาย ใจ จิต การเรียนสุขเป็นการเรียนโดยใช้สัญชาตญาณทางกายนำเป็นหลัก

ได้แก่ การเรียนรู้จากเกมส์ เพลง ศิลปะประเภทต่างๆ กีฬา การท่องเที่ยว ทัศนศึกษา การจัดแข่งขัน งานสังสรรค์ การออกแบบประสบการณ์ บทกวี เรื่องตลกขบขัน การเฝ้าสังเกตความสัมพันธ์ สัตว์ ธรรมชาติและปรากฏการณ์ เป็นต้น

2. การพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ผมได้เสนอแนวคิด โมเดล 365/24/123 เรียนรู้ทุกวัน ทุกชั่วโมง ตลอดช่วงชีวิต 123 ปี[1] เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้สูงอายุ ให้ทุกเวลาเป็นเวลาของการเรียนรู้ เนื่องจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต มีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้มีทั้งคนที่ปรับตัวทันและปรับตัวไม่ทัน

อย่างไรก็ดี ผมมีแนวคิดว่า คนที่มีสมรรถนะมากที่สุด จะไม่ต้องสมัครงานเลยตลอดชีวิต [2] การว่างงานของคนจำนวนมากจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อ ผู้คนในบางสังคมไม่มีสมรรถนะที่เหมาะสมกับยุค ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ที่ทำลายล้าง (Destructive Creation) แทนที่จะเป็น การทำลายล้างอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction)

ดังนั้น ภาครัฐจึงไม่ควรทำงานเชิงรับ โดยการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ด้วยระบบ Universal Basic Income (UBI) หรือการจัดสรรงบประมาณเป็นรายได้ขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน แต่ผมได้เสนอมาเป็นเวลาหลายปีแล้วว่า รัฐบาลควรทำงานเชิงรุกโดยการสร้างระบบที่ผมเรียกว่า Universal Basic Competency (UBC) [3] โดยการทำให้ประชาชนมีสมรรถนะขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน

แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการที่เราเชื่อกันเสมอมา (แต่มักไม่ได้นำไปปฏิบัติ) คือ การสอนคนให้จับปลา แทนการจับปลาให้คนกิน เมื่อประชาชนมีสมรรถนะที่สอดคล้องกับยุคสมัย จะทำให้เขามีโอกาสในการทำอาชีพและมีรายได้ ทำให้ภาครัฐไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการดูแลคนเหล่านี้

และยังเป็นการสร้างทุนมนุษย์ที่สำคัญอย่างยิ่งในโลกอนาคต เพราะทุนมนุษย์จะเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญในการนำพาประเทศขี่ยอดคลื่นลูกที่ 4 ‘สังคมความรู้ นำพาประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูง หรือเป็นประเทศชั้นนำของโลกในอนาคต

3. การพัฒนาคนเต็มศักยภาพ

ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเป็นพลวัตร การพัฒนาทุนมนุษย์เป็นภารกิจที่ต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ประชาชนทุกคนจึงควรได้รับการพัฒนาการพัฒนาเต็มศักยภาพและพัฒนาตรงตามศักยภาพมากสุด ผมเสนอโมเดลการพัฒนาศักยภาพ 15 ขั้นตอน [4] หรือที่ผมเรียกว่า Dr. Dan Can Do Potentiality Model ดังนี้

ขั้นที่ ๑ การวิเคราะห์ศักยภาพ (Potentiality Analysis) คือ การเริ่มต้นด้วยการค้นหา สังเกต พิจารณา ศักยภาพของปัจเจกบุคคลอย่างละเอียด โดยการรวบรวม จัดระบบ จัดหมวดหมู่ข้อมูลของปัจเจกบุคคลเกี่ยวกับความสามารถ ความชอบ และความสุขหรือความสนุกในการทำสิ่งต่าง ๆ รวมทั้งการสำรวจข้อมูลจากคนรอบข้างว่า แต่ละบุคคลสามารถทำอะไรได้ดี เพื่อประเมินในเบื้องต้นว่า แต่ละบุคคลมีความสามารถในด้านใดบ้าง

ขั้นที่ ๒ การค้นพบศักยภาพ (Potentiality Detection) คือ การตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพของปัจเจกบุคคล เพื่อค้นหาความถี่หรือความเด่นชัดของข้อมูล เพื่อระบุว่า อะไรบ้างที่เป็นความสามารถที่โดดเด่นกว่าความสามารถด้านอื่น หรือโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ

ขั้นที่ ๓ การบ่งชี้ศักยภาพ (Potentiality Identification) คือ การใช้เครื่องมือที่เป็นวิชาการในการบ่งชี้ศักยภาพอย่างถูกต้อง และตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด เช่น การใช้แบบทดสอบเพื่อวัดความถนัด (aptitude test) เพื่อระบุศักยภาพที่โดดเด่นอย่างชัดเจน เป็นต้น

ขั้นที่ ๔ การวัดระดับศักยภาพ (Potentiality Measurement) คือ การใช้เครื่องมือช่วยวัดระดับศักยภาพอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือทดสอบแต่ละสมรรถนะอย่างเจาะจง เช่น ข้อสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ การวัดสมรรถนะของกล้ามเนื้อ ฯลฯ

ขั้นที่ ๕ การกำหนดเส้นทางการพัฒนาศักยภาพ (Potentiality Development Roadmap) คือ การระบุวิธีการ กระบวนการและขั้นตอนการดำเนินการอย่างชัดเจน ในการพัฒนาศักยภาพของแต่ละปัจเจกบุคคล ตั้งแต่เริ่มต้นจนบรรลุสู่ความสำเร็จหรือเป้าหมายที่ตั้งไว้

ขั้นที่ ๖ การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพ (Potentiality Development Strategy) คือ การกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพที่เหมาะสมหรือดีที่สุดสำหรับแต่ละบุคคล ภายใต้สถานการณ์หรือความจำกัดที่มีอยู่

ขั้นที่ ๗ การรับการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพ (Potentiality Training) คือ การวางแผนและออกแบบโปรแกรมการฝึกอบรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละบุคคล เช่น การจัดทำหรือสรรหาหลักสูตรการฝึกอบรมที่เหมาะสมกับแต่ละคน การกำหนดตารางเวลาการฝึกอบรมสำหรับแต่ละคน เป็นต้น

ขั้นที่ ๘ การรับคำปรึกษาด้านศักยภาพ (Potentiality Mentoring) คือ การสรรหาที่ปรึกษาและจัดสรรตารางเวลาในการรับคำปรึกษาแนะนำ จากบุคคลผู้มีความรู้ ประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญอย่างเฉพาะเจาะจงในด้านที่สอดคล้องกับศักยภาพของแต่ละคน

ขั้นที่ ๙ การรับการฝึกสอนพัฒนาศักยภาพ (Potentiality Coaching) คือ การรับการฝึกสอนในภาคปฏิบัติจากบุคคลผู้มีความรู้ ประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญด้านนั้น

ขั้นที่ ๑๐ การประเมินผลการพัฒนาศักยภาพ (Potentiality Development Evaluation) คือ การจัดให้มีการประเมินผลการพัฒนาศักยภาพอย่างสม่ำเสมอ โดยเทียบกับเป้าหมายหรือมาตรฐานที่ตั้งไว้ เพื่อการปรับยุทธศาสตร์และแผนในการพัฒนาศักยภาพ

ขั้นที่ ๑๑ การปฏิรังสรรค์ศักยภาพ (Potentiality Reinvention) คือ การนำองค์ประกอบของศักยภาพที่ดีมาต่อกันใหม่ให้ถูกต้อง ทำให้ศักยภาพที่มีอยู่เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ขั้นที่ ๑๒ การแสดงจุดเด่นทางด้านศักยภาพ (Potentiality Showcasing) คือ การหาช่องทางหรือเวทีสำหรับการแสดงศักยภาพ อาทิ การเข้าร่วมการประกวดดนตรี การเข้าร่วมการแข่งขันกีฬา ฯลฯ

ขั้นที่ ๑๓ การบริหารจัดการใช้ประโยชน์จากศักยภาพ (Potentiality Utilization Management) คือ การวางแผน จัดระบบ กำกับดูแล การใช้ประโยชน์จากศักยภาพของปัจเจกบุคคลอย่างเต็มที่และเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อองค์กร ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

ขั้นที่ ๑๔ การเป็นผู้บริหารจัดการใช้ประโยชน์จากศักยภาพ (Potentiality Utilization Manager) คือ การพัฒนาเป็นผู้ที่มีความสามารถวางแผน จัดระบบ กำกับดูแล การใช้ประโยชน์จากศักยภาพ ให้แก่ทั้งตนเองและผู้อื่น

ขั้นที่ ๑๕ การเป็นนักพัฒนาศักยภาพ (Potentiality Developer) คือ การพัฒนาเป็นผู้ที่สามารถจัดเตรียมความรู้และประสบการณ์ พัฒนาปรับปรุง อำนวยความสะดวก ในการพัฒนาศักยภาพให้แก่ทั้งตนเองและผู้อื่น รวมถึงการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพ

สุดท้ายนี้ ผมเสนอว่า กระทรวงแรงงาน ควรเปลี่ยนชื่อและภารกิจใหม่เป็น กระทรวงศักยภาพมนุษย์ เนื่องจากประเทศไทยควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในการกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมและให้คุณค่ากับการพัฒนามนุษย์ เพื่อทำให้มนุษย์บรรลุถึงศักยภาพสูงสุด และนำมาประยุกต์บูรณาการต่อยอด เพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของคนไทยในเวทีระดับอาเซียนและระดับโลก

การมีหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบในเรื่องนี้อย่างเจาะจง โดยทำหน้าที่ไม่เพียงดูแลแรงงานหรือทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) แต่เป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) จนบรรลุศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ (Human Potentiality) เป็นเสมือนหลักประกันที่รับรองว่า การพัฒนาประเทศจะบรรลุเป้าหมายสูงสุดในอนาคตอย่างแน่นอน

รายการอ้างอิง

[1] ผมนำเสนอความคิด โมเดล 365/24/123 เรียนรู้ทุกวัน ทุกชั่วโมง ตลอดช่วงชีวิต 123 ปี ครั้งแรกในการเสวนาประเด็นหัวข้อ “การรู้หนังสือกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในงานวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ จัดโดย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2558.

[2] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2560). คนที่มีสมรรถนะมากที่สุด จะไม่ต้องสมัครงานเลยตลอดชีวิต

[3] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2562). Universal Basic Competency (UBC). กรุงเทพธุรกิจ,

[4]เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2560). ดร. แดน เสนอ โมเดลศักยภาพ ดร. แดน แคน ดู: ฮาร์วาร์ดสะท้อนแนวทางพัฒนาศักยภาพ. สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, ปีที่ 64 (ฉบับที่ 32),

อ่านบทความทั้งหมดของ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

Featured Image: Image by Freepik