Friday, April 19, 2024
Special Report

ประเมินสถานการณ์ ธุรกิจและเทคโนโลยีปี 2564

รายงานพิเศษที่รวบรวมบทสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2563 และบทวิเคราะห์ การคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 ซึ่งจะสามารถชี้ เทรนด์สำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อรูปแบบทางธุรกิจและเทคโนโลยีสามารถชี้ชะตาธุรกิจปี 2564 ใครจะอยู่ ใครจะไป และคำแนะนำ ธุรกิจไทยปรับ 4 ด้านรับมือ 9 เทรนด์แรงปี 64

ายงานพิเศษฉบับนี้ ได้นำเอาบทสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2563 และบทวิเคราะห์ การคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 อันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยต่างๆ โดยนำมาจาก 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ ในมุมมองของ ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์ ได้คาดการณ์เทรนด์สำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อรูปแบบทางธุรกิจและเทคโนโลยีในอีก 12 เดือนข้างหน้า

ส่วนที่สอง เป็นข้อมูลคาดการณ์สำหรับปี 2564 จาก เกลนน์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ประจำภาคพื้นยุโรปของฟูจิตสึ ที่กล่าวถึง เทคโนโลยีดิจิทัลชี้ชะตาธุรกิจปี 2564 ใครจะอยู่ ใครจะไป ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นในช่วงปี 2563 แต่ที่สำคัญก็คือ หลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนไปจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2564

และ ส่วนที่สามจาก สถาบันไอเอ็มซี โดย รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) ที่แนะธุรกิจไทยปรับ 4 ด้านรับมือ 9 เทรนด์สำหรับปี 64 โดยประมวลมาจากสำนักวิจัยการ์ทเนอร์ระบุถึง 9 แนวโน้มเทคโนโลยีสำคัญในปีหน้า เพื่อให้ธุรกิจไทยตอบรับ 9 เทรนด์นี้ องค์กรจะต้องปรับตัวอย่างน้อย 4 ด้าน

เทรนด์สำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อรูปแบบทางธุรกิจและเทคโนโลยี

ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์

ปี 2563 เป็นปีแห่งความตื่นตระหนกและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เป็นปีที่พลิกโฉมวิธีการทำงาน และวิธีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อรองรับความปกติใหม่ (new normal) ที่เกิดขึ้น

องค์กรที่ปรับตัวได้เร็วก็สามารถฝ่าวิกฤตและพาตัวเองขึ้นมาอยู่แถวหน้าได้ องค์กรที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน ก็ต้องพยายามเร่งกระบวนการปรับตัวและนำระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อความอยู่รอดของตน

การเร่งความพร้อมทางดิจิทัลจะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อกำหนดรูปแบบทางเทคโนโลยีและธุรกิจในปี 2564 ทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์ได้คาดการณ์เทรนด์สำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อรูปแบบทางธุรกิจและเทคโนโลยีในอีก 12 เดือนข้างหน้า เพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถเตรียมการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

1. กลยุทธ์ที่จะใช้ต้องมีความยืดหยุ่น และสร้างความคล่องตัว เนื่องจากองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนต่างต้องมีการทบทวนปรับปรุงกลยุทธ์บ่อยขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เสมอ อีกทั้งยังต้องรับมือกับการกลับมาเติบโตที่ถูกคาดการณ์ไว้

การที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและทั่วโลกเริ่มมองสิ่งต่างๆ ไปไกลกว่าเรื่องการแพร่ระบาดของ COVID-19 เราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว การกลับเข้าทำงานในสถานที่ทำงานอย่างช้าๆ แต่จะเป็นการฟื้นตัวแบบไม่คงเส้นคงวา ประเทศและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก-ญี่ปุ่น และที่ห่างไกลออกไปมีความเชื่อมโยงถึงกันอย่างเหนียวแน่น

แม้ว่าการฟื้นตัวของประเทศหนึ่งอาจเป็นไปด้วยดี แต่ทั่วโลกจะยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่จนกว่าผู้ที่มีบทบาทสำคัญในระดับนานาชาติจะกลับมายืนได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง

ความท้าทายที่กล่าวข้างต้นจะทำให้การเติบโตที่จะกลับมาเป็นแบบกระจัดกระจาย และเพื่อรับมือกับเรื่องนี้ องค์กรจะต้องมีความคล่องตัวที่ช่วยให้สามารถปรับกลยุทธ์ และการใช้จ่ายต่างๆ ขององค์กรได้ถี่ขึ้น (เช่นเป็นรายไตรมาส) เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ในระดับมหภาคได้

ความต้องการในการใช้ไอทีแบบเดิมที่ใช้เงินลงทุนมากจะแทนที่ด้วยความคล่องตัวของระบบการผลิตและส่งสินค้าหรือบริการสู่ท้องตลาดได้ทันเวลาและในจำนวนที่ต้องการพอดี (just-in-time: JIT)

วิธีการของเทคโนโลยีแบบดั้งเดิมไม่สามารถทำให้เกิดความคล่องตัวในลักษณะนี้ได้ องค์กรขนาดใหญ่และภาครัฐจึงใช้ รูปแบบการสมัครสมาชิก (subscription models) มากกว่าที่จะทำสัญญาระยะยาวผูกมัดกับผู้ขายเทคโนโลยี

ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถปรับเปลี่ยน และสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้แม้เมื่อต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน รูปแบบการลงทุนไอทีที่ชำระตามการใช้งาน (pay-as-you-grow) ซึ่งส่งเสริมกลยุทธ์ fail fast (ล้มเร็ว ลุกไว) จะสร้างความสมดุลให้กับการสร้างนวัตกรรมที่จำเป็นกับความจำเป็นในการลดปัจจัยเสี่ยง

2. การนำพาองค์กรสู่ดิจิทัลไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการฝ่ายสารสนเทศ CIO เพียงผู้เดียว แต่เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของผู้บริหารทุกฝ่าย

ไม่ว่าประเทศหรือองค์กรใดจะเคยล้าหลังแค่ไหนก่อนเกิด COVID-19 ก็ตาม ประเทศและองค์กรเหล่านั้นจำเป็นต้องผลักดันการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของตนเองในอีก 12 เดือนข้างหน้าเหมือนกัน

องค์กรทุกแห่งจะทบทวนรูปแบบการทำงานใหม่ไม่ว่าเมื่อก่อนเราเคยทำสิ่งต่างๆ มาอย่างไร แต่สภาพแวดล้อมของเราและความคาดหวังของผู้คนได้เปลี่ยนไปแล้วและเพื่อให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ แม้แต่องค์กรที่มีความอ่อนไหวง่ายที่สุดก็จำเป็นต้องมีความคล่องตัว ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นแล้วในประเทศญี่ปุ่นที่ได้ก้าวไกลไปถึงระดับที่มีคำสั่งให้เพิ่มการทำ digitization ในหน่วยงานสำคัญของภาครัฐทุกแห่งเพื่อให้ข้อมูลทุกอย่างอยู่ในรูปแบบดิจิทัล

ในประเทศไทย พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันโดยมีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ หรือ Government Data Exchange (GDX) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ

ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำ digitization เช่น เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ประกาศยกเลิกการใช้สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคลในรูปแบบกระดาษ เปลี่ยนมาใช้ข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

และเมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แถลงความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกันผลักดันการพัฒนาระบบการตรวจสอบการใช้เงินแผ่นดิน รวมถึงการนำส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบจากกระดาษสู่ดิจิทัลภายใต้ธีม ปี 64 ถึงทีบอกลา “กระดาษ” เป็นต้น

ก่อนหน้านี้การทำ digitization เป็นงานสำคัญอันดับต้นของ CIO แต่ไม่ได้รับความสนใจในระดับเดียวกันจาก CEO หรือผู้บริหารฝ่ายอื่นๆการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และในที่สุดแล้ว พลังของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นก็ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนของธุรกิจ และจะยังคงเป็นหนึ่งในความสำคัญสูงสุดตลอดปี 2564 ซึ่งความสามารถทางดิจิทัลในระดับที่เหมาะสมจะยังคงความสำคัญต่อความคล่องตัวและความอยู่รอดของธุรกิจ

ดังนั้น CIO จะมีบทบาทโดดเด่นมากขึ้นในการตัดสินใจและความเป็นผู้นำทางธุรกิจ เนื่องจากการลงทุนด้านเทคโนโลยีของ CIO ได้รับการพิสูจน์อย่างชัดแจ้งแล้วว่ามีคุณค่ามากการปรับเปลี่ยนระบบไอทีจากการเป็นจุดรวมของค่าใช้จ่ายให้กลายเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจจะเกิดเร็วขึ้นองค์กรธุรกิจทุกแห่งในปัจจุบันเป็นธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเรื่องปกติไปแล้ว โดยที่องค์กรอาจจะยังไม่รู้ตัว

3. ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะถูกหยิบยกมาถกกันอีกครั้ง และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญในการหาแนวทางแก้ไขเรื่องนี้

หากไม่มี COVID-19 เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นประเด็นร้อนของโลกในปี 2563 ที่ผ่านมาและหลังจากที่ได้รับการผลักดันให้เป็นวาระระดับโลกในปี 2563 แล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกลับมาเป็นประเด็นสำคัญอีกครั้งในปี 2564

นอกจากเรื่องการเมือง เป็นที่ชัดเจนว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นสำคัญอย่างแท้จริงและเราจำเป็นต้องหาทางออก โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมต่างๆ เช่น แหล่งทรัพยากร การขนส่ง และการเกษตรในขณะที่บริษัทต่างๆ ยังคงจัดทำและเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล

บริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นที่ต้องคำนึงถึงมุมมองด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย

ตัวอย่าง ธุรกิจที่มีการกระจายตัวไปในพื้นที่ต่างๆ จะต้องการความยืดหยุ่นในการทำงานเพิ่มขึ้น เหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น จะกระทบต่อระบบซัพพลายเชน และโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยง

เทคโนโลยีสามารถช่วยให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพเมื่อต้องเผชิญกับความกังวลที่กล่าวมา โซลูชันใหม่ๆ เช่น เอดจ์คอมพิวติ้ง และ IoT จะมีบทบาทสำคัญในส่วนนี้ เช่น การนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร การติดตามการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนในสถานการณ์จริงการปรับแต่งให้เหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดการปล่อยมลพิษ การบริหารจัดการสายการผลิตได้ดีขึ้น เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็วๆ นี้ จะเป็นการนำอเมริกากลับเข้ามาเป็นพันธมิตรและเป็นแรงผลักดันสำคัญในการจัดการกับสภาพภูมิอากาศที่มาพร้อมเสียงตอบรับจากทั่วโลก

4. เมื่อความตระหนักในประโยชน์ของคลาวด์และการนำไปใช้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง CIO จะยืนหยัดใช้กลยุทธไฮบริดและมัลติ-คลาวด์

บริษัทหลายแห่งในเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นที่ต้องการมุ่งสู่คลาวด์เป็นรายแรกๆ กำลังจับคู่ทำงานร่วมกับบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตระหนักมาหลายปีแล้วว่าแอปพลิเคชันหลายๆตัวที่มีความสำคัญมากต่อการดำเนินธุรกิจไม่เหมาะที่จะทำงานอยู่บนพับลิคคลาวด์

บริษัทต่างๆ ต้องการความสามารถเสมือนคลาวด์ (cloud-like) แต่จำเป็นต้องมีทางเลือกและความยืดหยุ่นไม่มีบริษัทใดต้องการจะล็อกตัวเองไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ดังนั้น CIO ทั้งหลายจะเริ่มยืนยันให้ใช้กลยุทธ์ไฮบริดและมัลติ-คลาวด์ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ยืนกรานให้มีการรับประกันว่าจะสามารถเคลื่อนย้ายแอปพลิเคชันได้

เราได้เห็นองค์กรจำนวนมากทั่วโลกเริ่มปรับแอปพลิเคชันของตนให้ทันสมัยและเปลี่ยนไปใช้ กลยุทธ์ cloud firstและมักจะเจอทางตันเมื่อพวกเขาพบว่าแอปพลิเคชันหลัก ไม่สามารถโยกย้ายหรือปรับเปลี่ยนเป็นโมเดลที่ใช้กับคลาวด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรในภายหลังกลยุทธ์ไฮบริดและมัลติ-คลาวด์เป็นสิ่งจำเป็นที่จะใช้เพื่อสร้างสมดุลให้กับความคล่องตัวของคลาวด์ และการประหยัดค่าใช้จ่ายที่มาพร้อมกับสภาพที่เป็นจริงของการดำเนินงานอย่างยั่งยืน

สอดคล้องกับผลสำรวจ Nutanix Enterprise Cloud Index 2020ผลสำรวจในส่วนของประเทศไทย ที่ระบุว่า 76% ของผู้ตอบแบบสำรวจไทยเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าการใช้ไฮบริดคลาวด์ ซึ่งคือการผสมผสานกันของการใช้พับลิคและไพรเวทคลาวด์/ดาต้าเซ็นเตอร์เป็นรูปแบบการใช้งานที่เหมาะสม

และ 67% ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่าในอีกห้าปีนับจากนี้จะใช้ไฮบริดคลาวด์เท่านั้นผู้ตอบแบบสอบถาม 82% ระบุว่า COVID-19 ทำให้มีการใช้ไอทีในเชิงกลยุทธ์มากขึ้น โดย 68% เพิ่มการลงทุนในพับลิคคลาวด์ (เทียบกับผลสำรวจทั่วโลกที่ 47%) และ 56% เพิ่มการลงทุนในไพรเวทคลาวด์ (เทียบกับผลสำรวจทั่วโลกที่ 37%)

ทั้งนี้ข้อมูลจาก The Cloud Readiness Index (CRI) 2020 โดย Asia Cloud Computing Association (ACCA) ระบุความพร้อมการใช้คลาวด์ของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 9

นอกจากนี้กลยุทธ์ไฮบริดและมัลติ-คลาวด์ยังช่วยให้ธุรกิจมีความคล่องตัว สามารถปรับแนวทางการทำงานได้แบบฉับไว ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการมองล่วงหน้าไปในอนาคต

องค์กรต่างๆ จะเรียนรู้ในการใช้มุมมองระยะยาวและหลีกเลี่ยงที่จะถูกล็อกอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อาจใช้ไม่ได้ผลในอีก 3-6 เดือนต่อไป หากอยู่ๆ โลกก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างกระทันหันจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน

หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้นในปี 2563 ที่องค์กรควรจะนำไปปรับใช้กับกลยุทธ์ปี 2564 สิ่งนั้นคือ: การเปลี่ยนแปลงทั้งมหภาคและจุลภาคเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และทวีความซับซ้อน ยุ่งเหยิงมากขึ้น ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวต้องเป็นแกนหลักของแนวคิดทางธุรกิจ

เทคโนโลยีดิจิทัลชี้ชะตาธุรกิจปี 2564 ใครจะอยู่ ใครจะไป

เกลนน์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ประจำภาคพื้นยุโรปของฟูจิตสึ

ข้อมูลคาดการณ์สำหรับปี 2564 จาก เกลนน์ ฟิตซ์เจอรัลด์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ประจำภาคพื้นยุโรปของฟูจิตสึความเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นในช่วงปี 2563 จนไม่สามารถอธิบายได้หมด แต่ที่สำคัญก็คือ หลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนไปจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2564

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563

การซื้อสินค้าและบริการบนโลกออนไลน์

การซื้อสินค้าออนไลน์ และบริการธนาคารออนไลน์ ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แน่นอนว่านี่อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้ใช้ที่คุ้นเคยกับระบบดิจิทัลและได้เริ่มซื้อสินค้าทางออนไลน์ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990

แต่การแพร่ระบาดทั่วโลกของ COVID-19 ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเริ่มต้นใช้บริการธนาคารและสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ ในประเทศที่มีการใช้มาตรการล็อคดาวน์

ราว 70% ของลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าในห้างเปลี่ยนไปใช้ระบบออนไลน์ และหลายๆ คนก็ยังคงมีพฤติกรรมเช่นนี้ต่อไปหลังจากที่การแพร่ระบาดสิ้นสุดลง ส่งผลให้ผู้ค้าปลีกออนไลน์เดินหน้าเสริมทัพกันอย่างจริงจังในช่วงปี 2563 เพราะความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้นตามไปด้วย คำพูดที่ว่า คุณอยู่ห่างจากคู่แข่งเพียงแค่หนึ่งคลิก ได้กลายเป็นแรงจูงใจและภัยคุกคามสำหรับหลายๆ ธุรกิจ

การปฏิรูปบริการภาครัฐและการศึกษาเริ่มต้นขึ้นแล้ว

ในหลายๆ ประเทศ การแพร่ระบาดส่งผลให้ภาครัฐดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่ดิจิทัล เพราะประชาชนไม่สามารถเดินทางไปขอรับบริการที่หน่วยงานได้โดยตรง จึงจำเป็นต้องอาศัยช่องทางออนไลน์ แน่นอนว่ายังต้องมีการพัฒนาอีกมาก แต่อย่างน้อยก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

และในทำนองเดียวกัน สถานศึกษาหลายแห่งก็จำเป็นต้องเริ่มปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลเช่นกัน โดยในหลายๆ กรณี เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นใช้ระบบ Video Conferencing และแท็บเล็ตเท่านั้น ซึ่งการพัฒนาในส่วนนี้ยังมีหนทางอีกยาวไกล และขณะเดียวกันการศึกษาออนไลน์จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งมีการถกเถียงกันเรื่องนี้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

ปฏิรูปซัพพลายเชนในธุรกิจอาหาร

ร้านอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดมากที่สุด จำเป็นต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมหลายต่อหลายครั้ง เช่น การเริ่มใช้ระบบสั่งอาหารผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกค้าส่งต่อใบปลิวเมนูสำหรับการสั่งออเดอร์ทางดิจิทัลและการจัดส่งอาหาร

ผู้ชนะในปี 2563 ได้แก่ บริษัทที่สามารถเสริมสร้างหรือใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานไอที เราเห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่บริษัทโลจิสติกส์ที่ปรับปรุงบริการขนส่งสินค้า ไปจนถึงแพทย์ที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยผ่านทางวิดีโอ ในหลายๆ กรณี การแพร่ระบาดก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงต่อระบบเก่า ซึ่งจำเป็นที่จะต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอด

แนวโน้มที่ว่านี้จะมีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้น ในปี 2564

เกิดช่องว่างทางดิจิทัล

ประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ดิจิทัลจะสูญเสียโอกาสอย่างมาก กลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม เช่น ผู้สูงอายุและคนยากจน จะกลายเป็นผู้สูญเสียประโยชน์ เมื่อดิจิทัลกลายเป็นช่องทางหลักสำหรับการให้บริการ ใครก็ตามที่ไม่สามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนด้วยตนเองหรือไม่รู้วิธีใช้ จะเสียเปรียบเพิ่มมากขึ้นในช่วงปี 2564 และจะส่งผลให้เกิดช่องว่างทางสังคมเพิ่มมากขึ้น โดยคนที่ยังคงติดค้างอยู่ในโลกอนาล็อกจะกลายเป็นผู้แพ้ในท้ายที่สุด

ระบบอัตโนมัติเริ่มส่งผลกระทบ

พนักงานออฟฟิศที่ทำงานประจำซ้ำๆ จะเสี่ยงต่อการตกงานเนื่องจากการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิทัล นับเป็นครั้งแรกที่พนักงานออฟฟิศจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยจะต้องกลายเป็นคนตกงานและไม่สามารถหางานใหม่ได้

สำหรับงานทั่วไปอย่างเช่น การประเมินความเสี่ยงด้านประกันภัย คอลล์เซ็นเตอร์ และศูนย์บริการ ระบบอัตโนมัติกำลังได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนของเทคโนโลยี AI และ Machine Learning

กล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่บุคลากรที่ทำงานเหล่านี้ อนาคตสำหรับพนักงานกลุ่มนี้ค่อนข้างจะมืดมน เพราะหลายๆ คนไม่เต็มใจที่จะเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนทักษะ และจะว่าไปแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะฝึกอบรมพนักงานภายในเวลาไม่กี่เดือนเพื่อให้เปลี่ยนไปทำงานอื่นแทนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

เพราะจะต้องใช้เวลาหลายปีในการสั่งสมประสบการณ์สำหรับการเข้าทำงานในตำแหน่งที่ให้ค่าตอบแทนสูง สุดท้ายแล้ว คนที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลก็จะถูกปล่อยทิ้งไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รูปแบบการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม

ไม่มีทางหวนกลับไปสู่การทำงานรูปแบบเดิมที่พนักงานจำนวนมากทำงานร่วมกันในออฟฟิศ ถ้าคุณเคยทำงานในออฟฟิศและในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา คุณต้องทำงานจากที่บ้าน ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องยอมรับการทำงานในลักษณะนี้เป็นการถาวรในระยะยาว

หลายๆ บริษัท รวมถึงฟูจิตสึ ได้สำรวจความต้องการเกี่ยวกับพื้นที่สำนักงานในหลากหลายแง่มุม และปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ซึ่งนั่นหมายความว่าต่อจากนี้ไป บุคลากรที่มีความรู้ทุกคนจะต้องมองหาพื้นที่ทำงานที่เงียบสงบ ไม่ถูกรบกวน มีแบนด์วิธที่เพียงพอเพื่อรองรับการประชุมผ่านวิดีโอและการใช้เครื่องมือสำหรับการทำงานร่วมกันผ่านทางออนไลน์ได้อย่างราบรื่น

เนื่องจากตอนนี้ไม่มีโต๊ะทำงานประจำในออฟฟิศอีกต่อไป ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องวางแผนและจัดเตรียมสถานที่สำหรับการทำงานจากที่บ้านในลักษณะถาวรมากขึ้น เพราะการนั่งนอนเอกเขนกที่ขอบเตียง บนโซฟา หรือนั่งทำงานที่โต๊ะกินข้าวไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืน

ปัจจัยตัวใหม่ที่ส่งผลต่อราคาที่อยู่อาศัย

ความเร็วอินเทอร์เน็ตจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการกำหนดราคาบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบท ในอดีตความพร้อมของบริการขนส่งสาธารณะคือตัวกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ชานเมือง แต่เนื่องจากปรากฏการณ์คนหนีเมือง (De-urbanization) เริ่มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นปัจจัยตัวใหม่ที่ส่งผลต่อราคาบ้านก็คือ แบนด์วิดธ์สำหรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ด้วยเหตุนี้ ชุมชนในชนบทที่ลงทุนขยายแบนด์วิดธ์จะมีมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างสอดคล้องกัน

ความเปลี่ยนแปลงของเมือง

อาคารในพื้นที่ใจกลางเมืองใหญ่จะพบเจอการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกระลอกหนึ่ง ปรากฏการณ์พื้นที่สำนักงานมีผู้เช่าลดลงกว่า 20% เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เราได้พบเห็นการโยกย้ายถิ่นฐานสู่พื้นที่ชานเมืองกันอย่างกว้างขวางในช่วงปี 2563 เพราะคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่เริ่มตระหนักว่าตนเองไม่ได้รับประโยชน์มากนักจากการใช้ชีวิตในเมือง

ก็แล้วทำไมจะต้องทนลำบากอาศัยอยู่ในคอนโดสูงที่แออัดยัดเยียด ในเมื่อคุณไม่จำเป็นต้องหาทำเลใกล้ออฟฟิศอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ อาคารสำนักงานในเมืองอาจจะว่างเปล่ามากขึ้น อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่สำนักงานให้กลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัย

CAPEX to OPEX

การเปลี่ยนย้ายจากค่าใช้จ่ายด้านทุนไปสู่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจะเกิดขึ้นรวดเร็วมากขึ้น คุณจะจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อซื้อหรือเช่าพื้นที่สำนักงานราคาแพงใจกลางเมืองไปทำไม ในเมื่อคุณสามารถเช่าโต๊ะหรือพื้นที่ทำงานในแบบออนดีมานด์เพื่อให้สอดรับกับความต้องการที่หลากหลายของคุณ

กรณีเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับเทคโนโลยีเช่นกัน กล่าวคือ บริษัทต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้เทคโนโลยี จากเดิมที่เป็นการซื่ออุปกรณ์ที่มีอายุการใช้งาน 3-5 ปี ก็หันไปใช้รูปแบบการคิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริง

ด้วยเหตุนี้ คุณจึงควรเตรียมพร้อมรับมือกับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของดาต้าเซ็นเตอร์ที่ติดตั้งในองค์กร ซึ่งมีการปรับใช้บริการคลาวด์กันอย่างรวดเร็วมากขึ้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ ผู้ที่ผ่านปี 2563 มาได้อาจมองออกแล้วว่า การต่อสู้เพื่อไปสู่ความสำเร็จจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรในปี 2564 องค์กรที่จัดการกับข้อมูลและเทคโนโลยีอย่างรอบด้านและครบวงจรจะมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งอย่างมาก

ขณะที่เทคโนโลยีกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจ แนวทางที่แยกเป็นส่วนๆ สำหรับการพัฒนาและจัดการโครงสร้างพื้นฐาน บริการ และแอปพลิเคชัน จะกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งสำหรับองค์กรในท้ายที่สุด

องค์กรที่จะประสบความสำเร็จในปี 2564 ได้แก่บริษัทที่ปรับใช้แนวทางที่มุ่งเน้นโซลูชันและฟังก์ชันเป็นหลัก โดยครอบคลุมทีมงานและฐานความรู้จำนวนมาก และอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรชั้นนำที่เชื่อถือได้ เพื่อเชื่อมโยงการดำเนินงานในส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน และก่อให้เกิดภาพรวมที่สมบูรณ์แบบ

ปี 2564 คือช่วงเวลาที่คุณจะต้องระดมกำลังจากข้อมูลและทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยีทั้งหมดที่คุณมีอยู่และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ธุรกิจไทยปรับ 4 ด้านรับมือ 9 เทรนด์แรงปี 64

ถาบันไอเอ็มซีแนะธุรกิจไทยต้องปรับตัวอย่างน้อย 4 ด้านเพื่อรับมือ 9 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงปี 64 ย้ำองค์กรต้องปรับตัวทั้งเรื่องรูปแบบการทำงาน เทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญญาประดิษฐ์ และการเพิ่มความยืดหยุ่นให้บริการเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ยืนยันสังคมไทยหนีไม่พ้นแม้หลายบริษัทเริ่มเรียกพนักงานเข้าสำนักงาน กระตุ้นองค์กรพัฒนาคนให้ทันผ่านหลักสูตรใหม่ของไอเอ็มซีที่ปรับเปลี่ยนตามการวิเคราะห์ของการ์ทเนอร์ทุกปี

รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี

รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute)กล่าวถึงแนวโน้มดิจิทัลปี 2564 ว่าการ์ทเนอร์ได้สรุปทิศทางปี 64 โดยมองสังคมโลกที่เปลี่ยนไปและการเกิดขึ้นของโควิด-19 ทั้งหมดมีผลทำให้คนทั่วโลกต้องเปลี่ยนวิถีการทำงาน การใช้ชีวิต การเว้นระยะห่าง และอีกหลายพฤติกรรม

“การ์ทเนอร์แบ่งเทรนด์เทคโนโลยีปี 2564 ออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้คนยังเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง (People centricity) เพราะคนยังคงเป็นศูนย์กลางของธุรกิจที่จำเป็นจะต้องทำให้กระบวนการทำงานต่างๆถูกแปลงเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

กลุ่มที่ 2 คือความเสรีที่สถานที่ทุกแห่งสามารถทำงานหรือเรียนได้ (Location independence) สอดรับกับรูปแบบการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม และกลุ่มที่ 3 คือธุรกิจต้องปรับและคล่องตัว จะต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามารองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น (Resilient delivery)

ทั้ง 3 ส่วนนี้จะกลายเป็นยุคใหม่ที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ตแห่งพฤติกรรมหรือ Internet of Behaviors ซึ่งธุรกิจต้องเข้าใจลูกค้า”

อินเทอร์เน็ตแห่งพฤติกรรมถือเป็นแนวโน้มแรกที่การ์ทเนอร์ยกให้เป็นดาวเด่นแห่งปีหน้า ขณะที่แนวโน้มที่ 2 ที่ธุรกิจโลกจะมุ่งไปคือการรวบรวมประสบการณ์ที่หลากหลายทั้งจากลูกค้า (customer experience), พนักงาน (employee experience) และผู้ใช้ (user experience)นำมาเพื่อเปลี่ยนแปลงการทำงานให้ได้ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ดีขึ้น โดยจะมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อประมวลผลข้อมูลได้อย่างปลอดภัย กลายเป็นนวโน้มเทคโนโลยีที่ 3

แนวโน้มที่ 4-6 เกี่ยวข้องกับตำแหน่งสถานที่หรือโลเคชัน ได้แก่ เทคโนโลยีคลาวด์แบบกระจาย การปรับรูปแบบของธุรกิจที่จะให้บริการลูกค้าจากที่ใดก็ได้ รวมถึงให้พนักงานทำงานจากที่ใดก็ได้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และการใช้สถาปัตยกรรมแบบกระจาย

แนวโน้มที่ 7-9 โฟกัสที่การปรับตัวของธุรกิจ ได้แก่ การปรับให้บริษัทมีสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เร็ว การใช้วิศวกรรมระบบแบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหากมีช่องทางทำระบบออโตเมชันได้ ธุรกิจก็ควรทำให้กระบวนการทำงานต่างๆเป็นระบบอัตโนมัติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“เพื่อให้ตอบ 9 เทรนด์นี้ ธุรกิจจะต้องทำ 4 ด้าน ได้แก่

ด้านที่หนึ่ง การปรับกลยุทธ์ด้านการวางแผนสถาปัตยกรรมไอทีจากการรวมศูนย์ให้เป็นการกระจาย อาจจะปรับให้ข้อมูลถูกเก็บไว้หลายที่ ทั้งพับลิกคลาวด์หรือที่ใดก็ได้ แต่ต้องทำให้บริการสร้างได้เร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องกระจายเรื่องความปลอดภัย จากที่กระจุกแต่ในบางส่วนขององค์กร ก็จะต้องกระจายให้ครอบคลุมทั่วทุกส่วนขององค์กร”

ด้านที่สองที่องค์กรควรปรับตัวคือเรื่องไอที โดยเฉพาะการทำบิ๊กดาต้า เนื่องจากเทรนด์เทคโนโลยีสำคัญของปีหน้าคือ “อินเทอร์เน็ตแห่งพฤติกรรม” ทำให้ธุรกิจต้องเก็บข้อมูลให้มากที่สุดทั้งในส่วนของระบบ CRM และช่องทางโซเชียล และต้องให้สอดคล้องกับกฎหมาย เพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และสร้างโซลูชันที่ตอบทุกฝ่าย

นอกจากนี้ ทุกองค์กรควรมองไปที่ระบบ AI โดยองค์กรควรลงมือหรือมองแนวทางทำออโตเมชัน รวมถึงเตรียมความพร้อมในส่วนวิศวกร เพื่อปรับให้บริการองค์กรสามารถปรับหรือเพิ่มระบบ AI ให้ฝังอยู่ในบริการ ด้านที่ 3 นี้สอดรับกับด้านที่ 4 ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรควรปรับให้มีการออกแบบแอปหรือบริการให้ทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ตอบความต้องการได้ตลอด

สำหรับหลายธุรกิจไทยที่มีวัฒนธรรมองค์กรประณีประนอม สถาบันไอเอ็มซีมองว่าสังคมไทยมีความผสมผสาน ความเป็นไฮบริดอาจทำให้องค์กรไทยไม่ปรับใช้เทคโนโลยีเต็มที่ แต่ก็ต้องมีเทคโนโลยีไว้ตอบโจทย์ เรียกว่าอย่างไรก็หนีไม่พ้นเพราะวันนี้มีหลายปัจจัยสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่คนไทยเริ่มคุ้นเคยมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้บริการจากทุกที่ ทำให้ระบบงานขององค์กรต้องกระจายตัว

ภาวะนี้ยิ่งเห็นได้ชัดจากสถานการณ์ COVID-19 เพราะองค์กรที่ไม่ได้เตรียมการ จะไม่สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง ดังนั้นทุกธุรกิจจะต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แม้ว่าหลายองค์กรไทยจะเรียกพนักงานให้กลับไปทำงานที่ออฟฟิศแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้ว่าจะต้องกำหนดให้พนักงานหรือลูกค้าเดินทางไปศูนย์บริการเท่านั้น เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มคุ้นเคยกับการรับบริการจากที่ใดก็ได้

“สิ่งสำคัญที่ต้องทำคู่ขนานไปกับการปรับตัว 4 ด้านนี้คือการพัฒนาบุคลากร สิ่งที่ไอเอ็มซีทำคือการกระตุ้นให้องค์กรวางกลยุทธ์ด้านคน เนื่องจากความท้าทายหลักของการปรับตัวไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่อยู่ที่คนในองค์กร COVID-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้คนปรับตัวได้มาก และยิ่งเร่งให้การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลหรือดิจิทัลทรานสฟอร์เมชันเกิดได้เร็วขึ้น

อีกจุดที่ชัดเจนคือโมบายเพย์เมนต์ซึ่งคนไทยคุ้นเคย COVID-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม คนไทยปรับตัวได้เร็วเพราะถูกบังคับ จึงถือเป็นโอกาสดีที่องค์กรต้องปรับวัฒนธรรม ซึ่งหากวิธีคิดเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็จะต้องนำมาใช้ต่อให้เป็นประโยชน์ ต้องผสมและนำเอาหลักคิดใหม่เข้ามาใช้ให้การทำงานเกิดขึ้นได้มีประสิทธิภาพ”

นอกจากนี้เมื่อเร็วๆนี้ทาง World Economic Forum (WEF) ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง The Future of Jobs 2020 ผลการสำรวจมีข้อมูลที่น่าสนใจอยู่หลายด้าน โดยเฉพาะด้านทักษะการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเกิดวิกฤติโควิด

ซึ่งทาง WEF ระบุว่า การล็อกดาวน์และเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการทำงานอย่างมาก และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “Double Disruption”ทำให้ความต้องการตำแหน่งงานใหม่ๆ มีมากขึ้น WEF ได้ระบุตำแหน่งที่จะมี

ความต้องการอย่างมากในหลายด้านซึ่งส่วนใหญ่จะต้องมีทักษะทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Data Analysis and Scientist, AI and Machine Learning Specialists, Big Data Specialists นอกจากนี้ยังมีงานใหม่ๆ อีกหลายด้าน ดังเช่น Customer Success Specialist, Digital Marketing and Strategy Specialist หรือ Digital Transformation Specialists

แม้ว่าคาดการณ์ตัวเลขการจ้างงานที่จะลดลงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีปี 2025 จะลดลงไป 85 ล้านตำแหน่ง แต่ก็จะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้นถึง 97 ล้านตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่าองค์กรต่างๆ ยังให้ความสำคัญกับการหาบุคลากรในการทำงานอยู่ แต่ต้องการคนที่มีความสามารถ และปรับทักษะตามการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

จากการสำรวจพบว่าครึ่งหนึ่งของพนักงานที่มีอยู่จำเป็นต้องการปรับทักษะใหม่ (Re-skill) และคนที่ยังอยู่ในตำแหน่งเดิม 40% ต้องเพิ่มทักษะ (Up-skill) การทำงานของตัวเอง เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของการทำงานในรูปแบบใหม่ ซึ่งมีทักษะทั้งทางด้านการใช้เทคโนโลยี การวิเคราะห์ข้อมูล องค์ความรู้ด้านเอไอ ความคิดเชิงสร้างสรรค์ ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน รวมถึงทักษะความเป็นผู้นำ

“ความท้าทายที่สำคัญที่สุดของการปรับตัวเพื่อรับมือเทรนด์ปี 64 ยังคงอยู่ที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร วิสัยทัศน์ที่ควรมีคือการมองว่าเทคโนโลยีจะเป็นตัวหลักของธุรกิจ โดยต้องเอามาเป็นตัวขับเคลื่อน ใช้เป็นกลยุทธ์นำหน้าและมาก่อนเป็นอันดับต้น เพื่อเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำงานให้ยืดหยุ่นว่าเดิม” รศ.ดร.ธนชาติ กล่าวสรุป