“เนคเทค ประกาศเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ สร้างแพลตฟอร์มระดับชาติ (De Facto Platform) อย่างน้อยปีละ 1 แพลตฟอร์ม เป็นนวัตกรรมจากงานวิจัยขั้นสูง ตอบปัญหาสังคม และให้บริการที่ยั่งยืน
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ให้สัมภาษณ์พิเศษถึง เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ ซึ่งเป็นตัวกำหนดทิศทางการผลักดันการทำงานและสร้างผลงานของเนคเทคฯ ในการดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์ฯ วาระที่ 2
หลังจากมติที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) เป็นวาระที่ 2 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี (พ.ศ.2566 – 2569) นั้น
ล่าสุด ดร.ชัย ได้ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน ถึงพันธกิจในใจที่อยากผลักดันและดำเนินการ ในฐานะผู้อำนวยการเนคเทค วาระที่ 2 พร้อมทิศทางในการผลักดัน และคาดการณ์ส่งมอบผลงานในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยกล่าวว่า “ตลอด 36 ปีเนคเทคฯ ยังคงขับเคลื่อนการทำงานภายใต้วิสัยทัศน์ การเป็นองค์กรชั้นนำในการสร้างฐานรากสำคัญ ด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศขั้นสูงของประเทศ”
เดินหน้ารักษาความน่าเชื่อถือ ชื่อเสียง มาตรฐานงานวิจัย
“ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเนคเทค มีผู้ดำรงตำแหน่งอำนวยการเนคเทคฯ แล้ว 4 ท่าน ซึ่งแต่ละท่านก็ทำงานผลักดันพันธกิจขององค์กรฯ ในสภาพแวดล้อมของสังคม ประเทศ และเทคโนโลยีที่แตกต่างกันออกไป สำหรับในวาระแรก (2562 – 2565) ของการดำรงตำแหน่งของผมนั้น พันธกิจหลัก คือ การทำสร้างฐานรากเทคโนโลยีขั้นสูง”
“โดยได้วางจุดยืนขององค์กรไว้ที่ การเป็นองค์กรผู้สนับสนุทางเทคโนโลยี สร้างการสนับสนุนที่ชัดเจนมากขึ้น ร่วมมือกับเอกชน ผ่านการทำงานในลักษณะ การให้บริการสาธารณะ ที่เน้นช่วยให้เอกชนลดการลงทุนทั้งในรูปแบบ Open Source และ Open Innovation”
“สำหรับในวาะรที่สองนั้น ในอีก 4 ปีข้างหน้า เนคเทคฯ ยังคงต้องเดินหน้ารักษาความน่าเชื่อถือ ชื่อเสียง มาตรฐานงานวิจัย ตลอดจนผลงาน และการเป็นองค์กรผู้สนับสนุทางเทคโนโลยีดับประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประเทศมาก่อน”
“และยึดมั่นใน 4 เสาหลักของการทำงานที่ประกอบด้วย ความเป็นเลิศ การลงมือปฏิบัติจริง ความมุ่งมั่น และคำนึงถึงความยั่งยืน” ผู้อำนวยการ กล่าว
สร้างแพลตฟอร์มระดับชาติ
ดร.ชัย อธิบายว่า “เมื่อพิจารณาถึงวิสัยทัศน์ของเนคเทคฯ ที่ตั้งไว้ถึงการเป็นองค์กรชั้นนําในการสร้างฐานรากสำคัญด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศขั้นสูงของประเทศ และได้กำหนด พันธกิจ ไว้ 3 เรื่องคือ เป็นเครื่องจักรสำคัญในการสร้างฐานรากทางเทคโนโลยีให้ประเทศ, ร่วมกับพันธมิตรผลักดันให้เกิดระบบนิเวศของการใช้เทคโนโลยีที่วิจัยและพัฒนาขึ้น และเตรียมความพร้อมงานวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต”
“โดยในวาระที่สองของการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ได้วางเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ไว้คือ การสร้างแพลตฟอร์มระดับชาติ (De Facto Platform) อย่างน้อยปีละ 1 แพลตฟอร์ม ซึ่งต้องเป็นแพลตฟอร์มที่ เป็นนวัตกรรมจากงานวิจัยขั้นสูง (Innovation) ตอบปัญหาสังคมจนมีผู้ใช้งานจำนวนมาก (Popularity) และมีแนวทางการให้บริการที่ยั่งยืน (Sustainability)” ดร.ชัย กล่าว
“เราตั้งความหวังจาการพัฒนาแพลตฟอร์มว่า ผลลัพธ์ที่ได้จะต้องสามารถ แก้ปัญหาของประเทศโดยใช้เทคโนโลยีให้ตรงจุด ช่วยส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่และการลงทุน สามารถลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และต้องเป็นเครื่องมือพัฒนาคนไปสู่ประเทศไทย 4.0”
Highlight Projects พร้อมทิศทางในการผลักดัน ผลงานในอนาคตแพลตฟอร์มระดับชาติ
ในการการสร้างแพลตฟอร์มระดับชาตินั้นเนคเทคฯ ได้กำหนดกรอบทิศทางการทำงานไว้ 8 ทิศทางคือ Strategic Big Data, Precision Farming, Smart Factory, Strategic Sensor Process and Device, AI Service Platform, Smart City, Innovative Education และ Digital Wellness โดยมีโครงการสำคัญที่มีโอกาสจะก้าวไปสู่แพลตฟอร์มระดับชาติด้วยกัน 5 โครงการ ประกอบด้วย
AI for Thai: แพลตฟอร์มบริการ AI สัญชาติไทย
เป็นแพลตฟอร์มสาธารณะให้บริการ AI ประมวลผลข้อความ ภาพและเสียงพูดภาษาไทย ที่ปัจจุบันมี AI ให้บริการ ราว 50 บริการ และกำลังจะเพิ่มบริการมากขึ้น อาทิ ระบบสังเคราะห์ภาพและเสียง (Avatar Synthesis) ระบบสรุปความเนื้อหาข่าว (Thai News Summarization) ระบบแปลภาษา ไทย-พม่า (Thai-Myanmar Language Translation) และระบบแยกแยะเสียงผู้พูด (Speaker Diarization)
โดยวางเป้าหมายที่จะผลักดันให้กลายเป็นแพลตฟอร์มระดับชาติได้ภายในปี 2570 ที่จะต้องกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐาน หลักภายใต้แผนปฏิบัติการ AI แห่งชาติ ที่จะเข้ามาช่วยในการพัฒนาบุคลากร AI และ การพัฒนาผู้ประกอบการ AI รวมถึงวางเป้าหมาย การเพิ่มบริการ AI 2 เท่า และเพิ่มจำนวนการใช้งาน 5 เท่า
TPMAP: ระบบข้อมูลเพื่อการพัฒนาคนแบบชี้เป้า
ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) คือ ระบบการวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้าของประชาชน เพื่อสร้างนโยบายแก้ปัญหาความยากจน ที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีการเก็บข้อมูลการลงทะเบียนสวัสดิการคนจนและอื่นๆ ราว 48.6 ล้านคน
โดยจะพัฒนาให้ TPMAP เป็นแพลตฟอร์มระดับชาติ ที่หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้อย่างแพร่หลาย อาทิ ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนฯ (ศจพ.) ทั่วประเทศใช้ TPMAP เป็นฐานกลางในการติดตามแก้ไขปัญญาความยากจน และสมารถจัดการธรรมาภิบาลข้อมูลเพื่อเปิดให้ทุกกระทรวงเข้าถึงและใช้งาน
KidDiary: ระบบข้อมูลสุขภาพและโภชนาการเด็กไทย
ระบบแนะนําสำหรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ ที่สามารถ คำนวณคุณค่าสารอาหาร คำนวณปริมาณวัตถุดิบ ประมาณการค่าใช้จ่ายล่วงหน้า และบันทึกค่าใช้จ่ายจริง โดยมีผู้ใช้งาน 58,046 โรงเรียนหรือหน่วยงาน
โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้ KidDiary เป็นแพลตฟอร์มระดับชาติ ที่ขยายกรอบแนวคิดสู่ระบบ Farm-to-School มีการผลักดันธุรกิจการจัดการโรงอาหาร ด้วยระบบแนะนำสำรับอาหารสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ (TSL for Catering)
การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพเบื้องต้น กับข้อมูลโภชนาการ เพื่อติดตามสุขภาวะเด็กไทย 30,000 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้ในการติดตามสุขภาวะเด็กในปี 2566
Traffy Fondue: ระบบบริหารจัดการเรื่องร้องเรียน
เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางระหว่างประชาชนกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อรับและบริหารจัดการเรื่องร้องเรียนผ่านแอปพลิเคชัน Line ด้วยระบบแชตบอท ปัจจุบันมีหน่วยงานในระบบจำนวน 2,515 หน่วยงาน ผู้ใช้งาน 140,848 คน รับเรื่องร้องเรียนแล้ว 90,660 เรื่อง ได้รับการแก้ไขแล้ว 41,122 เรื่อง
Traffy Fondue ถูกวางเป้าหมายให้เป็นเครื่องมือเพื่อการบริหารภาครัฐสมัยใหม่ส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งต้องผสานความร่วมมือกับสำนักนายกรัฐมนตรี และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขยายให้ อปท. ทั่วประเทศใช้งาน
สามารถเปิดเป็นแพลตฟอร์มให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจใช้งานได้ ใช้เทคโนโลยีที่ชาญฉลาดมากขึ้น อาทิ เทคโนโลยี Big Data และ AI ภายในเนคเทค และวางเป้าหมายที่จะแยกออกมาตั้งบริษัท (Spin off) เพื่อความคล่องตัวในการให้บริการ และเร่งการขยายผล
Digital Farming: เทคโนโลยีเพื่อเกษตรยุคดิจิทัล
โครงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเกษตร ซึ่งประกอบด้วย THAGRI เป็นแพลตฟอร์มข้อมูลเปิดขนาดใหญ่ด้านการเกษตรของไทย และการพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์อัจฉริยะทางการเกษตร (Smart Agriculture Devices) ที่ประกอบด้วย
Aqua-IoT IoT เพื่อติดตามสภาพบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ HandySense IoT เพื่อเกษตรแม่นยําในราคาย่อมเยา และ WiMaRC IoT เพื่อเกษตรแม่นยําแบบที่ครบวงจรมากขึ้น
โดยที่วางเป้าหมายไว้ที่การพัฒนาทั้งความสามารถของตัวอุปกรณ์อัจฉริยะ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแพลตฟอร์ม THAGRI ที่จะขยายผลเพิ่มความสามารถของแพลตฟอร์มและเชื่อมโยงข้อมูลเปิดขนาดใหญ่ด้านการเกษตรของไทยกับหน่วยงานภาครัฐอีกหลายหน่วยงาน
“ในการเข้ารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) วาระที่สองนี้ ในบริบทของสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป บทบาทของเนคเทคฯ เอกก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามวาระ ที่ต้องทำงานในเชิงนโยบายควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานวิจัย”
“ถึงแม้ยังคงพบกับปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละวาระ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหลัง COVID-19 ปัญหาการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่พบอย่างต่อเนื่อง การบริหารบุคลากรด้วยแนวคิดสมัยใหม่ รวมถึงปัญหาด้าน เงินสนับสนุนงานวิจัยจากเอกชนที่มีแนวโน้มลดลง”
“แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถของนักวิจัย ความมุ่งมั่นของฝ่ายบริหาร การทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานรัฐด้วยกันและเอกชน จะทำให้เป้าหมายที่ตั้งไว้มีโอกาสประสบความสำเร็จ” ดร. ชัย กล่าวสรุป