Friday, March 29, 2024
AIIoTNEWS

เนคเทค เสริมทักษะให้เด็กอาชีวะด้าน IIoT, Data Analytics พร้อมป้อนภาคอุตสาหกรรม

เนคเทค และพันธมิตร ร่วมมือสร้างทักษะ Industrial Internet of Things (IIoT) ให้เด็กอาชีวะ จัดแข่ง IoT Hackathon Gen R พร้อมส่งต่ออุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เนคเทค สวทช.

โดยการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดการแข่งขัน IoT Hackathon 2022 Gen R Data Analytics for Factory 4.0 เพื่อส่งเสริมทักษะ ด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) ให้แก่นักเรียนอาชีวศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

พัฒนากำลังคนระดับปฏิบัติการ เตรียมป้อนภาคอุตสาหกรรม
ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการ EECi

ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการ EECi กล่าวว่า การจัดการแข่งขันในครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) ให้แก่บุคลากรด้านอาชีวศึกษา มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคน ด้านอุตสาหกรรม เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมไทย และเป็นการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทยในภาพรวม

ด้วยการนำงานวิจัยพัฒนาไปสู่การลงทุน ในรูปแบบการพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ประกอบด้วย โรงงานต้นแบบ สนามทดสอบ และการเตรียมพร้อมด้านกำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่านการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นให้สอดคล้องกับความต้องการการยกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น

เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ต้องนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงาน ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดหวังว่า จะสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างอาชีพสร้างประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจและยกระดับอุตสาหกรรมไทยด้วยกำลังคนที่มีคุณภาพพร้อม

ปีนี้แข่งขันด้วยธีม Data Analytics for Factory4.0
ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช.

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่าการแข่งขัน IoT Hackathon Gen R ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เป็นการแข่งขันที่ส่งเสริมทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) สำหรับเด็กอาชีวศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. หลังจากจัดครั้งแรกเมื่อต้นปี 2564 ซึ่งมีนักเรียนผ่านการอบรมของโครงการฯ กว่า 100 คน โดยมี 38 คนผ่านเกณฑ์การคัดเลือกตามเงื่อนไขและเข้าร่วมแข่งขัน

ซึ่งหลังจบการแข่งขัน ทางโครงการฯ ได้สนับสนุนให้ได้ฝึกงานยังสถานประกอบการต่างๆ และจากการติดตามผล มากกว่า 50% ได้รับการตอบรับที่ดี และได้รับเข้าทำงานยังโรงงานต่อ ซึ่งถือเป็นที่น่าพอใจ

ในปีนี้เนคเทค สวทช. ร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วน สนับสนุนการดำเนินโครงการทั้งด้านการให้ทุนสนับสนุนจาก EEC และความเอื้อเฟื้อในการจัดกิจกรรมจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประสานความร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา 16 แห่ง สถานประกอบการในเขตพื้นที่ EEC ดำเนินงานในโครงการ ฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างทักษะเตรียมกำลังคนรองรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม

โดยได้พัฒนาหลักสูตรร่วมกับวิทยาลัย และถ่ายทอดองค์ความรู้ ภาคปฏิบัติที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี Industrial IoT ให้ครูและนักเรียนของสถาบันอาชีวศึกษาในเขตพื้นที่ EEC ดำเนินการจัดอบรมหลักสูตร Internet of Things ทั้งแบบ Online และ Onsite ให้อาจารย์ที่สนใจ เพื่อมาช่วยสอนในโครงการฯ และได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรในโครงการฯ ให้สอดรับการความต้องการจากสถานประกอบการ

โดยเนคเทค สวทช. ได้ร่วมกับอาจารย์ส่วนหนึ่งจากวิทยาลัยที่เคยเข้ารับการอบรมในปีที่แล้ว ปรับปรุงหลักสูตรการอบรม IoT และ IIoT ให้มีความเข้มข้นขึ้นตอบรับความต้องการจากสถานประกอบการที่รับนักศึกษารุ่นที่แล้วเข้าไปฝึกงาน เช่น การบรรจุเนื้อหาการประยุกต์ที่ตอบโจทย์กับภาคอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ EEC นี้ เช่น Maintenance, Process Line Monitoring, Quality Control

อีกทั้งยังเสริมเรื่องการใช้งาน API เพื่อไม่ให้นักศึกษาได้รับเฉพาะทักษะ Technician เท่านั้น แต่ยังได้ทักษะของ Developer ติดตัวไปด้วย เพื่อเข้าไปช่วยในการเชื่อมระหว่าง OT และ IT ของโรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นของการพัฒนาเป็น factory 4.0 พร้อมต่อการแข่งขัน IoT Hackathon 2022 Gen R ในธีม Data Analytics for Factory 4.0 กิจกรรมวัดผลและเตรียมความพร้อมครั้งสุดท้ายก่อนแยกย้ายกันไปฝึกงานจริง

คาดหวังสเกลอัพการแข่งขันที่ใหญ่ขึ้น

ดร.ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดงานในลักษณะนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคการศึกษา ที่จะต่อยอดไปสู่บุคลากรในระดับปฏิบัติงาน ที่ตรงกับดีมานด์หรือความต้องการจริงภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาคตะวันออก ซึ่งจากความสำเร็จของการจัดงานในครั้งแรก และการจัดงานครั้งที่สองนี้ทำให้เห็นถึงโอกาสที่จะขยายขนาดของการจัดการให้ใหญ่ขึ้น มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันให้เพิ่มขึ้นในปีถัดไป”

“ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การแข่งขันใหญ่ขึ้นคือ ประการแรก งบประมาณในการจัดการแข่งขันที่ต้องใช้มากขึ้น ประการที่สอง การเข้าร่วมจากภาคเอกชนมากขึ้น ซึ่งจะสามารถสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในอุตสาหกรรม นำเข้ามาเป็นโจทย์ให้กับการแข่งขัน และประการที่สามคือ จำนวนเทรนเนอร์ หรือพี่เลี้ยง ที่เข้าใจปัญหาและความต้องการจากโรงงานจริง ต้องมีมากขึ้น”

การจัดกิจกรรมการแข่งขัน IoT Hackathon 2022 Gen R Data Analytics for Factory 4.0 เปิดรับสมัครนักเรียนจากสถาบันอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ วุฒิการศึกษา (ปวช.) และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในเขตพื้นที่ EEC ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ซึ่งมีนักเรียนจำนวน 103 คน จาก 8 วิทยาลัยเข้าร่วม และเข้าอบรมพัฒนาทักษะด้าน IIoT แบบเข้มข้น โดยใช้ชุดอบรม I – Kit จัดในรูปแบบ Online เป็นระยะเวลา 8 วัน

หลังจากนั้น ได้มีการจัดสอบคัดเลือกนักเรียนเพียง 45 คน ให้เข้ารับการอบรมต่อเนื่อง อีก 5 วัน เพื่อเรียนรู้ทักษะภาคปฏิบัติที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีโดยใช้ชุดอบรม I – Starter Kit และจัดวัดผลผู้เรียนเกี่ยวกับเนื้อหาที่จัดอบรม ผ่านการแข่งขัน IoT Hackathon 2022 Gen R Data Analytics for Factory 4.0 ในหัวข้อ Data Analytics for Factory 4.0 ระหว่างวันที่ 5-7 เมษายน 2565

โดยผู้แข่งขันจะได้ตัวอย่างข้อมูลจริงจากโรงงาน นำมาวิเคราะห์และสร้าง Dashboard และสามารถเลือกใช้แพลตฟอร์มใดๆ ตามความเหมาะสมที่สามารถนำข้อมูลมาสร้างรายงาน เพื่อชิงรางวัลรวม 70,000 บาท แบ่งเป็นรางวัลชนะเลิศ 30,000 บาท รองชนะเลิศ 20,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 10,000 บาท และชมเชย 2 รางวัลๆ ละ 5,000 บาท

Leave a Response