Tuesday, April 23, 2024
CybersecurityeGovernmentNEWS

บิ๊กป้อม ประชุม กมช.ย้ำนโยบายความร่วมมือใน-ตปท.รับการโจมตีทางไซเบอร์

“พล.อ.ประวิตร” ประธานประชุม กมช. เร่งขับเคลื่อนการสร้างความตระหนัก ตื่นตัว หนุนผนึกความร่วมมือกับองค์กรทั้งในและต่างประเทศ ลดความเสี่ยงและรับมือการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีมากขึ้น

ล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุม

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ได้ย้ำกับที่ประชุมถึงการเตรียมความพร้อม และการปฏิบัติป้องกันและรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากปัจจุบัน ที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน ต้องตระหนักรู้ ตื่นตัว

เตรียมความพร้อมรองรับรัฐบาลและสังคมดิจิทัล  การผลักดันความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาด้านหลักสูตรทางไซเบอร์ และการจัดทำบันทึกความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ จะช่วยยกระดับขีดความสามารถและความเข้มแข็งทางด้านไซเบอร์ของประเทศ

โดยขอให้สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เร่งกระตุ้นภูมิคุ้มกันภัยทางไซเบอร์ กับหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานในกำกับ และขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบาย แผนงานและกฎหมายที่กำหนด เพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบด้านความมั่นคงและความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการโจมตีทางไซเบอร์ที่มีมากขึ้น

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานของ สกมช.ที่สำคัญ ประกอบด้วย การขับเคลื่อนนโยบายและแผนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การจัดทำกฎหมาย ประกาศ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง  การส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรทั้งภายในและต่างประเทศ  การเฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากร ตลอดจนสร้างการตระหนักรู้ รวมทั้งการยกระดับหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศและหน่วยงานของรัฐ

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ยังรับทราบการปฏิบัติในภารกิจป้องกัน รับมือและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ รอบ 6 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.64 – มี.ค.65 )  พบมีการแฮกเว็บไซต์ 52 เหตุการณ์ ข้อมูลรั่วไหล 26 เหตุการณ์ จุดอ่อนช่องโหว่ 23 เหตุการณ์ และอื่นๆ 32 เหตุการณ์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบ การจัดทำ (ร่าง) บันทึกความร่วมมือด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กับองค์กรหรือหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน การลดความเสี่ยงของอาชญากรรมทางไซเบอร์ การสนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยี

ตลอดจนเสริมสร้างการเปิดกว้าง เสมอภาค โปร่งใส ยุติธรรมและไม่เลือกปฏิบัติของการแข่งขันในกลไกตลาด รวมทั้งเห็นชอบการจัดทำ (ร่าง) บันทึกความร่วมมือกับกองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและยกระดับการดูแล รับมือแก้ไข และป้องกันสถานการณ์ด้านภัยคุกคามไซเบอร์ต่อราชอาณาจักร