Tuesday, October 8, 2024
CybersecurityNEWS

สกมช. ประกาศรางวัล Prime Minister Awards การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ดีเด่น

สกมช. ประกาศรางวัล Prime Minister Awards  การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ดีเด่น หลายหน่วยงานมีมาตรฐานการดำเนินงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ดีเด่นระดับชาติ

มื่อ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้จัดงานพิธีมอบโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ รางวัลการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ดีเด่นระดับชาติ (Prime Minister Awards – Thailand Cybersecurity Excellence Awards 2022) ให้กับหน่วยงานที่มีผลงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ดีเด่นประจำปี 2565

โดยมีชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธาน มอบรางวัล และพลเอก ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เจ้าหน้าที่ และผู้แทนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมเป็นสักขีพยาน

พลเอก ดร.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวถึง การจัดงานในครั้งนี้ว่า สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ สกมช. ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม Prime Minister Awards: Thailand Cybersecurity Excellence Awards 2022

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานและกำกับดูแล ให้หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานอื่นๆ ยกระดับขีดความสามารถในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามไซเบอร์ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 และเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงเป็นการสร้างความตระหนักและการรับรู้ถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์

โดยการดำเนินการคัดเลือกหน่วยงานที่มีการดำเนินงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ดีเด่นระดับชาติ ประจำปี 2565 ด้วยวิธีการใช้แบบสอบถามข้อมูลการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ประกอบกับหลักฐานการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ ในลักษณะเช่นเดียวกับการประเมินตัวชี้วัด GCI (Global Cyber Index)

ซึ่งจัดขึ้นเพื่อวัดขีดความสามารถด้านไซเบอร์ของประเทศต่างๆ ที่ดำเนินการโดยหน่วยงาน International Telecommunication Union (ITU) โดยหน่วยงานที่เข้าร่วมจะตอบแบบสอบถามจะมีเกณฑ์การการประเมิน 3 ด้าน ประกอบด้วย

1.ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยอ้างอิงจากพระราชบัญญัติความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

2.ด้านความร่วมมือ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ระดับประเทศ และระดับภูมิภาค

3.ด้านการพัฒนาศักยภาพความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งเป็นการอ้างอิงจากดัชนีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ในด้านการพัฒนาศักยภาพ (Capacity Development) และ ด้านความร่วมมือ (Cooperative)

หลายหน่วยงานขั้นนำผ่านเกณฑ์ประเมิน มีมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยสูง

ซึ่งรางวัล “Prime Minister Awards: Thailand Cybersecurity Excellence Awards 2022 ได้รับการพิจารณา โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาอาชีพ โดยพิจารณาหน่วยงานที่เข้าร่วมทั้งสิ้นจำนวน 133 หน่วยงาน ซึ่งจากการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ สกมช. ได้แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณา

มีหน่วยงานที่ผ่านการประเมินด้านความมั่นคงปลอดภัย และได้รับใบประกาศเกียรติคุณสำหรับหน่วยงานที่มีการดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นเลิศ (Certificate of Cyber Safety) ทั้งสิ้นจำนวน 34 หน่วยงาน รวมถึงมีหน่วยงานที่ได้รับโล่รางวัลตามประเภทต่างๆ ทั้งสิ้น 21 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 31 รางวัล

โดยมีรายชื่อหน่วยงานที่ได้รับรางวัลดังนี้

ประเภทโล่รางวัลการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ดีเด่น แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. รางวัลการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในภาพรวมดีเด่น สำหรับหน่วยงานที่มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามมาตรฐานสากลดีเด่น (Cybersecurity Performance Excellence Awards) ผู้ได้รับรางวัล ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ ธนาคารแห่งประเทศไทย

2. รางวัลการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ดีเด่นและรางวัลชมเชย ในสาขาต่าง ที่สอดคล้องตาม พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ดังนี้

  • สาขาการเงินการธนาคาร Cybersecurity Excellence Award (Banking)

รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

รางวัลระดับชมเชย ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

  • สาขาความมั่นคงของรัฐ Cybersecurity Excellence Awards (National Security)

รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ กองบัญชาการกองทัพไทย

  • สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม Cybersecurity Excellence Awards (Information Technology and Telecommunications)

รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

  • สาขาบริการภาครัฐที่สำคัญ Cybersecurity Excellence Awards (Public Services)

รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และ กรมสรรพสามิต

รางวัลระดับชมเชย ได้แก่ กรมศุลกากร

  • สาขาการขนส่งและโลจิสติกส์ Cybersecurity Excellence Awards (Transportation and Logistics)

รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

  • สาขาพลังงานและสาธารณูปโภค Cybersecurity Excellence Awards (Energy and Utilities)

รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

รางวัลระดับชมเชย ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้านครหลวง และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

3. รางวัลสำหรับหน่วยงานที่มีการดำเนินการด้านต่าง ดีเด่น ได้แก่

  • สาขาความรับผิดชอบต่อสังคม Cybersecurity Excellence Awards (Corporate Social Responsibility)

รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

  • สาขาการพัฒนาศักยภาพบุคลากรดีเด่น Cybersecurity Excellence Awards (Capacity Development)

รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ กองบัญชาการกองทัพไทย, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

  • หน่วยงานให้การสนับสนุนการดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศดีเด่น Cybersecurity Excellence Awards (Supporting)

รางวัลระดับดีเด่น ได้แก่ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด, กลุ่มเบญจจินดา, บริษัท พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด และเทคทอล์กไทยกรุ๊ป

นอกจากนี้ยังมี ประเภทประกาศนียบัตร แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ใบประกาศนียบัตรเข้าร่วมโครงการ Prime Minister Awards: Thailand Cybersecurity Excellence Awards 2022 (Certificate of Participation) และใบประกาศเกียรติคุณสำหรับหน่วยงานที่มีการดำเนินการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นเลิศ (Certificate of Cyber Safety) ด้วย