Tuesday, September 17, 2024
5GAIArticles

คาดการณ์ 5 เทรนด์ AI ที่จะส่งผลกับธุรกิจในปี 2565

5 เทรนด์ AI ที่ต้องจับตาในปี 2565 และส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ผ่านมุมมองของ สุรฤทธิ์ วูวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย

าร์ทเนอร์ คาดการณ์ไว้ว่า เทคโนโลยี AI ในปี 2565 จะก้าวไปสู่ การเป็น AI ที่ฉลาดขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น และปรับขนาดได้ (Smarter, Responsible, Scalable AI) ซึ่งบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้พฤติกรรมของเครื่องหรือแมชชีนเลิร์นนิ่ง (ML) ที่มากขึ้น ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องนำเทคนิคใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อพัฒนาโซลูชัน AI ให้ชาญฉลาดยิ่งขึ้น

ในขณะที่ใช้ปริมาณข้อมูลน้อยลง โดยมีความรับผิดชอบด้านจริยธรรมและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ด้วยการปรับใช้ AI ที่ชาญฉลาดมีความรับผิดชอบและปรับขนาดได้มากขึ้นองค์กรต่างๆ จะใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้อัลกอริทึมและตีความจากระบบได้ในเวลาที่สั้นลงแต่กลับสร้างมูลค่าและให้ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่สูงขึ้น

สุรฤทธิ์ วูวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย

โดยในปี 2565 จะเป็นการกำเนิดใหม่ปัญญาประดิษฐ์ Generative Artificial Intelligence (AI) ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคนิคของการพัฒนา AI ที่เป็นที่รู้จักและมีประสิทธิภาพมากที่สุดและกำลังเข้าสู่ตลาด เป็นแมชชีนเลิร์นนิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับคอนเทนท์หรือ Data Object และใช้เพื่อสร้างนวัตกรรมรวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เป็นต้นฉบับและมีความเสมือนจริง

ขณะที่ ไอบีเอ็ม ก็มีการคาดการณ์ในเรื่อง AI เช่นกัน โดย สุรฤทธิ์ วูวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ได้ให้ข้อมูลถึง 5 เทรนด์ AI ที่ต้องจับตาในปี 2565

1. AI จะต่อยอดศักยภาพ 5G

5G มีศักยภาพมหาศาลในการพัฒนาขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ตั้งแต่การสตรีมมิ่ง การสื่อสาร ไปจนถึงเรื่องของหุ่นยนต์ก้าวล้ำและงานสายการผลิต เป็นจุดที่พลังสองอย่างมาบรรจบกัน คือการสื่อสารภายใต้แบนด์วิดธ์สูงที่มีความเสถียร และการกระจายพลังคอมพิวติ้งอย่างรวดเร็วทั่วทั้งเครือข่าย

ความสลับซับซ้อนของระบบเครือข่ายโทรคมนาคมในปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การจัดการและควบคุมระบบโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก เห็นได้ชัดว่าเครื่องมือ ระบบ และวิธีการจัดการเครือข่ายในปัจจุบันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์ระบบเครือข่ายในอนาคต

เพื่อผลักดันให้เกิดการเชื่อมต่อระบบ 5G ทั่วโลก ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารจะหันมาใช้ระบบออโตเมชันที่ขับเคลื่อนด้วย AI และ network orchestration เพื่อช่วยเสริมการควบคุมและบริหารจัดการเครือข่าย อันจะนำสู่การมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

นวัตกรรมอย่างการแบ่งส่วนเครือข่าย จะช่วยให้องค์กรสามารถกำหนดระดับการให้บริการสำหรับอุปกรณ์แต่ละอย่างได้เหมาะสมกับการใช้งานในเครือข่ายของตน ตัวอย่างเช่น รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติสามารถใช้เครือข่ายที่มีเวลาแฝงต่ำมากได้ ในขณะที่กล้องวิดีโอ HD ต้องการแบนด์วิดธ์ที่สูง

2.AI จะสร้างอนาคตที่เชื่อถือได้และยั่งยืน

ในทางหนึ่ง ผู้บริโภค หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล และผู้ถือหุ้น ต่างกำลังกดดันให้บริษัทต่างๆ ทำผลกำไรภายใต้ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม และในอีกทาง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศอันเลวร้ายก็กำลังสร้างแรงกดดันให้กับระบบซัพพลายเชนและการดำเนินธุรกิจ

ความตึงเครียดเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565 และ AI จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ธุรกิจผ่านเกณฑ์ชี้วัดด้านความยั่งยืน ทั้งในแง่การวัดผล การรวบรวมข้อมูล และการทำบัญชีคาร์บอน รวมถึงการทำให้การคาดการณ์และความยืดหยุ่นฟื้นตัวไวของระบบซัพพลายเชนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

42% ของ CIO ที่สำรวจในการศึกษา CIO Study ล่าสุด มองว่า AI และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ จะส่งผลต่อความยั่งยืนมากที่สุดในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับปัจจัยกระทบอื่นๆ ที่สำรวจ ทั้งระบบบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ที่ช่วยลดความจำเป็นในการเปลี่ยนชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ระบบ AI ที่วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมของพายุและไฟป่า และอื่นๆ อีกมากมาย จะเข้ามีบทบาทสำคัญในการช่วยองค์กรรับมือกับเหตุสภาพอากาศเลวร้ายที่จะเพิ่มขึ้น

บริษัทต่างๆ จะหันมาให้ความสนใจกับการลดปัญหาการหยุดชะงักของซัพพลายเชนมากขึ้น โดยจะลงทุนในระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อทำให้ระบบพื้นฐานที่รองรับระบบคอมเมิร์ซต่างๆ สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อมูลจากเซ็นเซอร์, แท็ก RFID, มิเตอร์, แอคทูเอเตอร์, GPS ฯลฯ จะช่วยให้ระบบ inventory สามารถตรวจสอบสินค้าคงคลังได้เอง ขณะที่ตู้คอนเทนเนอร์จะสามารถตรวจดูของที่อยู่ด้านในได้ และพาเลทต่างๆ ก็จะรายงานแจ้งได้เองหากว่าถูกวางผิดที่

3.ธุรกิจจะลดต้นทุน โดยใช้ AI ช่วยคาดการณ์ปัญหาระบบไอที

ในปี 2564 ผู้บริหารด้านไอที ในฐานะผู้ดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลขององค์กร มีภารกิจสำคัญในการบริหารจัดการการทำงานระยะไกลของพนักงานและรับมือกับปัญหาด้านซิเคียวริตี้รูปแบบใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กับการทำความเข้าใจข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้นจากแอปพลิเคชันยุคใหม่

รวมถึงการมอนิเตอร์โซลูชันและการใช้ช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นของพนักงานและผู้บริโภค ปัจจัยเหล่านี้ทำให้องค์กรเริ่มมองถึงการนำออโตเมชันมาใช้มากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความสนใจในการนำ AI เข้ามาช่วยคาดการณ์ปัญหาของระบบไอทีมากขึ้น อันนำสู่เทคโนโลยีที่เรียกว่า AIOps

AIOps ช่วยให้ฝ่ายไอทีขององค์กรสามารถบริหารจัดการสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความซับซ้อนได้ในเชิงรุก และอาจช่วยให้องค์กรรักษาเงินหลักล้านที่ต้องสูญเสียหากเกิดปัญหาขึ้น ในปี 2565 AIOps จะช่วยให้ทีมไอทีสามารถวินิจฉัยปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมั่นใจ มากกว่าการทำแบบแมนวลแบบเดิมที่ทีมต้องเสียเวลามากมาย

ซึ่งจะทำให้ทีมไอทีสามารถหันมามุ่งเน้นที่งานที่สร้างคุณค่ามากขึ้นได้ นอกจากนี้ AIOps ยังจะช่วยให้ทีมไอทีสามารถระบุแพทเทิร์นของข้อมูลเพื่อบ่งชี้และคาดการณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ทำให้สามารถทราบปัญหาระบบไอทีล่วงหน้าก่อนที่ปัญหาเหล่านั้นจะเกิดขึ้น

4.งาน Customer Care จะใช้ AI เพื่อให้ตอบโจทย์เฉพาะบุคคลยิ่งขึ้น

ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปีที่ผ่านมา ผู้ช่วยเวอร์ชวลได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญขององค์กรขนาดใหญ่และหน่วยงานภาครัฐ ไม่เพียงเฉพาะในแง่การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท่านั้น แต่เรายังเริ่มเห็นการผสานรวมออโตเมชันเข้าด้วยกัน

ซึ่งทำให้ผู้ช่วยเวอร์ชวลเหล่านี้สามารถจัดการเวิร์คโฟลว์และงานต่างๆ ได้จนเสร็จสมบูรณ์ ดังตัวอย่างของการจองนัดหมายเพื่อรับวัคซีน เป็นต้น ในปี 2565 ผู้บริโภคจะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับร้านค้าและผู้ให้บริการที่พวกเขาชื่นชอบมากขึ้น ในลักษณะที่มีความเฉพาะบุคคลมากขึ้น

อีกสาเหตุสำคัญที่จะทำให้ AI เข้ามามีบทบาทในงานดูแลลูกค้ามากขึ้น คือการที่ AI สามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความครอบคลุมได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากบริษัทและหน่วยงานภาครัฐเริ่มหันมาใช้สถาปัตยกรรม data fabric เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีมากขึ้น

5.การโฟกัสเรื่องซิเคียวริตี้อย่างต่อเนื่อง

ก่อนที่จะสามารถนำ AI เข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจได้ บริษัทและองค์กรต่างๆ จำเป็นต้องได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค การต่อสู้เพื่อแย่งชิงความไว้วางใจของผู้บริโภคจะเกิดขึ้นในหลายมิติ ตั้งแต่ความสามารถในการอธิบายที่มาของการตัดสินใจของ AI ได้ ไปจนถึงการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ว่าข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเขาจะได้รับการปกป้องจากภัยไซเบอร์ต่างๆ

ในขณะที่บริษัทและหน่วยงานภาครัฐยังคงเดินหน้าลงทุนในด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้อย่างต่อเนื่อง AI เองก็จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์และตอบสนองต่อภัยคุกคาม ภายใต้ก้าวย่างสู่แนวทาง zero trust ที่จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น