Saturday, April 27, 2024
ArticlesManagement

ความแตกต่างระหว่างการลงทุนในหุ้นบริษัทนอกตลาด กับหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

Private Equity

ทำความเข้าใจ ความแตกต่างที่สำคัญบางประการระหว่างการลงทุนในหุ้นบริษัทที่อยู่นอกตลาด และหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

นักลงทุนรายบุคคลรายใหม่จำนวนมาก ให้ความสนใจในหุ้นของบริษัทที่อยู่นอกตลาด หรือ Private Equity มากขึ้น โรรีย์ เบตแมน และ ทิม ครีด อธิบายความแตกต่างที่สำคัญบางประการระหว่างการลงทุนในหุ้นบริษัทที่อยู่นอกตลาด และหุ้นที่มีการซื้อขายใน ตลาดหลักทรัพย์

1. ความเป็นเจ้าของ

หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือ หุ้นของบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนซื้อขายอย่างเปิดเผยในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีนักลงทุนเป็นจำนวนมากมีฐานะเป็นเจ้าของ ผ่านการซื้อขายเปลี่ยนมือกันในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีสภาพคล่องสูง สามารถเปลี่ยนมือได้ง่ายทุกวัน หรือแม้กระทั่งในระหว่างวันก็สามารถทำได้

ในทางตรงกันข้าม Private Equity หรือหุ้นของบริษัทนอกตลาด มักจะเป็นหุ้นที่โดยทั่วไปถือครองโดยกลุ่มบุคคล หรือครอบครัว หรือบริษัทที่ทำหน้าที่บริหารหุ้นนอกตลาด (Private_Equity Firm) โดยในช่วงที่ผ่านมา Private Equity Firm ได้เข้าซื้อบริษัทต่างๆ เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างมาก

โดย Private_Equity Firm ดังกล่าว อาจได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนจากกองทุนบำเหน็จบำนาญ เงินลงทุนของบริษัทประกัน กองทุนเพื่อความมั่งคั่ง และมูลนิธิ และนักลงทุนรายย่อยบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ บริษัทส่วนใหญ่ทั่วโลกมักจะอยู่ในรูปของบริษัทเอกชน หรือบริษัทที่หุ้นอยู่นอกตลาดหลักทรัพย์

2. การเข้าถึงข้อมูล

หุ้นของบริษัทมหาชนซึ่งมีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ต้องจัดทำข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับบริษัทต่อสาธารณะ โดยทั่วไปเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและข้อกำหนดของหน่วยงานที่กำกับดูแล อาทิ กลต. ในขณะที่บริษัทเอกชนไม่มีข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลทางกฎหมายดังกล่าว

บทความโดย: โรรีย์ เบตแมน (ซ้าย) Co-Head of Investment and Head of Equities และ ทิม ครีด Head of Private Equity, Schroders

แม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเอกชนอาจไม่สามารถเข้าถึงได้โดยสาธารณะ แต่หุ้นส่วนที่ไม่จำกัดความรับผิดชอบ (General Partner – GP) และหุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิดชอบของธุรกิจ (Limited Partner – LP)* จะสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับบริษัทได้

โดยข้อดีของการที่ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดต่อสาธารณะคือ บริษัทเอกชนสามารถทุ่มเทเวลาและทรัพยากรของตนไปกับการดำเนินธุรกิจแทนการปฏิบัติตามข้อกำหนดการรายงานตามกฎระเบียบ

*หุ้นส่วนที่ไม่จำกัดความรับผิดชอบ (GP) คือผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนที่รับผิดชอบในการจัดการกองทุน ในขณะที่หุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิดชอบ (LP) คือนักลงทุนภายนอกที่ให้เงินทุนสำหรับการลงทุนส่วนบุคคล

3. การมีส่วนร่วมของนักลงทุน

ในฐานะนักลงทุนของบริษัทจดทะเบียน นักลงทุนสามารถเลือกที่จะถือหุ้นเฉยๆ แล้วรอรับผลตอบแทนจากเงินลุงทุนโดยไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆต่อการบริหาร หรือเลือกที่จะมีส่วนร่วมผ่านการแสดงออกผ่านที่ประชุมผู้ถือหุ้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็น หรือการออกเสียงโหวตต่างๆ ตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริษัทที่เข้าไปร่วมลงทุนก็ได้

สำหรับหุ้นนอกตลาด ซึ่งผู้ถือหุ้นมักจะกระจุกอยู่ในกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสมากขึ้นในการเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในฐานะผู้ถือหุ้น ซึ่งโดยมักจะมีความใกล้ชิดกับธุรกิจ และสามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ หรือการดำเนินงานของบริษัท

ซึ่งรวมไปถึงการมีส่วนร่วมสร้างแผนธุรกิจร่วมกับผู้บริหาร ในขณะที่เมื่อเทียบกับนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ถือหุ้นรายบุคคลมักจะเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นส่วนน้อยทำให้การมีส่วนร่วมของนักลงทุนในบริษัทจดทะเบียนจะน้อยกว่าบริษัทเอกชน

4. วิธีการประเมินมูลค่า

การลงทุนโดยตรงในหุ้นบริษัทเอกชนจะมีการประเมินมูลค่าเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส วิธีการประเมินมูลค่าจะขึ้นอยู่กับแนวทางใดแนวทางหนึ่งจากสามแนวทางด้านล่างหรือผสมผสานกันก็ได้:

  • Market Approach: โดยมีการประเมินราคาโดยอ้างอิงราคาตลาดของบริษัทที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน โดยใช้อัตราส่วน P/E หรือ Price to Earning เป็นตัวประเมินราคา
  • Income Approach: ประเมินมูลค่าโดยคำนึงถึงกระแสเงินสด และกำไรที่บริษัทคาดว่าจะสามารถสร้างได้
  • Milestone Approach หรือ Event-Based Approach เป็นวิธีประเมินมูลค่าโดยอาศัยเหตุการณ์ต่างๆเข้ามาประกอบ ซึ่งโดยปกติมักใช้สำหรับบริษัทเกิดใหม่ที่ยังไม่สามารถสร้างรายได้หรือกระแสเงินสดในระยะเวลาอันใกล้

ในทางตรงกันข้าม หุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะมีราคาตลาดซึ่งถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานในตลาด โดยสามารถค้นหาข้อมูลของราคาตลาดได้โดยง่าย โดยในกรณีที่หากมีนักลงทุนจำนวนมากขายหุ้น ราคาก็จะมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ในทางตรงกันข้ามในกรณีที่มีผู้ซื้อหุ้นจำนวนมากราคาหุ้นก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้น

5. สภาพคล่อง

หุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างมีสภาพคล่อง เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว นักลงทุนสามารถซื้อและขายหุ้นได้อย่างรวดเร็ว จึงสามารถเปลี่ยนสภาพจากหุ้นเป็นเงินสดได้ค่อนข้างง่ายดาย

ในทางตรงกันข้าม หุ้นนอกตลาด มีสภาพคล่องที่ต่ำกว่า เพราะไม่สามารถทำการซื้อขายได้ทุกวันเหมือนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ดี เนื่องจากหุ้นนอกตลาดได้รับความนิยม และมีขนาดตลาดที่ใหญ่เพิ่มขึ้น ทำให้มีตลาดรองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับการลงทุนในหุ้นนอกตลาดเหล่านี้ ทำให้การซื้อขายเปลี่ยนมือของหุ้นนอกตลาดทำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะจำกัดเฉพาะการซื้อขายเปลี่ยนมือผ่านผู้จัดการกองทุน

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องของหุ้นนอกตลาด เช่น การเปิดให้มีการซื้อขายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาทิเช่น ทุกไตรมาส หรือทุกปี เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับนักลงทุน ที่อาจจำเป็นต้องถอนเงินก่อนครบกำหนดระยะเวลาการลงทุน

6. ความสะดวกในการเข้าถึง

การซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างง่าย เนื่องจากมีแพลตฟอร์มมากมายที่ช่วยอำนวยความสะดวก แม้แต่นักลงทุนที่ไม่มีประสบการณ์ก็สามารถซื้อและขายหุ้นได้อย่างง่ายดาย

แม้ว่านักลงทุนทั่วไปจะเข้าถึงการลงทุนในหุ้นนอกตลาดหุ้นได้ยากกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นก็ตาม แต่ปัจจุบันก็ถือเป็นเรื่องง่ายขึ้นจากกฎระเบียบที่ผ่อนปรนขึ้นและการเกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์ใหม่ ตัวอย่างเช่น กองทุน European Long-Term Investment Fund (ELTIF) เป็นกองทุนรวมการลงทุนประเภทหนึ่ง ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อยที่มีความเชี่ยวชาญสามารถเข้าถึงการลงทุนในหลักทรัพย์นอกตลาดได้

โดยทั่วไปกองทุนประเภทนี้จะมีการเรียกเงินลงทุน (capital call) ที่มีความถี่น้อยลงกว่าการลงทุนในหุ้นนอกตลาดทั่วไป มีอายุการลงทุนที่สั้นลง การรายงานภาษีที่ง่ายขึ้น ซึ่งออกแบบมาสำหรับนักลงทุนประเภทบุคคล และมีจำนวนเงินลงทุนแรกเข้าขั้นต่ำที่น้อยกว่าเดิม

Capital call คือเมื่อผู้จัดการกองทุนเรียกร้องให้นักลงทุนของกองทุน จัดหาเงินทุนเพื่อลงทุนและปฏิบัติตามภาระผูกพันของกองทุน เช่น ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่างๆ ฯลฯ

Featured Image: Image By vecstock