Sunday, April 28, 2024
AgriTechNEWS

สำนักงาน คปภ. ผนึกกำลังร่วมกับ สศก. GISTDA และ NECTEC ลงนาม MoU นำเทคโนโลยี ประกันภัยพืชผลทางเกษตร

สำนักงาน คปภ. ผนึกกำลังร่วมกับ สศก. GISTDA และ NECTEC ลงนาม MoU เพื่อนำเทคโนโลยี เสริมความแข็งแกร่งประกันภัยพืชผลทางเกษตรแบบครบวงจร พร้อมช่วยยกระดับภูมิคุ้มกัน ด้านความเสี่ยงภัยแก่เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน

ร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) พร้อมด้วย ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยความร่วมมือในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบประกันภัยภาคการเกษตร ระหว่าง 4 หน่วยงานคือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ โดยมีคณะผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 4 หน่วยงาน รวมถึงสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 3 อาคารนวัตกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่กำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตลอดจนคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนด้านการประกันภัย ได้ให้ความสำคัญ และส่งเสริมการประกันภัยด้านการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง

โดยสนับสนุนภาคธุรกิจประกันภัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อให้ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ อาทิ ประกันภัยข้าวนาปี (ซึ่งตั้งแต่ปี 2558 ถึงปี 2565 ระบบประกันภัยเข้ามาเยียวยาความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี มากกว่า 12,814 ล้านบาท) ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกันภัยพืชผลอ้อย โดยใช้ดัชนีความแห้งแล้งตรวจวัดด้วยดาวเทียม นอกจากนี้ยังได้ต่อยอดไปยังพืชผลชนิดอื่น ๆ ให้กับเกษตรกรของประเทศ โดยร่วมกับธุรกิจประกันภัยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตามภูมิภาคหรือพื้นที่เฉพาะ เช่น ประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ประกันภัยสวนยางพารา และประกันภัยโคนม โคเนื้อ เป็นต้น และมีประกันภัยที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น ประกันภัยกล้วยหอมทอง ประกันภัยส้มเขียวหวาน ประกันภัยมันสำปะหลัง ประกันภัยมันฝรั่ง และประกันภัยกาแฟ เป็นต้น

รวมทั้ง สำนักงาน คปภ. ได้เดินหน้าพัฒนากลไกด้านประกันภัยการเกษตร มุ่งคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยให้กับเกษตรกรไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงด้านประกันภัยการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยสำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยกร่างกฎหมายการประกันภัยทางด้านเกษตรกรรมให้มีรูปแบบที่ชัดเจนมีความยืดหยุ่น เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ ได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนจะเป็นการส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยด้านการเกษตรที่มีความหลากหลายมากขึ้น

ปัจจุบันมีกรมธรรม์ประกันภัยสวนทุเรียน ที่ให้ความคุ้มครองคือ ความเสียหายโดยสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุและภัยธรรมชาติ เช่น ภัยลมพายุ ภัยน้ำท่วม ไฟไหม้ ฟ้าผ่า การหักลำต้นโดยสัตว์ เป็นต้น และมีกรมธรรม์ประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ (กรมธรรม์ประกันภัยมาตรฐาน) โดยให้ความคุ้มครอง ความเสียหายโดยสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุและภัยธรรมชาติ นอกจากนั้น กรมธรรม์ประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษยังให้ความคุ้มครองความเสียหายบางส่วนของต้นทุเรียนอันเกิดจากภัยลมพายุ ซึ่งภัยดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินด้วย

แม้จะมีพัฒนาการในเรื่องประกันภัยพืชผลทางเกษตรอย่างมาก แต่ pain-points ในเรื่องนี้คือ การขาดข้อมูล สถิติที่ครบถ้วน แม่นยำ และเป็นปัจจุบัน ทำให้ยากต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้ตรงความต้องการอย่างแท้จริงของเกษตรกร รวมทั้งประสบปัญหาความแม่นยำในการประเมินความเสียหายต่าง ๆ

ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วย ดังนั้น การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาระบบประกันภัยภาคการเกษตร มาใช้ในการสำรวจภัยของผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรจะเป็นการนำร่องในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มาเป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ IoT และระบบภูมิสารสนเทศ GIS เทคโนโลยีที่สามารถวัดความเร็วลม โดยจะมีการนำ “ความเร็วลม” มาประเมินความเสียหายและจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

นอกจากนี้ การลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวยังถือเป็นการต่อยอดความร่วมมือที่สำนักงาน คปภ. และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการความร่วมมือพัฒนาระบบประกันภัยการเกษตร ในการผลักดัน และพัฒนาระบบการประกันภัยภาคการเกษตรให้มีความยั่งยืนมากขึ้น จากที่ได้ร่วมกันจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันภัยการเกษตร เมื่อปี 2564

สำหรับกรอบแนวทางความร่วมมือที่ทั้ง 4 หน่วยงาน จะขับเคลื่อนร่วมกันมี 4 ด้านหลัก ๆ คือ ด้านแรก ความร่วมมือทางวิชาการและเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาและแลกเปลี่ยนความรู้ในการจัดทำ รวบรวม จัดเก็บ และสืบค้นข้อมูลร่วมกัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลทางวิชาการ ผลงานวิจัย การประเมินผล การจัดกิจกรรมทางวิชาการ รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในระบบประกันภัยภาคการเกษตร

ด้านที่ 2 ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูล ข่าวสาร และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในระบบประกันภัยภาคการเกษตร เพื่อนำไปประกอบการวิเคราะห์ วิจัย และประเมินผล สำหรับการตัดสินใจของผู้บริหารและการปฏิบัติงาน โดยข้อมูลที่แต่ละฝ่ายเป็นผู้รับผิดชอบจะมีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนกันด้วยวิธีการและช่องทางใดให้เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายเห็นสมควร

ด้านที่ 3 ความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในระบบประกันภัยภาคการเกษตรที่เกี่ยวข้องตามภารกิจของทุกฝ่าย ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ

และด้านที่ 4 ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ Internet of Things (IoT) และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System) ในระบบประกันภัยภาคการเกษตรเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงในทุก ๆ มิติ เพื่อบรรเทาภาระทางการเงินและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

“การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ระหว่าง 4 หน่วยงาน ในครั้งนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญ ที่จะช่วยผลักดันประกันภัยด้านการเกษตรในประเทศไทยให้ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน อันจะเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำการเกษตรของเกษตรกรแบบครบวงจรและสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย