Tuesday, March 19, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

10 องค์ประกอบของความเป็นผู้ประกอบการ Entrepreneurship

ขอเสนอ 10 องค์ประกอบของความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ที่ผู้ประกอบการตัวจริงจะต้องมี ซึ่งครอบคลุมในทุกมิติของพันธกิจการสร้างธุรกิจ ทั้งการบริหาร การตัดสินใจ ความรับผิดชอบต่อสิ่งต่างๆ

มื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ผู้เขียนมีโอกาสบรรยายเรื่อง ภาวะการประกอบการ ในหลักสูตรสร้างศักยภาพผู้นำเยาวชนเพื่อการสร้างชาติ รุ่นที่ 3 (NBI Youth-Leadership Empowerment Summer Programme)

ผมนิยามการประกอบการ หมายถึง การสถาปนาองค์กรพันธกิจที่มุ่งหวังให้มีความยั่งยืน โดยเริ่มต้นจากคนเดียวที่มีความคิดอยากทำพันธกิจบางอย่างและสามารถรวบรวมสรรพกำลัง ทั้งคนและทรัพยากรต่างๆ เพื่อสถาปนาองค์กรพันธกิจนั้นให้สำเร็จได้อย่างยั่งยืน

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

ทั้งนี้พันธกิจไม่ควรจำกัดขอบเขตเพียงการประกอบการในธุรกิจหรือการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจ แต่การประกอบการสามารถมีได้ทั้ง 3 ภาคกิจ ได้แก่

1) การประกอบการภาครัฐกิจ (Public Sector Entrepreneurship) คือ การประกอบการที่มีการใช้อำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนพันธกิจให้เกิดขึ้นและไปถึงซึ่งความสำเร็จ

2) การประกอบการภาคธุรกิจ (Private Sector Entrepreneurship) คือ การประกอบการบนแนวคิด (Idea) ในการพัฒนาสินค้าและบริการที่มีประโยชน์ให้ประสบความสำเร็จ

3) การประกอบการภาคประชากิจ (People Sector Entrepreneurship) คือ การประกอบการผ่านการสร้างคุณค่าในสังคมให้สำเร็จ โดยไม่ใช้อำนาจรัฐและไม่มุ่งหวังผลกำไรจากการผลิตสินค้าและบริการ

ผมเสนอกรอบแนวคิดของภาวะการประกอบการ อย่างน้อย 10 องค์ประกอบ ดังนี้

1. การเป็นนักบุกเบิก เป็นผู้ที่มีแนวคิดริเริ่มสิ่งใหม่เสมอ และมีโอกาสทำให้เป็นจริงได้ เป็นการเริ่มจากสิ่งที่ไม่มี หรือเรื่องที่ไม่เคยมีใครทำ จิตวิญญาณหลักของนักบุกเบิก คือ ฉันจะเป็นคนแรกที่เป็นคนทำ โดยยอมว้าเหว่บุกเบิกอยู่คนเดียวก่อน ดังนั้นการเข้าร่วมทำสิ่งที่มีอยู่แล้วหรือเพียงเข้าไปเสริม ไม่เรียกว่าการประกอบการ

2. การเริ่มต้นลงมือทำ ผู้ประกอบการไม่เพียงมีใจบุกเบิก แต่จะต้องเป็นผู้เริ่มต้นลงมือกระทำในสิ่งต่างๆ เพื่อรองรับพันธกิจ ทั้งการจัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรรองรับพันธกิจ และการเริ่มต้นการดำเนินงานพันธกิจจริง ซึ่งต้องกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อผลิตสินค้าและบริการได้ตรงความต้องการหรือเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

3. การรวบรวมปัจจัยการผลิต ผู้ประกอบการทำหน้าที่รวบรวมปัจจัยการผลิตต่างๆ จากหลากแหล่งเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสำหรับการบรรลุเป้าหมายพันธกิจมาร่วมทีม แหล่งเงินทุนเริ่มต้นสำหรับสนับสนุนพันธกิจ การจัดหาแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รองรับ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยต่างๆ ในกระบวนผลิต

4. การตัดสินใจ การประกอบการมีหลายเรื่องที่ต้องตัดสินใจ ซึ่งผู้ประกอบการต้องชั่งน้ำหนักก่อนการตัดสินใจให้ได้ว่า ปัจจัยต่างๆ ที่ได้นำมารวมกันนั้นควรดำเนินการอะไรบ้าง อย่างไร เมื่อไร ที่ไหน และกับใคร เพราะหากผู้ประกอบการไม่ตัดสินใจ จะส่งผลให้หลายเรื่องติดค้างอยู่ ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

5. การประสานงาน ผู้ประกอบการมีความสำคัญแต่ต้องมีทีมด้วย กล่าวคือ ภายหลังจากผู้ประกอบการได้ตัดสินใจเกี่ยวกับบุคคลากรหรือปัจจัยต่างๆ ที่ได้รวบรวมไว้แล้ว จะต้องทำให้เกิดการทำงานร่วมกันได้อย่างสอดประสาน ขณะที่บุคลากรส่วนที่ยังไม่พร้อม จะต้องได้รับการสร้างหรือพัฒนา แล้วจึงนำมาทำงานประกอบเข้าด้วยกัน จึงจะเรียกว่า ประสานงาน

เพราะหากไม่ประสานงาน งานจะล้มเหลว อาทิ หากเกิดความขัดแย้งกันแล้ว แต่แก้ไขความขัดแย้งนั้นไม่ได้ ต่างคนต่างจะไปคนละทิศละทาง ส่งผลให้งานพันธกิจไม่สำเร็จ ฉะนั้น ผู้ประกอบการต้องเป็นนักประสานงานที่เก่ง เป็นมือประสาน 10 ทิศ หรือ 100 ทิศ ขึ้นกับว่าต้องมีคนมาร่วมมากเพียงใด

6. การนำเสนอนวัตกรรม การประกอบการต้องมีนวัตกรรมเสมอ หากเป็นเพียงการทำสิ่งที่มีอยู่แล้วนั้นยังไม่ใช่ผู้ประกอบการ นวัตกรรมต้องเป็นสิ่งใหม่ หรือแนวคิดใหม่ คุณค่าใหม่ วิธีการใหม่ เครื่องมือใหม่ รวมถึงกระบวนการเสนอสิ่งใหม่สู่สังคม ซึ่งเริ่มจากแนวคิดที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน จนสามารถทำให้เป็นนวัตกรรม ตาม Dan Can Do 3I Innovation Model ประกอบด้วย

(1) นวัตกรรมความคิด (Ideation Innovation)

(2) นวัตกรรมการปฏิบัติ (Implementation Innovation) และ

(3) นวัตกรรมผลกระทบ (Impact Innovation) ที่สามารถสร้างการยอมรับหรือผลกระทบทางบวกได้อย่างแพร่หลาย

ดังตัวอย่าง แนวคิดการเชื่อมการท่องเที่ยวชุมชนกับนักท่องเที่ยว โดยใช้แพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือสร้างสิ่งดึงดูดผู้คนเข้าไปท่องเที่ยวในชุมชน ซึ่งเริ่มจากการลงไปสำรวจปัญหาชุมชนว่า มีความต้องการอะไรอย่างแท้จริง และพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหานั้น ตามแนวคิด Cap-Corner Stone ซึ่งผมได้บรรยายในหลักสูตรของสถาบันการสร้างชาติ (NBI)

การสร้างแพลตฟอร์มเชื่อมการท่องเที่ยวชุมชนกับนักท่องเที่ยว
Idea Implementation Impact
มองเห็นปัญหา ใช้ปัญญาแก้ไข ทำจริง ขยายผลยิ่งใหญ่
– ชาวบ้านยากจน
รายได้น้อย

– รายได้ท่องเที่ยวตกกับธุรกิจใหญ่มากกว่าชุมชน

– พัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวที่เจาะจงชุมชน

– ทำแพลตฟอร์มเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวกับชุมชน

– ทำแอป/เว็บ
– ฝังตัวเพื่อสำรวจชุมชน
– เสนอแนวคิดท่องเที่ยวเจาะจงท้องถิ่น-เทสทริป
– สำรวจชุมชนอื่นๆ, ติดต่อชาวบ้านเพื่อลงไปสังเกตการณ์ศักยภาพของชาวบ้านและชุมชน ฯลฯ

ที่มา: แนวคิด “Local Alike” สตาร์ทอัพไทย ได้รับเงินรางวัลกว่า 11.4 ล้านบาท จากโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนของ Booking.com

7. การควบคุมงบประมาณของธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องเข้าใจโมเดลรายได้ (Revenue Model) โมเดลต้นทุน (Cost Model) และโมเดลค่าใช้จ่าย (Expenses Model) ในการจัดทำงบประมาณตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อสามารถจัดการทางการเงินสำหรับการประกอบการได้อย่างราบรื่น

กล่าวคือ ในแต่ละช่วงจะต้องใช้เงินทุนเท่าใด ทราบแหล่งที่มาเงินทุนและขั้นตอนการได้เงินทุนมาได้อย่างไร โดยเฉพาะการควบคุมงบประมาณตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้นซึ่งมักมีงบประมาณเพียงเล็กน้อยว่า จะต้องใช้ไปกับอะไรก่อนเพื่อให้เกิดรายได้ขึ้นสำหรับใช้ดำเนินกิจการต่อได้ จนทำให้ในที่สุดมีงบประมาณขนาดใหญ่เพียงพอรองรับพันธกิจได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้หากเรารอเวลาหวังให้คนอื่นนำเงินมาให้เท่านั้น งบประมาณจะไม่เคยมีเพียงพอ ส่งผลพันธกิจจะไม่มีทางสำเร็จ

8.การแบกรับความเสี่ยง (Risk Bearing Function) ผู้ประกอบการต้องเป็นคนใจกล้าต่อสู้กับความเสี่ยงได้ กล่าวคือ ภายใต้เป้าหมายพันธกิจที่ท้าทายย่อมมีทั้งโอกาสทำสำเร็จและไม่สำเร็จ ความเสี่ยงจึงเป็นปกติของชีวิตผู้ประกอบการที่จะต้องหาวิธีปิดความเสี่ยงที่จะไม่สำเร็จนั้นให้ได้ หากยังมีโอกาสสำเร็จอยู่ ก็จะอดทนทำต่อจนไปถึงเส้นชัย

9. การสร้างองค์กร องค์กรเป็นส่วนที่ห่อหุ้มองคาพยบต่างๆ ไว้ ผู้ประกอบการต้องสามารถสถาปนาองค์กรได้ กล่าวคือ ต้องมีความเป็นองค์กรที่รองรับพันธกิจนั้นได้อย่างแท้จริง เป็นองค์กรที่มีคนมาเข้าร่วมอย่างมากมายและดำรงอยู่ได้ด้วยการทำหน้าที่ตามพันธกิจ อีกทั้งองค์กรยังช่วยสะท้อนลักษณะของความเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้พันธกิจร่วมกันนั้นไปจนถึงความสำเร็จ

10. การสร้างความยั่งยืน องค์กรที่สถาปนาขึ้นนั้นจะต้องทำให้พันธกิจดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง สามารถยืนระยะข้ามกาลเวลาหรือข้ามชั่วอายุคนได้ ฉะนั้น จำเป็นจะต้องมีผู้สืบทอดงานพันธกิจ การสร้างทีมงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรเกิดความยั่งยืน

กล่าวโดยสรุป การเป็นผู้ประกอบการตัวจริงหรือเป็นผู้ประกอบการอย่างแท้จริงจะต้องมี 10 องค์ประกอบของความเป็นผู้ประกอบการดังกล่าว สำหรับในเรื่องของภาวะการประกอบการนั้นยังมีส่วนสำคัญที่ผมจะกล่าวถึงในครั้งถัดไป คือ คุณสมบัติของผู้ประกอบการที่ดี และการพัฒนาตนเองเป็นผู้ประกอบการ

Leave a Response