Friday, March 29, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak ChareonwongsakESG

ธุรกิจจะช่วยสร้างชาติได้อย่างไร

Corporate Social

ธุรกิจจะช่วยสร้างชาติได้ ผู้เขียนเชื่อแบบนั้น ลองหาคำตอบจากบทความนี้ว่าทำไมทุกธุรกิจ ที่ถึงแม้จะมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน ทุกองค์กรเหมือนฟันเฟืองที่ช่วยกันหมุนวงล้อความเจริญของประเทศชาติให้เดินไปข้างหน้า

มื่อนึกถึงภาคธุรกิจ ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรสูงสุด ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนำทรัพยากร บุคลากรขององค์กรมาใช้เพื่อประโยชน์ของสังคม ทั้งที่จริงๆ แล้วภาคธุรกิจเป็นภาคส่วนที่มีพลังมหาศาลในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นหรือแย่ลง เนื่องจาก เป็นภาคส่วนที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ มีความเข้าใจภาพรวมและข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจ มีบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถระดับสูงจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ถ้าภาคธุรกิจหันมาเอาใจใส่สังคมและมีส่วนในการสร้างชาติมากขึ้น แทนที่จะแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว ผมเชื่อว่าสังคมจะมีปัญหาลดลงและประเทศชาติจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

อย่างไรก็ตามก่อนที่ภาครัฐจะกำหนดนโยบายเพื่อขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้เข้ามามีส่วนในการสร้างชาติได้ ต้องเข้าใจธรรมชาติหรือลักษณะของภาคธุรกิจเสียก่อน ซึ่งผมได้สร้าง แบบจำลอง Dr.Dan’s Corporate Mission Spectrum เพื่ออธิบายถึงธุรกิจ 4 ลักษณะซึ่งจำแนกโดยใช้เป้าหมายเป็นหลัก คือ วัตถุประสงค์เพื่อกำไรสูงสุดส่วนตัว หรือ วัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

1. ธุรกิจที่สร้างกำไรเป็นหลัก (CPM = Corporate Profit Making)

ธุรกิจโดยส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรสูงสุดเป็นหลัก เหมือนดังที่ Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ระบุว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเดียวของภาคธุรกิจ คือ การใช้ทรัพยากรที่มีและดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มกำไร ภายใต้กรอบกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้

ผมคิดว่าคำพูดดังกล่าวมีส่วนจริงบางส่วน กล่าวคือ ถึงแม้ธุรกิจจะมุ่งแสวงหากำไรสูงสุดส่วนตัว แต่ก็ถือว่ามีส่วนในการสร้างชาติทางอ้อมคือ การผลิตสินค้าและบริการที่ช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและสามารถที่จะแข่งขันได้อยู่เสมอทำให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนอกจากนี้ธุรกิจยังช่วยลดปัญหาทางสังคม เช่น ปัญหาการว่างงาน เพราะเมื่อธุรกิจทำหน้าที่ได้ดี เศรษฐกิจดี ปัญหาสังคมจะลดลง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าแม้ธุรกิจจะดำเนินการภายใต้กฎเกณฑ์ก็ยังอาจสร้างผลกระทบทางลบให้สังคมได้ เช่น การไม่ดูแลสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร การดำเนินการเพียงเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ “ขั้นต่ำ” ของกฎหมาย โดยขาดจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง เป็นต้น

2. ธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม (CSR = Corporate Social Responsibility)

คือ ธุรกิจที่ปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมและมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นและสังคมในวงกว้างพร้อมทั้งการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพนักงานและครอบครัวของพนักงานให้ดีขึ้น

ธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม (CSR) นี้มีส่วนดำเนินการเพื่อสังคมมากขึ้น โดยกิจกรรมเหล่านั้นอาจไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจหลัก แต่เป็นการนำทรัพยากรที่มี หรือ กำไรส่วนเกินมาจัดสรรเพื่อสังคม เช่น นำพนักงานที่มีอยู่ในองค์กรไปทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ เช่น ปลูกป่า เก็บขยะ อาจมีกระบวนการบางส่วนที่เอาใจใส่ต่อสังคมอยู่บ้าง เช่น กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคลที่เป็นธรรมเป็นต้น

อย่างไรก็ตามธุรกิจในกลุ่มนี้โดยส่วนใหญ่ทำเพื่อต้องการลดแรงกดดันจากสังคม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กรเป็นหลักยังขาดความสมัครใจ (freewill) ที่จะทำดี เพราะเป้าหมายสำคัญขององค์กรยังคงเป็นกำไรสูงสุดและทำให้ผู้ถือหุ้นพึงพอใจอยู่เหมือนเดิม

3. ธุรกิจที่สร้างคุณค่าต่อสังคม (CSV= Corporate Social Value)
ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

มีลักษณะคล้ายกับ CSR คือ เป็นธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมแต่ CSV ต่างกับ CSR ตรงที่ CSV คือ ธุรกิจที่ทำเพื่อสังคมโดยการปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานให้ตรงกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องเน้นการสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ (value chain) เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณค่าต่อสังคม โดยไม่เพียงแต่แบ่งปันผลกำไร หรือทำกิจกรรมเพื่อการกุศลเหมือน CSR เท่านั้น

การทำ CSV นั้นยากกว่า CSR เพราะต้องคิดวิธีการและดำเนินการปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานใหม่เพื่อให้สามารถสร้างคุณค่าให้กับสังคมได้มากที่สุดและในการดำเนินการเหล่านั้นอาจทำให้เกิดต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น

และทำให้ผลตอบแทนที่องค์กรได้รับนั้นน้อยลง เช่น การใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและมีส่วนพัฒนาชุมชน การพัฒนาฝีมือแรงงาน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานลดการปล่อยคาร์บอนลดการใช้น้ำไฟฟ้า และน้ำมัน ในการผลิตเป็นต้น

ปัจจุบันมีการขับเคลื่อนเรื่อง CSV มากขึ้นในระดับโลก เช่น มีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชื่อ B lab ทำหน้าที่ประเมินและออกใบรับรอง “Certified B Corporation” หรือ Bcorp ซึ่งบริษัทที่จะผ่านเกณฑ์ต้องถูกประเมิน 5ส่วนคือ ด้านธรรมาภิบาล ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านแรงงาน ด้านชุมชน และด้านรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม เป็นต้น

4. ธุรกิจเพื่อการสร้างชาติ (CNB = Corporate Nation-Building)

ธุรกิจเพื่อการสร้างชาติ (CNB) คือ ธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมโดยเฉพาะ (exclusively for social mission) และเป็นธุรกิจที่มีความสมัครใจในการทำเพื่อส่วนรวมสูงสุด โดยในกระบวนการทำธุรกิจจะมีการตั้งเป้าหมายร่วมกับภาครัฐกิจ และภาคประชากิจในการขับเคลื่อนประเทศ

CNB จะมีส่วนเข้าไปสร้างคนให้ดี เก่ง กล้า มีอุดมการณ์และเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน และมีส่วนสร้างระบบของประเทศที่ทำให้คนในชาติอยู่กันอย่างเป็นระเบียบและเอื้อให้รัฐดูแลคนในชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งมีส่วนสร้างบริบทที่เอื้อให้คนและระบบในชาติทำหน้าที่ได้เต็มความสามารถ

ตัวอย่างของธุรกิจเพื่อการสร้างชาติ เช่น ผู้ประกอบการเพื่อสังคม (social enterprise) ที่ทำธุรกิจเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมาเลี้ยงองค์กรและนำกำไรที่ได้ทั้งหมดไปใช้ในการพันธกิจเพื่อสังคม หรือ ธุรกิจทั่วไปที่อุทิศกำไรหรือหุ้นของบริษัทในสัดส่วนที่ชัดเจนออกมาโดยเฉพาะเพื่อสนับสนุนองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรที่มีส่วนในการสร้างชาติโดยตรง เป็นต้น

ผมและ สถาบันการสร้างชาติ ได้พยายามผลักดันให้รัฐช่วยสนับสนุนและจับคู่ธุรกิจเพื่อการสร้างชาติกับปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศทุกด้านนอกจากนี้ยังมีแผนที่จะส่งเสริมธุรกิจเพื่อการสร้างชาติมากขึ้น ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหากประเทศไทยมีธุรกิจเพื่อการสร้างชาติมากขึ้น ธุรกิจเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศและสร้างชาติไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้นต่อไปครับ

Featured Image: Image by rawpixel.com on Freepik

Leave a Response