Friday, March 29, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak ChareonwongsakThailand4.0

ยุทธศาสตร์ชลบุรีสร้างชาติ: เมืองอุตสาหกรรม เมคาทรอนิกส์ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์

ขอเสนอแนวคิดการวางยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนา 8 จังหวัดหลัก ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนา EEC เศรษฐกิจสำหรับภาคตะวันออกในภาพรวม บทความนี้ขอเริ่มที่จังหวัดชลบรี

หัวข้อหนึ่งที่ผู้เขียนบรรยายเรื่อยมาในหลักสูตรนักบริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติภาคตะวันออก (นสช. EEC) รุ่นที่ 2 คือการบรรยาย เรื่อง ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดใน EEC ซึ่งผมได้เตรียมข้อมูลและทำการบรรยายให้ครบทั้ง 8 จังหวัด (EEC plus) ด้วยเหตุเพราะ EEC จะสามารถแข่งขันกับเขตเศรษฐกิจของคู่แข่งประเทศอื่นๆ ได้นั้น ต้องได้รับการชี้นำและการสนับสนุน

โดยแต่ละจังหวัดต้องมียุทธศาสตร์การพัฒนาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจสำหรับภาคตะวันออกในภาพรวม หรือที่ผมเรียกว่า BITA Economy กล่าวคือ Bio-Integrated Tourism-Automation Economy โดยในครั้งนี้ผมจะเริ่มกล่าวถึงยุทธศาสตร์จังหวัดชลบุรีเป็นลำดับแรก

ยุทธศาสตร์การพัฒนาชลบุรี กับ EEC

ชลบุรีมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP)  ร้อยละ 56 อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 42 ในภาคบริการ และร้อยละ 2 ในภาคเกษตร  ส่วนโครงสร้างแรงงานนั้นหากนับเฉพาะผู้มีงานทำ มีการจ้างงานร้อยละ 32.69 ในภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 63.15  ในภาคบริการ และร้อยละ 4.16 ในภาคเกษตร

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

ซึ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของชลบุรีขับเคลื่อนด้วยภาคอุตสาหกรรม และบริการเป็นหลัก และหากมองส่วนแบ่ง GPP ในภาคอุตสาหกรรมก็พบว่าอุตสาหกรรมในชลบุรีมีความหลากหลายมากกว่าจังหวัดอื่นๆ  นอกจากนั้นมูลค่า GPP ภาคบริการที่ใหญ่กว่าจังหวัดอื่นมาก (ห่างจากอันดับ 2 คือ ระยองกว่า 3 เท่าตัว)

โดยรายได้กว่าครึ่งของภาคบริการมาจากการท่องเที่ยว จากโครงการสร้างเศรษฐกิจ และ พื้นฐานของชลบุรี ผมจึงเสนอให้ชลบุรีเป็นเมืองอุตสาหกรรมเมคาทรอนิกส์ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 1. ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเมคาทรอนิกส์ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์

ปัจจุบันชลบุรีเป็นฐานการผลิตเครื่องมือ เครื่องจักร อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์  อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อำเภอศรีราชายังเป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ Thailand Digital Valley

ประกอบกับทิศทางของโลกกำลังจะเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 และสอดคล้องกับฐานอุตสาหกรรมในชลบุรีและภาคตะวันออก และ 5G เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะจำเป็นสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ

ผมจึงเสนอ ให้ชลบุรีเป็นเมืองอุตสาหกรรมเมคาทรอนิกส์ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นการบูรณาการของเทคโนโลยีใหม่ อาทิ 5G, อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง, เซ็นเซอร์อัจฉริยะ, การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่, ปัญญาประดิษฐ์, หุ่นยนต์ขั้นสูง เป็นต้น

ซึ่งในการส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าว ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่อไปนี้

1) โฟกัสที่ช่องว่างช่องว่างธุรกิจในระดับย่อย (sub-niche)

ไทยควรเลือกโฟกัสที่ช่องว่างช่องว่างธุรกิจในระดับย่อยของยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเมคาทรอนิกส์ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้มีการแข่งขันสูงจากประเทศชั้นนำทางเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยียังมีความหลากหลายสาขา

และยังสามารถประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลาย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะต่อยอดจากการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ส่งเสริมสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนจุดแข็งด้านการแพทย์ของไทย หรือ อุปกรณ์ด้านการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อสนับสนุนจุดแข็งด้านการเกษตร ตัวช่วยด้านการท่องเที่ยวอัจฉริยะ เพื่อสนับสนุนจุดแข็งด้านการท่องเที่ยว และหุ่นยนต์หรือปัญญาประเด็นสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น

2) พัฒนามหาวิทยาลัยระดับโลก (World Class University – WCU) ทางเทคโนโลยี

เนื่องจาก อุตสาหกรรมเมคาทรอนิกส์ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ที่ต้องบูรณาการเทคโนโลยีหลายสาขา ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ทักษะทางเทคโนโลยีระดับสูงเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นจึงควรเริ่มต้นจากการดึงมหาวิทยาลัยระดับโลก ด้านเมคาทรอนิกส์ มาตั้งใน EEC เช่น สร้างเมืองใหม่ ดึง มหาวิทยาลัยระดับโลก ด้านปัญญาประดิษฐ์ ของจีนมาตั้ง ดึงวัยแรงงานกลับภูมิลำเนา (Reverse brain drain) และให้ทุนเรียนต่างประเทศบนเงื่อนไข เป็นต้น

3) ขับเคลื่อนสู่ อุตสาหกรรมต้นน้ำ

เน้นกิจกรรมการออกแบบทางเทคโนโลยีซึ่งลงทุนไม่สูง และช่วยพัฒนาบุคลากรทางเทคโนโลยีก่อน เช่น การออกแบบชิป อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาซอฟต์แวร์ และซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว (embedded software) เพื่อบ่มเพาะสตาร์ทอัพ ด้านเมคาทรอนิกส์ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์

 4) เมกะโปรเจ็กต์ด้านการวิจัยและพัฒนา

เป้าหมาย คือ การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ รองรับผู้เชี่ยวชาญ และนักเรียนทุน ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อให้มีโอกาสใช้ความรู้ ความสามารถ อย่างเต็มที่ ไม่ใช่จบมาแล้วไม่มีอะไรให้ทำที่ตรงกับความรู้ เช่น โครงการพัฒนารัฐบาลอัจฉริยะ การพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และแผนงานหลักด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการสร้างชาติ

2. ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism)

มีการคาดว่าการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จะเติบโตไปอีก 8 ปีข้างหน้า (2017 – 2023) เฉลี่ยปีละร้อยละ 15 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (รวมประเทศไทยด้วย) คาดกันว่าตลาดนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 5 ล้านล้านบาท ประเทศอื่นๆ จึงทำการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ กันหมด เช่น ปีนัง สิงคโปร์ หรืออินเดีย ต่างก็ทำศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว – คนไข้ จากประเทศรอบบ้าน

อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมาดูจุดแข็งของเราจะพบว่าไทยมีการรักษาพยาบาลมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับมากกว่า โดยไทยมีโรงพยาบาลเอกชน 347 แห่งที่มีการแพทย์ทันสมัยเทียบเท่าระดับโลก อีกทั้งค่ารักษาถูก นอกจากนี้ยังสามารถช็อปปิ้ง และท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สามารถรองรับเหล่านักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้นยังมีจำนวนโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน Joint Commission International (JCI) ถึง 70 โรงพยาบาล มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ในปี 2562  ซึ่งหากแยกตามจังหวัด ชลบุรีมีจำนวนโรงพยาบาลเป็นรองแค่กรุงเทพเท่านั้น

จากข้อได้เปรียบดังกล่าว ชลบุรีจึงควรมียุทธศาสตร์ในด้านนโยบาย ดังนี้

1) กำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ (position) ของชลบุรีให้ชัดเจน

เพื่อแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง และกรุงเทพ ชลบุรี ควรมีตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะเก่ง การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในเรื่องใด โดยควรเลือก 1 ด้าน เพื่อเป็นจุดแกร่งของชลบุรี โดยปัจจุบันบริการทางการแพทย์ 4 ด้านที่เติบโตสุดในไทยตามลำดับ คือ เวชศาสตร์ชะลอวัยและสุขสภาพ การรักษาผู้มีบุตรยาก การบำบัดผู้ติดแอลกอฮอล์ ติดยา และบริการรีสอร์ตสุขภาพ หรืออาจพัฒนาทางเลือกอื่นเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้จังหวัด

2) พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน ชลบุรีมีโรงพยาบาล 34 แห่ง โดยในจำนวนนี้เป็นโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน JCI 5 แห่ง (2562) ภาครัฐในจังหวัดจึงควรส่งเสริมพัฒนาให้โรงพยาบาลที่เหลือในชลบุรี ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI ให้ครบเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานทางการแพทย์ในชลบุรีให้ทัดเทียมกับกรุงเทพ

3) วางแผนเตรียมกำลังคนให้เพียงพอ

ขยายความสามารถในการแข่งขันในโรงเรียนแพทย์ โดยให้ทุนการศึกษาและรับเข้าทำงาน โดยอาจพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพชั่วคราว สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ชาวต่างชาติเพื่อสามารถให้บริการในสถานพยาบาลเอกชนแก่ผู้ป่วย หรือเพื่อใช้ในการเรียนการสอนระดับหลังปริญญา อันจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานบุคลากรของไทย

4) ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับภาคเอกชน จัดงานมหกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสำหรับกลุ่มเป้าหมายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมกับจัดแพคเกจพิเศษด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดทั้งปี

นอกจากนั้นเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ ยังอาจใช้การจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการทางการแพทย์นานาชาติเพื่อให้มีการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการ  ซึ่งจะสามารถเจาะกลุ่มลูกค้าประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย

จากข้อเสนอข้างต้น จำเป็นที่ชลบุรีจะต้องได้รับและให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันโดยจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะจังหวัดฉะเชิงเทรา กับ ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ติดกับชลบุรี และมีศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรม แต่อยู่นอก EEC ซึ่งผมจะนำเสนอในโอกาสต่อไปครับ

Feature Image: Pattaya photo created by lifeforstock – www.freepik.com

Leave a Response