Monday, April 29, 2024
Case StudyeGovernmentThailand4.0

เทศบาลตำบลบางเสร่ โชว์ความสำเร็จ ระบบท้องถิ่นดิจิทัล แก้ปัญหาประชาชนในหนึ่งวัน

DGA
ดร.เพ่ง บัวหอม ปลัดเทศบาลตำบลบางเสร่

ตามดูโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัลของ DGA กลายเป็นคำตอบของเทศบาลบางเสร่ สร้างเวิร์คโฟลดิจิทัล ลดระยะเวลาแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนเสร็จในวันเดียว

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA นำคณะสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมความสำเร็จการพัฒนา ระบบท้องถิ่นดิจิทัล ของ เทศบาลตำบลบางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมี สมหวัง เอี่ยมดี นายกเทศมนตรี, ดร.เพ่ง บัวหอม ปลัดเทศบาล และผู้บริหารจากตำบลบางเสร่ ให้การต้อนรับ

เป็นโครงการนำร่อง ที่เทศบาลตำบลบางเสร่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานหน่วยงานภาครัฐสามารถบริหารจัดการและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลได้โดยง่าย สามารถจัดเก็บข้อมูล ติดตาม และให้บริการอย่างเป็นระบบ ลดต้นทุนในการดำเนินงานและให้บริการประชาชน

รู้จัก บางเสร่

เทศบาลตำบลบางเสร่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ 7.87 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,918 ไร่ ประกอบไปด้วย 8 ชุมชน มีประชาชนในทะเบียนราษฎร์ราว 1.1 หมื่นคน และประชาชนแฝงราว 5 พันคน

เช่นเดียวหน่วยงานระดับเทศบาลทั่วประเทศ เทศบาลตำบลบางเสร่ มีหน้าที่ รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความสะอาดของถนน ทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการ กําจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ป้องกันและระงับโรคติดต่อ สามารถการจัดกิจกรรมใดๆ เพื่อชุมชน

อาทิ ให้มีน้ำสะอาดหรือการประปา ให้มีและบํารุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่าง บํารุงและส่งเสริมการทำมาหากินของราษฎร รวมถึง มีอำนาจ และหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง

ความท้าทายของ เทศบาลตำบลบางเสร่

เทศบาลตำบลบางเสร่ เป็นหน่วยงานของรัฐที่สัมผัสกับประชาชนในท้องถิ่นโดยตรง ที่ผ่านมาการให้บริการประชาชน เช่น การรับเรื่องร้องเรียน ที่ต้องผ่านการขออนุมัติการก่อสร้างต่างๆ เป็นใปในรูปแบบ แมนนวล ต้องใช้เวลาในแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเรื่อง ผ่านกระบวนการพิจารณาของฝ่ายต่างๆ จนกว่าจะได้รับการแก้ไขก็กินเวลาหลายสัปดาห์ แม้จะเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่สามารถก้าวสู่การบริการดิจิทัลได้เต็มประสิทธิภาพ

การยกระดับการบริการของเทศบาล ไปสู่ระบบดิจิทัล จึงเป็นภารกิจสำคัญของเทศบาลบางเสร่ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงระบบดิจิทัล 2 ส่วนสำคัญคือ ระบบหลังบ้าน หรือกระบวนการภายใน ที่ต้องปรับให้เป็นดิจิทัล ทั้งเอกสาร กระบวนการพิจารณา และกระบวนการอนุมติ

อีกส่วนที่สำคัญคือ และเชื่อมต่อกันเป็นเวิร์คโฟล์ดิจิทัล คือ ระบบบริการประชาชน หรือหน้าบ้าน ที่ต้องสามารถให้บริการประชาชนได้แบบเบ็ดเสร็จ วัน สต็อป เซอร์วิส ซึ่งเมื่อสองระบบดังกล่าวทำงานประสานกันก็จะสามารถยกระดับบริการของเทศบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์กับประชาชน และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานรวมถึงฝ่ายบริหารของเทศบาล ที่มีอยู่เกือบ 200 ชีวิต

ดร.เพ่ง บัวหอม ปลัดเทศบาล กล่าวว่า “เทศบาลบางเสร่มีแผนยกระดับเทศบาลด้วยระบบดิจิทัลแบบ วัน สต็อป เซอร์วิส หรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาสู่กระบวนการบริการสาธารณะมาตั้งแต่ก่อนปี 2564 โดยมีการพัฒนาตามรูปแบบ เทศบาลเมืองแม่เหียะ หรือ แม่เหียะโมเดล ซึ่งเป็นรูปแบบบริการบนแอปพลิเคชันมือถือ”

“แต่ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ครบถ้วน เนื่องจากระบบแอปพลิเคชันนั้น พบปัญหาการที่ประชาชนต้องดาวน์โหลดแอปฯ และกินพื้นที่ในโทรศัพท์มือถือ ประกอบกับค้นทุนค่าใช้จ่ายในการใช้งานระบบยังสูง ทางเทศบาลจึงต้องมองหาระบบอื่นเข้ามาเพื่อยกระดับให้เป็นเทศบาลดิจิทัล” ดร.เพ่ง กล่าว

ระบบท้องถิ่นดิจิทัล จาก DGA คือคำตอบ

โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นดิจิทัล ของ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA ได้กลายเป็นคำตอบของเทศบาลบางเสร่ โดยเทศบาลฯ และ DGA ได้เริ่มตกลง MOU วางระบบและพัฒนาร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2564 นับเป็นโครงการนำร่องที่ในการใช้งานระบบท้องถิ่นดิจิทัลของประชาชนทั่วไปที่เข้ามาใช้บริการ

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ_DGA กล่าวว่า “การพัฒนา ระบบท้องถิ่นดิจิทัล ซึ่งเป็นก้าวแรกของการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลในระดับท้องถิ่น เพื่อช่วยสนับสนุนการบริหารงานและการให้บริการขององค์กรปกครองท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว”

“โดยปัจจุบันมี อปท. เข้ารับการอบรมแล้ว 659 หน่วยงาน ติดตั้งและใช้ระบบ 117 หน่วยงาน เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง สะดวกทุกที่ ทุกเวลา นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ได้ทั่วประเทศ”

“ระบบท้องถิ่นดิจิทัล เป็นระบบบริการประชาชนที่ประกอบด้วย 5 บริการหลัก คือ หนึ่ง ระบบบริหารจัดการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (OSS), สอง ระบบขออนุญาตก่อสร้าง (สำหรับพื้นที่ไม่เกิน 150 ตร.ม.) ประชาชนขออนุญาตได้ด้วยตนเอง ปักหมุดสถานที่ก่อสร้างผ่านระบบออนไลน์, สาม ระบบออกหนังสือรับรองแจ้งสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือสถานที่สะสมอาหารออนไลน์ ประชาชนขอหนังสือรับรองฯ ได้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์

สี่ ระบบชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ อาทิ ค่าขยะ ค่าบำบัดน้ำเสีย ผ่านระบบออนไลน์ โดยเพียงสแกน QR Code และ ห้า ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับหน่วยงาน/เจ้าหน้าที่รัฐ สามารถใช้งานระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรับ-ส่งหนังสือราชการกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ได้สะดวกรวดเร็วและประหยัดในการจัดพิมพ์เอกสารและจัดหาแฟ้มเก็บเอกสารอีกต่อไป” ดร.สุพจน์ กล่าว

แก้ปัญหาประชาชนได้ในหนึ่งวัน

จนถึงวันนี้ เทศบาลบางเสร่ได้ใช้งานระบบท้องถิ่นดิจิทัลของ DGA ได้ร่วมหนึ่งปี ดร.เพ่ง กล่าวถึงผลสำเร็จว่า “ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่หลากหลายผ่านช่องทางเดียวได้สะดวก ทุกที่ ทุกเวลา และยังสามารถติดตามสถานการณ์การดำเนินงานของตนเองได้ตลอดเวลา ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปติดต่อหน่วยงานภาครัฐเพื่อขอรับการบริการต่างๆ”

“เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชนได้อย่างเห็นได้ชัดเจน กล่าวคือ เทศบาลสามารถลดระยะเวลาในการแก้ปัญหาจากเรื่องร้องเรียนของประชาชนจาก 7 วัน ลดลงเหลือแค่วันเดียว”

“ขณะเดียวกันเทศบาลตำบลบางเสร่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานหน่วยงานภาครัฐสามารถบริหารจัดการและให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลได้โดยง่าย สามารถจัดเก็บข้อมูล ติดตาม และให้บริการอย่างเป็นระบบ ลดต้นทุนในการดำเนินงานและให้บริการประชาชน” ดร.เพ่ง กล่าว

ผู้บริหารเทศบาลบางเสร่ย้ำว่า “สำหรับระบบท้องถิ่นดิจิทัล 5 บริการดังกล่าว เทศบาลฯ มีค่าใช้จ่ายประมาณปีละ 1.2 แสนบาท และที่สำคัญสำหรับเทศบาลใดที่ต้องการปรับระบบไปใช้งานระบบนี้ สามารถเริ่มบริการได้ภายใน 2 วัน”

Dashboard แสดงผลระบบ วัน สต๊อบ เซอร์วิส ที่เทศบาลบางเสร่สามารถลดระยะเวลาในการแก้ปัญหาจากเรื่องร้องเรียนของประชาชนจาก 7 วัน ลดลงเหลือแค่วันเดียว
กุญแจแห่งความสำเร็จ ต้องเข้าใจและเข้าถึง

ดร.เพ่ง อธิบายเพิ่มเติมว่า “กุญแจแห่งความสำเร็จของเทศบาลบางเสร่นั้น ประกอบไปด้วยหลายปัจจัย ทั้ง คน กระบวนการ และเทคโนโลยี ทำงานร่วมกัน โดยเทศบาลยึดหลัก เข้าใจและเข้าถึง  ทั้งประชาชนและผู้ปฏิบัติงาน”

“ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานนั้น ต้องอาศัยหลักการบริหารความเปลี่ยนแปลง สื่อสารให้เข้าใจถึงประสิทธิภาพที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าในช่วงแรกจะมีการต่อต้านจากผู้ปฏิบัติงานบ้าง เพราะมองว่าเป็นการเพิ่มงาน แต่ในท้ายที่สุดแล้วพนักงานผู้ปฏิบัติงานก็สามารถปรับตัวใช้งานระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“สำหรับภาคประชาชน เทศบาลฯ ได้สร้างเครือข่ายเพื่อนบางเสร่ หรือ B-Buddy Bang Saray เป็นอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึง ไม่เข้าใจในระบบดิจิทัลของกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และประชาชนทั่วไป ให้มีความเข้าใจและเข้าถึงมากขึ้น เน้นความสำคัญในเรื่องของโอกาสประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าใช้บริการสาธารณะ”

“ซึ่งทีม B-Buddy จะมีการแจ้งถึงข้อมูล บัญหา ข้อคิดเห็น ที่ส่งตรงมายังเทศบาลด้วยระบบดิจิทัล และร่วมกันแยกแยะประเด็นร่วมกับทีมพนักงานของเทศบาลฯ แล้วส่งต่อให้ผู้บริหารแก้ปัญหา และหาแนวทางแก้ไข”

ระบบท้องถิ่นดิจิทัล ที่สร้างความโปร่งใส

ระบบท้องถิ่นดิจิทัล นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่เข้ามายกระดับการทำงานของเทศบาล สร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น สะดวก ลดต้นทุน ลดขั้นตอนแล้ว

ยังสามารถเข้ามาสร้างความโปร่งใสให้กับกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ลดการเรียกรับผลประโยชน์ ค่าเซ็นเอกสาร ค่าอนุมัติก่อสร้างต่างๆ เป็นโอกาสที่จะปรับทัศนคติของประชาชน เมื่อต้องเข้ารับบริการจากหน่วยงานท้องถิ่น ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยเงินใต้โต๊ะ ให้กลายเป็นทัศนคติเชิงบวกต่อหน่วยงานของรัฐ

และถึงแม้เราพบว่า ระบบท้องถิ่นดิจิทัลจะดีมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งสำคัญคือ การมองต่างมุมกันระหว่างข้าราชการประจำ กับกลุ่มการเมืองท้องถิ่น ซึ่งมักเกิดขึ้นในกระบวนการจัดซื้อระบบไอทีดิจิทัล ที่สุดท้ายแล้วเทศบาลฯ ได้ของไม่ดี ประชาชนใช้งานระบบไม่ได้ แต่มีคนอื่นที่ได้ผลประโยชน์จากกระบวนการนั้นไปแทน