Saturday, April 27, 2024
AIArticlesCloudLogTech

4 เทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์ที่ต้องจับตาในปี 2024

นอสตร้า โลจิสติกส์ แนะ 4 เทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์ที่ต้องจับตาในปี 2024 ชี้เทรนด์มาแรง เอไอ-คลาวด์-การลดคาร์บอนและ Asset-Light Logistics

อสตร้า โลจิสติกส์ ชวนจับตา 4 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ประจำปี 2024 นี้ ย้ำการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี คือ แนวทางจำเป็นของธุรกิจ ซึ่งเทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยี AI, การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์, การจัดการโลจิสติกส์แบบ Asset-Light Logistics และเทคโนโลยีคลาวด์

เผยรูปแบบระบบนิเวศทางโลจิสติกส์และซัพพลายเชนมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นหลังยุคการระบาดของ COVID-19 ชี้แนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์เดินหน้าลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพในคลังสินค้าและเครือข่ายการขนส่ง

วรินทร สีสุขดี ผู้อำนวยการอาวุโสส่วนซัพพลายเชนโซลูชัน-เทคโนโลยี บริษัท จีไอเอส จำกัด

วรินทร สีสุขดี ผู้อำนวยการอาวุโสส่วนซัพพลายเชนโซลูชัน-เทคโนโลยี บริษัท จีไอเอส จำกัด เปิดเผยภาพรวมสถานการณ์ของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีการปรับสมดุลของห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนไปอย่างมาก โดยเฉพาะการเพิ่มความยืดหยุ่นและกระจายความหลากหลายให้มากขึ้น

เช่น ซัพพลายเออร์ สถานที่ผลิต การจัดเก็บและกระจายสินค้า เครือข่ายการจัดจำหน่าย ตลอดจนการคมนาคมขนส่ง เมื่อทั่วโลกได้ตระหนักและเล็งเห็นปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลกเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ของระบบนิเวศทางโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ธุรกิจโลจิสติกส์จึงต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ พัฒนาขั้นตอนการทำงาน ใช้แนวทางปฏิบัติที่ทันสมัย และมีแนวทางเชิงกลยุทธ์อย่างรวดเร็ว พร้อมตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง

รวมทั้งการปรับตัวและการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอย่างทันท่วงที และสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด เพื่อให้เกิดการเจริญเติบโตของธุรกิจและห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ลดความเสี่ยง และสร้างการแข่งขันได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ รายงานจาก Gartner ยังเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการปรับตัวในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ว่า กว่า 50% ของบริษัทโลจิสติกส์และซัพพลายเชนต้องการลงทุนในเทคโนโลยีสำหรับการวิเคราะห์ขั้นสูง (Advanced Analytics) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ภายในปี 2024

โดยมีตัวอย่าง 10 อันดับ แนวโน้มการใช้นวัตกรรมในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ปี 2567 จากข้อมูลเชิงลึกของ StartUs (startus-insights.com) ได้แก่ IoT, AI, Robotics, Last Mile Delivery, Warehouse Automation, Blockchain, Data Analytics, Cloud Computing, Autonomous Vehicle และ Elastic Logistics

และจากสถานการณ์ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ทั่วโลก ธุรกิจโลจิสติกส์กำลังลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการในคลังสินค้าและเครือข่ายการขนส่ง โดยพบ 4 แนวโน้มสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่โดดเด่นและจำเป็นสำหรับธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ในปี 2024 ได้แก่

การใช้เทคโนโลยี AI

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ถือเป็นผู้นำในด้านการใช้ระบบกระบวนการอัตโนมัติ (Process Automation) และการใช้ Artificial intelligence (AI) เช่น หุ่นยนต์ ยานยนต์ การขนส่ง รวมถึงในระบบไอทีและซอฟต์แวร์ ด้วยอัลกอริธึมและแบบจำลองที่สามารถวิเคราะห์และนำเสนอประเภทข้อมูลที่หลากหลายสนับสนุนการตัดสินใจ เป้าหมายคือ ทำงานสำเร็จเร็วขึ้น เปลี่ยนงานที่ทำซ้ำๆ (Routine) ให้ระบบช่วยจัดการแทน หรือลดขั้นตอนการทำงานด้วยคนให้น้อยลง และลดข้อผิดพลาด

ระบบไอทีสำหรับการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ใช้ AI จะมีความสามารถในการบริหารจัดการและวางแผน เช่น การจัดสรรการใช้ทรัพยากรขนส่ง การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเส้นทางการจัดส่ง ทำให้เห็นสาเหตุเบื้องหลังปัญหาที่ไม่เป็นไปตามแผนและคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

เช่น ความล่าช้าหรือความเสี่ยงระหว่างการขนส่งจนถึงปลายทาง ตลอดจนช่วยปรับปรุงการสื่อสารแบบเรียลไทม์ระหว่างทีมโลจิสติกส์ เช่น การติดตามยานพาหนะขนส่งทำให้เห็นการขนส่งที่ออกนอกเส้นทางและสามารถใช้แชทบอท หรือ ผู้ช่วยเสมือนจริง (Virtual Assistant) สื่อสารแบบเรียลไทม์

ทั้งนี้ AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ ทำให้รับรู้ข้อมูล (Visibility) ได้ตลอดกระบวนการภายในโลจิสติกส์ซัพพลายเชน และสามารถจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทันที

การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์

การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint For Organization: CFO) เป็นแนวโน้มการดำเนินการที่ขาดไม่ได้ในปี 2024 เนื่องจากผู้บริโภคทั่วโลกต้องการความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนของคุณภาพชีวิตแก่โลกของเรามากขึ้น ผลักดันให้ธุรกิจทั่วโลกรวมถึงธุรกิจโลจิสติกส์ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร

เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า การจัดการของเสีย และการขนส่ง ดังนั้นธุรกิจโลจิสติกส์จึงลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้า การทำ Smart warehouse การใช้เทคโนโลยีบริหารการขนส่ง (Transportation Management System)

จัดเส้นทางขนส่งที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงน้อยลง การตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ และการตรวจเช็คประสิทธิภาพและบำรุงรักษารถขนส่งอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงและลดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จากความเสื่อมสภาพของเครื่องยนต์

การจัดการโลจิสติกส์แบบ Asset-Light Logistics

โมเดลโลจิสติกส์แบบ Asset-light เป็นแนวทางในการลดการพึ่งพาสินทรัพย์ในการดำเนินงาน ด้วยการจ้างบริษัทภายนอก (Outsource) ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนลดลงเมื่อเทียบกับการเป็นเจ้าของทรัพย์ด้วยตนเอง เช่น ยานพาหนะขนส่ง คลังสินค้า รวมถึงแรงงานที่ต้องใช้ในการดำเนินการ ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติความต้องการของบริษัทต่างๆ ต่อรูปแบบ Asset-Light Logistics ที่เพิ่มขึ้น

พบว่า 67.5% ของบริษัททั่วโลก ใช้บริการบริษัทขนส่ง (2PL, 3PL) และ 63.5% ใช้บริการด้านคลังสินค้าจากบริษัทเอาท์ซอร์ส โดยหัวใจของเทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์แพลตฟอร์มที่สำคัญ คือ จะต้องช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถมองเห็นและติดตามสินค้าของตนเองจากการขนส่งสินค้าโดยบริษัทเอาท์ซอร์สได้เช่นเดียวกับการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน

และช่วยให้สามารถเลือกและระบุบริษัทเอาท์ซอร์สที่เหมาะสมกับเงื่อนไขและสินค้าที่จะว่าจ้างขนส่ง โดยให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านประสิทธิภาพ ข้อกำหนดด้านต้นทุน และวัตถุประสงค์ทางธุรกิจโดยรวม

เทคโนโลยีบนคลาวด์

ข้อดีของการใช้เทคโนโลยีบนคลาวด์ คือ การลดต้นทุนด้านโครงสร้างระบบพื้นฐานและฮาร์ดแวร์ เพิ่มความคล่องตัวในการปรับขนาดการใช้งานเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ง่าย รวดเร็ว และลงทุนต่ำ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจควรเลือกโซลูชันเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบที่เกี่ยวข้องที่ใช้งานอยู่แล้วขององค์กรได้อย่างราบรื่น โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ทุกระบบ หรือไม่ต้องทำงานแยกระบบกัน เพื่อให้เกิดการทำงานแบบ Seamless Integration

สามารถใช้ข้อมูลสำคัญร่วมกันและเชื่อมต่อข้อมูลภายใต้ระบบนิเวศเทคโนโลยีเดียวกันตลอดทั้งองค์กร เช่น การเชื่อมต่อระบบบริหารงานขนส่ง TMS เข้ากับระบบ ERP ระบบบัญชี หรือระบบบริหารจัดการคลังเพื่อให้เห็นภาพรวม พร้อมวางแผนและจัดการทรัพยากรและต้นทุนค่าใช้จ่ายร่วมกันทั้งระบบ เป็นต้น

Featured Image: Image By freepik