Saturday, April 20, 2024
ArticlesData AnalyticsLogTech

EIC แนะนำผู้ให้บริการขนส่งพัสดุ เพิ่มประสิทธิภาพด้วย Predictive logistics

EIC แนะกลยุทธ์สำหรับผู้ประกอบการขนส่งพัสดุ ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ Big Data, หุ่นยนต์, และคลังสินค้าอัตโนมัติ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้วยการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานให้เกิดผลอย่างแท้จริง

นบทวิเคราะห์ ตลาดขนส่งพัสดุไทยในปี 2022 โดยศูนย์วิจัยอีไอซี (Economic Intelligence Center) หรือ EIC ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้แนะกลยุทธ์หลักที่ผู้ประกอบการขนส่งพัสดุสามารถนำมาปรับใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันพร้อมทั้งช่วยขยายสู่ตลาด Blue ocean ได้แก่

ประการแรกคือ การพัฒนาความเร็วในการจัดส่งพัสดุอย่างต่อเนื่อง ประการที่สอง การสร้าง strategic partnership หรือ M&A กับผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจ และสาม การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินการมากยิ่งขึ้น โดยในแต่ละเรื่องมีประเด็นรายละเอียดของแต่ละกลยุทธ์ ที่น่าสนใจคือ

กลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการขนส่งพัสดุไทยต้องพิจารณาในปี 2022

1. การพัฒนาความเร็วในการจัดส่งพัสดุอย่างต่อเนื่อง

ความเร็วในการขนส่งจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้ารวมถึงการตัดสินใจซื้อสินค้าจนมีคำกล่าวที่ว่าการขนส่งที่ดีคือการขนส่งที่เร็ว

อีกทั้ง ความต้องการของผู้บริโภคในด้านความเร็วของการขนส่งยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยจากในอดีตที่สามารถรอได้ถึง 7 วัน จนในปัจจุบันที่ผู้บริโภคคาดหวังให้สินค้าส่วนใหญ่สามารถส่งถึงได้ภายใน 2-3 วัน และภายในวันเดียวในบางสินค้า

ทำให้คาดว่าในอนาคตการขนส่งสินค้าจะต้องยิ่งพัฒนาให้รวดเร็วยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภคเป็นภายใน 1-2 วันหรือกลายเป็นภายในไม่กี่ชั่วโมง

ด้วยเหตุนี้ นอกจากผู้ประกอบการต้องรักษาความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการให้บริการขนส่งอย่างต่อเนื่องแล้ว จะต้องเร่งพัฒนาความเร็วในการขนส่งซึ่งนอกจากการใช้วิธีการขยายเครือข่ายและเพิ่มบุคลากรแล้ว ยังมีอีกหลายวิธีที่จะช่วยให้สามารถจัดส่งสินค้าได้รวดเร็วขึ้น ได้แก่

  1. การเพิ่มความร่วมมือกับผู้ขายสินค้าเนื่องจากการจัดส่งสินค้าต้องอาศัยความเร็วทั้งจากการ fullfillment และการขนส่ง ดังนั้น การเสนอบริการ integrated supply chain จะเป็นอีกวิธีที่ช่วยเพิ่มความเร็วได้ โดยผู้ขนส่งจะสามารถบริหารจัดการสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพครบทั้งกระบวนการตั้งแต่ขั้นตอนแพ็กสินค้าจนถึงการส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค
  2. การจัดตั้งคลังสินค้าภายในตัวเมือง (urban warehouses) ซึ่งเป็นวิธีที่กำลังเป็นที่นิยมในต่างประเทศเพราะจะทำให้กระบวนการจัดส่งสินค้าอยู่ใกล้ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยจะมีลักษณะเป็นคลังสินค้าขนาดเล็ก (micro fulfillment center) และตั้งกระจายตัวอยู่ในแหล่งชุมชนหรือย่านช้อปปิ้ง ทั้งนี้แม้ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้ง urban warehouses จะสูงกว่าคลังสินค้าทั่วไปเนื่องจากอยู่ในตัวเมือง แต่ผู้ประกอบการจะสามารถบรรเทาค่าใช้จ่ายได้จากการลดลงของต้นทุนค่าขนส่งขั้นสุดท้ายสู่ผู้บริโภค (last mile) กับต้นทุนสินค้าคงคลัง โดย IKEA ได้เริ่มเปิดศูนย์กระจายสินค้า fulfillment ในย่านช้อปปิ้งแล้วในยุโรป และเตรียมเปิดในไทยในย่านชอปปิ้งบริเวณพร้อมพงษ์ที่ Emsphere และ
  1. การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มความเร็วการขนส่ง อย่างเช่นหุ่นยนต์อัตโนมัติ คลังสินค้าอัตโนมัติ หรือการบริหารโลจิสติกส์ด้วยการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ (predictive logistics)

นอกจากนี้ เนื่องจากความคาดหวังในด้านความเร็วในการขนส่งของผู้บริโภคในแต่ละสินค้ามีความแตกต่างกัน ทำให้ผู้ประกอบการอาจจะเริ่มจากในสินค้าบางกลุ่มที่เป็นที่ต้องการก่อน

โดยจากการสำรวจของ McKinsey พบว่าสินค้าที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ คาดหวังว่าจะได้รับภายใน 1 วัน ได้แก่ อาหาร, ของใช้อุปโภคบริโภค, ผลิตภัณฑ์ความงาม ขณะที่ สินค้าอื่นๆ ผู้บริโภคคาดว่าจะได้รับสินค้าไม่เกิน2 วัน เช่น อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

2. การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ หรือการควบรวมกิจการกับผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจต่างๆ เพื่อต่อยอดการให้บริการกับธุรกิจหลักของตนเอง

บทวิเคราะห์โดย: ปุญญภพ ตันติปิฎก

นอกจากการสร้างพันธมิตรกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์ม E-commerce ที่เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญแล้ว ผู้ประกอบการควรสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ เพื่อเสริมจุดแข็งและปิดจุดอ่อนของตน เช่น การร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่มีการขยายช่องทางออนไลน์ (e-retailer) เพื่อเจาะตลาดกลุ่มลูกค้า B2C มากยิ่งขึ้น

การร่วมมือกับกลุ่ม delivery driver app เพื่อเพิ่มบริการขนส่งแบบ near instant delivery และการร่วมมือกับกลุ่มร้านค้าและกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อขยายการให้บริการในตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market)

ทั้งนี้ Kerry Express ได้นำวิธีสร้างความร่วมมือทางธุรกิจและการเข้าซื้อกิจการที่เอื้อประโยชน์ในระยะยาวมาเป็นกลยุทธ์สำคัญของบริษัท โดยร่วมมือกับ Grab ในการให้บริการเข้ารับพัสดุหน้าบ้านรวมถึงบริการเข้ารับพัสดุรายชั่วโมง

ทำธุรกิจแบบร่วมค้า (joint venture) กับ Betagro ให้บริการ Kerry Cool สำหรับขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบแช่เย็นและแช่แข็ง และทำธุรกิจแบบร่วมค้ากับเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ในการให้บริการ Kerry XL สำหรับขนส่งสินค้า bulky เป็นต้น

3. การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเช่น Big Data, หุ่นยนต์, และคลังสินค้าอัตโนมัติ มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานให้เกิดผลอย่างแท้จริง

จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ, ช่วยรองรับปริมาณสินค้าที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้, ช่วยสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าจากความเร็วและความถูกต้องในการจัดส่ง และลดความเสี่ยงจากการเกิดปัญหาดิสรัปชันด้านการผลิตและขนส่ง ดังเช่นในสถานการณ์ COVID-19

โดยสามารถนำไปใช้ได้ตลอดทั้งกระบวนการดำเนินงาน (end-to-end supply chain) ตั้งแต่การวางแผนการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data-driven marketing) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้วยการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ (predictive logistics) ซึ่งช่วยให้สามารถขนส่งสินค้าได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

หรือวิธีการบริหารโลจิสติกส์ที่มุ่งเน้นความยืดหยุ่น (elastic logistics) เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และการยกระดับการดำเนินการด้านคลังสินค้าและขนส่งโดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างเช่น หุ่นยนต์ คลังสินค้าอัตโนมัติ ยานยนต์อัตโนมัติ และโดรน

รวมถึงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและ green logistics ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการและเติบโตแบบยั่งยืนได้ นอกจากนี้ การลงทุนในสตาร์ตอัปด้านโลจิสติกส์ (LogTech) ก็จะช่วยต่อยอดและพัฒนารูปแบบการให้บริการใหม่ๆ แก่ผู้ประกอบการได้

ภาพรวมของตลาดขนส่งพัสดุไทยในปี 2022

สำหรับภาพรวมตลาดขนส่งพัสดุไทยในปี 2022 นั้น EIC รายงานว่า ตลาดขนส่งพัสดุไทย (Parcel Delivery) ในช่วงปี 2019-2021 เติบโต ในระดับสูงที่ราว 38% CAGR และมีมูลค่ากว่า 9.1 หมื่นล้านบาทในปี 2021 เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์หรือ E-commerce มากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะในช่วงที่มีการใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ซึ่งส่งผลให้มูลค่าตลาด E-commerce ในปี 2019-2021 เติบโตถึงราว 46%CAGR

สำหรับในปี 2022 มูลค่าตลาดขนส่งพัสดุไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ราว 17%YOY มีมูลค่าราว 1.06 แสนล้านบาท และมีปริมาณขนส่งพัสดุเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 7 ล้านชิ้นต่อวัน จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป มีความคุ้นชินและพึงพอใจในการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นจนกลายเป็น new normal ของผู้บริโภค

สภาวะการแข่งขันและสงครามราคายังมีแนวโน้มรุนแรงต่อไปในปี 2022

การเข้ามาให้บริการของผู้ประกอบการขนส่งพัสดุรายใหญ่หลายรายตั้งแต่ปี 2019 ได้ส่งผลให้สภาวะการแข่งขันในตลาดขนส่งพัสดุดุเดือดและรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านราคาเพื่อขยาย/แย่งชิงส่วนแบ่งตลาด และทำให้อัตราค่าจัดส่งพัสดุเริ่มต้นลดลงจาก 35-40 บาทต่อชิ้น เหลือเพียง 15-20 บาทต่อชิ้น

สำหรับในปี 2022 การแข่งขันด้านราคายังมีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่องจากที่ผู้เล่นรายใหญ่ยังคงใช้กลยุทธ์ด้านราคา อีกทั้ง ยังมีผู้เล่นอีกหลายรายที่เร่งขยายการให้บริการ

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการลดลงของค่าจัดส่งพัสดุจากการแข่งขันอาจจะค่อนข้างจำกัดเนื่องจากอัตราค่าจัดส่งพัสดุในปัจจุบันได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มให้บริการไม่คุ้มทุนแล้ว และมีบางรายที่ยังขาดทุนต่อเนื่องหลายปีหรือแม้กระทั่งปิดกิจการไป ยิ่งไปกว่านั้น ต้นทุนดำเนินการของผู้ประกอบการก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น

EIC ประเมินเทรนด์การให้บริการขนส่ง 4 เทรนด์ที่กำลังเติบโตและจะกลายเป็นโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งพัสดุในการขยายบริการสู่ตลาดใหม่ๆ ได้แก่

  1. เทรนด์การให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
  2. เทรนด์การให้บริการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ หรือแบบไม่เต็มคันรถ (Less than Truckload: LTL)
  3. เทรนด์การให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร และ
  4. เทรนด์การให้บริการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบบด่วนทั้งสินค้าแบบแช่เย็นและแช่แข็ง

อย่างไรก็ดี เนื่องจากในบางตลาดมีผู้เริ่มให้บริการบ้างแล้ว ผู้ประกอบการควรพิจารณาให้รอบคอบและเลือกให้บริการในตลาดที่สามารถอาศัยจุดแข็งของตนหรือจากพาร์ทเนอร์ในการต่อยอดทำธุรกิจในอนาคตข้างหน้า

ธุรกิจขนส่งพัสดุยังมีความท้าท้ายที่ต้องเผชิญอีกหลายประการ และส่งผลให้ต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและขยายสู่ตลาดใหม่ๆ ในอนาคต ผู้ประกอบการขนส่งพัสดุจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในหลายประการ ได้แก่

ต้นทุนการดำเนินการที่เพิ่มขึ้นกับกำลังซื้อที่อ่อนแอลง, การแข่งขันจากธุรกิจแอปพลิเคชันบริการขนส่งเดลิเวอรี่, และการพัฒนาด้านโลจิสติกส์สีเขียวและความยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการขนส่งควรเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดย 3 วิธีที่ผู้ประกอบการสามารถนำมาปรับใช้ได้แก่ 1. การพัฒนาความเร็วในการจัดส่งพัสดุอย่างต่อเนื่อง 2. การสร้าง strategic partnership หรือ M&A กับผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจ และ 3. การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินการมากยิ่งขึ้น

Featured Image: Industrial automation photo created by vanitjan – www.freepik.com