Saturday, April 27, 2024
ArticlesCybersecurity

เตือน 3 ภัยคุกคามเด็กวัยเรียน พร้อมเคล็ดลับสำหรับผู้ปกครอง

แคสเปอร์สกี้เตือนผู้ปกครองชาวไทยให้ระวังอันตรายในโลกออนไลน์ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงสูงต่อเด็กวัยเรียนหรือเด็กที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต

ลนซ์ สปิตซ์เนอร์จากสถาบัน SANS Institute ได้สรุป ภัยคุกคาม หลักสามประการต่อเด็กที่เติบโตมาในโลกที่เชื่อมต่อกันด้วยอินเทอร์เน็ต ในโพสต์บนบล็อกของแคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) ดังนี้

  1. คนแปลกหน้า: นักล่าทางเพศ การขู่กรรโชกทางเพศ การฉ้อโกง
  2. เพื่อน: การกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต การเล่นแกล้งกันแรงๆ การขู่กรรโชกทางเพศ การเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี
  3. ตนเอง: การแชร์เรื่องส่วนตัวมากเกินไป การส่งข้อความเรื่องเพศทางโทรศัพท์ การกลั่นแกล้ง การดาวน์โหลดหรือแชร์เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย

จากการศึกษาเรื่อง Disrupting Harm in Thailand 2022 ที่จัดทำโดยองค์กร UNICEF, ECPAT และ Interpol พบว่า การเรียนรู้แบบดิจิทัลช่วยให้เด็กๆ เข้าสู่สภาพแวดล้อมดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ และเด็กก็ใช้เวลาออนไลน์เป็นจำนวนมาก

ในปี 2564 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอายุ 12-17 ปีในประเทศไทยจำนวน 400,000 คน หรือคิดเป็น 9% ตกเป็นเหยื่อของการแสวงหาประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์ ซึ่งรวมถึงการแบล็กเมล์หรือขู่กรรโชกเด็กให้ทำกิจกรรมทางเพศ แชร์ภาพทางเพศโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือบังคับให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเพศโดยสัญญาว่าจะให้เงินหรือของขวัญ

สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือจำนวนการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่นั้นน้อยเกินไป โดยมีเด็กเพียง 1-3% เท่านั้นที่แจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นให้ตำรวจทราบ

รายงานของแคสเปอร์สกี้ ยังเปิดเผยว่า Generation Z หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 11-26 ปี เป็นผู้แชร์ข้อมูลออนไลน์มากเกินไป โดยเชื่อว่าแท้จริงแล้วคนกลุ่มนี้มีความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยออนไลน์ แต่เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงมากที่สุด

ผู้ตอบแบบสำรวจประมาณ 55% ยอมรับว่าได้ใส่ข้อมูลส่วนบุคคลของตนไว้ในช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น ชื่อ วันเกิด และสถานที่ ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ (72%) ไม่สามารถแยกแยะกลโกงฟิชชิงได้ และ 26% สารภาพว่าตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง

เซียง เทียง โยว ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้

เซียง เทียง โยว ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แคสเปอร์สกี้ กล่าวว่า “สมัยก่อนพ่อแม่มักกังวลเรื่องสมุดรายงานตัวของบุตรหลาน แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว พ่อแม่คนไทยก็เหมือนกับพ่อแม่ทั่วโลกที่กำลังเลี้ยงดูบุตรหลานในยุคที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกันมากเกินไป”

“และยังมีข้อกังวลสำคัญคือบุตรหลานของตนจะตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์หรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันเด็กๆ มีความเสี่ยงที่จะถูกคนแปลกหน้าล่อลวง ถูกรังแกทางออนไลน์ และข้อมูลส่วนบุคคลก็อาจถูกขโมยในโรงเรียนได้”

เซียง เทียง กล่าวเสริมว่า “จากมุมมองด้านความปลอดภัย ไม่สำคัญว่าคุณอายุ 6 ปีหรือ 56 ปี เราอาศัยอยู่ในโลกที่ทุกคนเป็นพลเมืองดิจิทัล และร่องรอยทางดิจิทัลของเราก็กำลังขยายออกไปในทุกๆ วัน”

“หาก ณ จุดนี้ ผู้ใหญ่เองยังตกหลุมพรางของอาชญากรไซเบอร์ แล้วจะคาดหวังให้เด็กๆ รู้ว่าควรหลีกเลี่ยงอะไรในโลกไซเบอร์ได้อย่างไร ดังนั้นการปกป้องเด็กๆ จึงควรเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของเราในฐานะผู้ปกครอง”

แคสเปอร์สกี้ขอแนะนำเคล็ดลับสำหรับผู้ปกครองดังนี้

1, พูดคุยกับลูกๆ เป็นประจำ ในการสำรวจ Parents fear for kids’ online safety, but aren’t putting time in to talk about it Kaspersky’s Family Campaign Report September 2019 โดยแคสเปอร์สกี้ ได้สำรวจผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุระหว่าง 7-12 ปี จำนวน 8,793 คน

พบว่าผู้ปกครอง 58% ยอมรับว่าใช้เวลาพูดคุยเกี่ยวกับความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตกับเด็กๆ น้อยกว่า 30 นาที มีผู้ปกครองเพียง 11% เท่านั้นที่บอกว่าใช้เวลามากกว่าสองชั่วโมงพูดคุยกับลูกๆ เกี่ยวกับอันตรายดังกล่าว

Source: Parents fear for kids’ online safety, but aren’t putting time in to talk about it Kaspersky’s Family Campaign Report September 2019, แคสเปอร์สกี้

นักจิตวิทยาชื่อดัง เอ็มมา เคนนี แนะนำให้ใช้เวลาสิบนาทีทุกวันก่อนนอน เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กๆ เจอในแต่ละวัน รวมถึงกิจกรรมออนไลน์ของเด็กๆ ด้วย ควรให้เด็กๆ เล่าข้อดีและข้อเสียที่เด็กๆ เจอทางออนไลน์ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้การสนทนาเกี่ยวกับการป้องกันอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องปกติ แต่ยังมีส่วนช่วยในแนวทางไซเบอร์สมาร์ทเพื่อความปลอดภัย

2. หาความรู้ให้ตนเองและบุตรหลาน ผู้ปกครองจะรู้สึกมั่นใจในการพูดคุยกับลูกๆ เกี่ยวกับโลกไซเบอร์ก็ต่อเมื่อตนเองมีความเข้าใจด้วยเท่านั้น ผู้ปกครองควรใช้เวลาอ่านเทรนด์ใหม่ๆ เกมและแชนแนลใหม่ๆ เพื่อให้เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อกิจกรรมออนไลน์ของบุตรหลาน ควรพูดคุยกับบุตรหลานเกี่ยวกับเทคโนโลยีและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าบางทีผู้ปกครองคุณต้องแกล้งทำไม่เป็น และขอให้เด็กๆ ช่วยตั้งค่าบัญชีโซเชียลมีเดียให้ เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันมากขึ้น

ผู้ปกครองควรให้ความรู้เด็กๆ เกี่ยวกับ ภัยคุกคาม ทางไซเบอร์หรือการละเมิดความปลอดภัยที่ได้ยินหรือได้เห็นมา โดยสามารถอ่านคำแนะนำมากมายบนเว็บเกี่ยวกับความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต เช่น ในบล็อกของแคสเปอร์สกี้

3. สร้างบรรยากาศที่เปิดกว้างและสบายใจ สถานการณ์ในอุดมคติคือผู้ปกครองต้องระวังหากมีสิ่งใดทำให้บุตรหลานรู้สึกไม่สบายใจ ถูกคุกคาม หรือไม่มีความสุข ผู้ปกครองควรจัดการกับการกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ตเหมือนกับการกลั่นแกล้งในชีวิตจริง นั่นคือ หากเด็กๆ ได้รับข้อความข่มขู่หรือไม่เหมาะสม ควรกระตุ้นให้เด็กๆ กล้าเปิดใจและพูดคุยกับผู้ใหญ่ที่เชื่อใจได้ (โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครอง)

4. กำหนดขอบเขต สร้างกฎพื้นฐานที่ชัดเจนและเหมาะสมตามวัยของบุตรหลาน ทั้งสิ่งที่ยอมรับได้และสิ่งที่ไม่ควรทำทางออนไลน์ ผู้ปกครองควรอธิบายว่าเหตุใดจึงมีการใช้กฎเหล่านี้ และบอกเด็กๆ ให้ทราบถึงผลที่ตามมาจากการไปในที่ที่ไม่ควรหรือใช้เทคโนโลยีเมื่อไม่ควรใช้

ตัวอย่างคือเช่น การแชร์รูปภาพออนไลน์ที่จะปรากฎอยู่บนอินเทอร์เน็ตตลอดไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบเมื่ออายุมากขึ้นและทำงานในอาชีพที่สำคัญ การช่วยกำหนดขอบเขตการกระทำเพื่อป้องกันผลที่อาจเกิดขึ้น และหมั่นทบทวนสิ่งเหล่านี้เมื่อลูกๆ โตขึ้น

5. ใช้ทรัพยากรที่มี ผู้ปกครองไม่สามารถติดตามกิจกรรมออนไลน์ของบุตรหลานได้ตลอด 24 ชั่วโมง วิธีการที่ชาญฉลาดคือการใช้ซอฟต์แวร์ควบคุมโดยผู้ปกครอง (parental control) ที่เชื่อถือได้ เพื่อสร้างกรอบการใช้งานอินเทอร์เน็ตสำหรับสิ่งที่ยอมรับได้

เช่น ออนไลน์ได้เวลาใด นานแค่ไหน เนื้อหาใดที่ควรถูกบล็อก หรือกิจกรรมใดที่ควรถูกบล็อก (ห้องสนทนา ฟอรัม และอื่นๆ) ผู้ปกครองสามารถกำหนดค่าตัวกรองการควบคุมโดยผู้ปกครองสำหรับโปรไฟล์คอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกันได้ ซึ่งช่วยให้สามารถปรับแต่งตัวกรองสำหรับบุตรหลานแต่ละคนได้

หากซื้อสมาร์ทโฟนให้บุตรหลาน ให้พิจารณาว่านี่ไม่ใช่แค่โทรศัพท์ แต่เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีความซับซ้อน มาพร้อมกับการควบคุมโดยผู้ปกครองที่สามารถกรองเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมออกไปได้

นอกจากนี้ ผู้ปกครองยังมีตัวเลือกในการปกป้องอุปกรณ์ของบุตรหลานโดยใช้เทคโนโลยีอื่นๆ เช่น ซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้ผู้ปกครองทำหน้าที่ปกป้องเด็กๆ จากเนื้อหาไม่พึงประสงค์ และยังช่วยค้นหาโทรศัพท์ที่สูญหายหรือถูกขโมย ที่ต้องสามารถทำงานได้ทั้งบน iOS และ Android

อย่าลืมใช้การตั้งค่าที่ได้รับจาก ISP ผู้ผลิตอุปกรณ์ และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของคุณ ตัวอย่างเช่น โทรศัพท์ส่วนใหญ่อนุญาตให้ผู้ปกครองตั้งค่าไม่ให้เด็กๆ ซื้อในแอปได้ ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เสียเงินจำนวนมากเมื่อเด็กๆ เล่นเกมผ่านมือถือ

6. ขอความช่วยเหลือ การเลี้ยงลูกไม่มีคู่มือ ผู้ปกครองต้องค่อยๆ เรียนรู้ และยอมรับหากทำผิดพลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ปกครองแต่ละคนมีสไตล์การเลี้ยงลูกแตกต่างกันเป็นเรื่องปกติ ควรเลือกสิ่งที่ใช่สำหรับตนเองและครอบครัว หากเกิดสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ ควรขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในท้องถิ่น

Featured Image: Image by standret on Freepik