Friday, April 26, 2024
ArticlesSustainability

3 เทคโนโลยีเกิดใหม่ ช่วยสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

การ์ทเนอร์เผยเทคโนโลยีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมจะเริ่มนำมาใช้แพร่หลายภายในปี 2568 ประกอบด้วย Cloud Sustainability, Carbon Footprint Measurement และ Advanced Grid Management Software ที่จะสร้างแรงกระเพื่อมต่อธุรกิจเป็นวงกว้างภายใน 1-3 ปี

แอนเน็ต ซิมแมร์มันน์ รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์ กล่าวว่า “ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมไม่ควรต้องเป็นความรับผิดชอบของอุตสาหกรรมเพียงไม่กี่แห่ง ถ้าเรื่องสภาวะภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองแล้ว เรื่องของ ธุรกิจที่ยั่งยืน ต้องมีความสำคัญระดับโลก”

“การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Net-Zero Economy) จะสร้างปรากฎการณ์อย่างยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือการปฏิวัติทางดิจิทัล ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยี รูปแบบธุรกิจ กลยุทธ์และกระบวนการใหม่”

เส้นทางสู่อนาคตของ Net-Zero จะสร้างโอกาสใหม่ๆ แก่ผู้ให้บริการทางด้านเทคโนโลยีที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีรองรับการสร้างธุรกิจยั่งยืน การ์ทเนอร์ได้ระบุ 3 เทคโนโลยีเกิดใหม่ 3 ประการ ที่จะสร้างผลกระทบโดยตรงต่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่

1. ความยั่งยืนของคลาวด์ (Cloud Sustainability)
แอนเน็ต ซิมแมร์มันน์ รองประธานฝ่ายวิจัยของการ์ทเนอร์

Cloud Sustainability คือ แนวทางการใช้บริการคลาวด์เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้านความยั่งยืนภายในระบบเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งประกอบด้วยการดำเนินการที่ยั่งยืนและการส่งมอบบริการคลาวด์โดยผู้ให้บริการ ตลอดจนการบริโภคและการใช้บริการคลาวด์อย่างยั่งยืน

“บริการคลาวด์สาธารณะนำเสนอศักยภาพด้านความยั่งยืนที่ยอดเยี่ยมด้วยความสามารถในการรวมศูนย์การดำเนินงานด้านไอทีโดยเป็นการดำเนินการที่ปรับได้โดยอาศัยโมเดลบริการที่ใช้ร่วมกัน ส่งผลให้ประสิทธิภาพของการประมวลผลสูงขึ้น

โดยผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะยังมีความสามารถเฉพาะในการลงทุนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านความยั่งยืน อาทิ ย้ายที่ตั้ง คลาวด์ดาต้าเซ็นเตอร์ ให้อยู่ใกล้แหล่งพลังงานหมุนเวียน” ซิมแมร์มันน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า

ในอีกสามปีข้างหน้า ผู้ให้บริการระบบคลาวด์จะอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นกับการจัดหากลยุทธ์ด้านสภาวะอากาศที่โปร่งใสพร้อมกับแผนงานที่ชัดเจน โดย การ์ทเนอร์ คาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบริการคลาวด์แบบไฮเปอร์สเกลจะเป็นเกณฑ์หนึ่งในสามอันดับแรกในการตัดสินใจซื้อระบบคลาวด์

2. การประเมินด้านรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint Measurement)

รอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) คือ ปริมาณการปล่อยมลพิษที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ สำหรับรอยเท้าคาร์บอนของผลิตภัณฑ์หรือบริการทางเทคโนโลยีจะครอบคลุมขอบเขตการปล่อยมลพิษสามประการ ได้แก่

ขอบเขตที่ 1: การปล่อยโดยตรงจากเจ้าของหรือที่มาที่ได้อยู่ในการควบคุม

ขอบเขตที่ 2: การปล่อยทางอ้อมที่เกิดจากกระบวนการผลิตพลังงานที่ซื้อมา

ขอบเขตที่ 3: การปล่อยทางอ้อมอื่นๆ ทั้งหมด (ที่ไม่รวมอยู่ในขอบเขตที่ 2) เกิดขึ้นในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของหน่วยงานที่จัดทำรายงาน รวมถึงการปล่อยจากต้นน้ำและปลายน้ำ

ซึ่งการปล่อยมลพิษในขอบเขตที่ 3 เป็นการวัดผลที่ท้าทายที่สุด แต่ในบางองค์กรการปล่อยก๊าซฯ นั้นคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 95% ของปริมาณการปลดปล่อยทั้งหมด

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าจะเห็นการนำเทคโนโลยีการวัดค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไปใช้อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากองค์กรต่างๆ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการปล่อยมลพิษทั้ง 3 ประเภทและจัดทำรายงานความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งการเติบโตของเครื่องมือวัดผลเหล่านี้ได้รับแรงสนับสนุนมาจากการเพิ่มจำนวนของเซ็นเซอร์ตรวจจับด้านสิ่งแวดล้อมที่เปิดใช้งานเทคโนโลยี IoT ทั้งปริมาณ คุณภาพ และเวลาในการรวบรวมข้อมูล ที่ใช้น้อยลง

“ท้ายที่สุด ทุกองค์กรจะต้องลงทุนในเครื่องมือวัดผลคาร์บอน รวมถึงซอฟต์แวร์โซลูชันที่ทำให้การวัดคาร์บอนที่โปร่งใสและคำแนะนำในเชิงปฏิบัติที่กำลังถูกนำไปใช้เพิ่มขึ้น โดยการ์ทเนอร์คาดว่าการเติบโตจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับความสามารถในการรวมระบบที่จะมีความคืบหน้ามากขึ้น” ซิมแมร์มันน์ กล่าวเพิ่มเติม

Sustainability

3. ซอฟต์แวร์การจัดการกริดขั้นสูง (Advanced Grid Management Software)

Advanced Grid Management Software ประกอบด้วย ระบบวัดค่าและควบคุมเครื่องจักร (Supervisory Control and Data Acquisition (SCADA) ระบบการจัดการพลังงานจากสาธารณูปโภค และความสามารถใหม่ในการปฏิบัติงานแบบเรียลไทม์

ซึ่งได้รับมาจากโมเดลการเรียนรู้ทางกายภาพและเครื่องจักร ซึ่งซอฟต์แวร์นี้ถูกนำมาใช้โดยผู้ปฏิบัติงานระบบไฟฟ้าสำหรับตรวจสอบและควบคุมแหล่งพลังงานทั่วทั้งโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบและชะลอการลงทุนขององค์กร

การ์ทเนอร์ คาดว่าปัจจุบันมีองค์กรประมาณ 5-20% ลงทุนซอฟต์แวร์การจัดการกริดขั้นสูง และจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหนึ่งถึงสามปีข้างหน้า โดยภายในปี 2569 การ์ทเนอร์คาดกว่า 60% ของโครงการลงทุนจากบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดจะมุ่งเน้นด้านพลังงานหมุนเวียนความเสี่ยงต่ำ

“ความท้าทายหลักของผู้ให้บริการโครงข่ายกริดคือการจัดการความแปรปรวนของกระแสไฟฟ้าและความผันแปรของโปรไฟล์พลังงาน ซึ่งซอฟต์แวร์การจัดการกริดขั้นสูงจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน เปลี่ยนบริษัทสาธารณูปโภคไฟฟ้าแบบเดิมให้กลายเป็นผู้จัดการโครงข่ายที่มีประสิทธิภาพที่สามารถสร้างสมดุลระหว่างความไม่เสถียรที่เกิดจากการเพิ่มปริมาณพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ต่อเนื่อง” ซิมแมร์มันน์ กล่าวเพิ่มเติม

บริษัททั่วโลก ลงทุนคลาวด์ เพื่อลดการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์

นอกจากนั้น นักวิจัยของ การ์ทเนอร์ อิงค์ อีกหนึ่งคน ยังเปิดเผยถึง แนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยบริการคลาวด์แบบไฮเปอร์สเกลจะเป็น 1 ใน 3 เกณฑ์สำคัญสำหรับพิจารณาเลือกซื้อระบบคลาวด์ขององค์กรธุรกิจภายในปี 2568

เอ็ด แอนเดอร์สัน รองประธานฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์

เอ็ด แอนเดอร์สัน รองประธานฝ่ายวิจัยการ์ทเนอร์ วิเคราะห์ว่า “จากแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กรที่หันมาให้ความสำคัญและจัดทำรายงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (หรือ ESG) มากขึ้น พบว่ามีองค์กรมากกว่า 90% เพิ่มการลงทุนในโครงการด้านความยั่งยืนตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่หากเทียบกับปี 2560

โดยผู้ให้บริการชั้นนำด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์และด้านบริการแพลตฟอร์มต่างให้ความสำคัญกับแนวทางยกระดับองค์กรให้เติบโตไปอีกขั้นด้วยการปฏิบัติตามกฎระเบียบ พร้อมตระหนักถึงปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม”

“บริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกลงทุนอย่างจริงจังเพื่อดำเนินการและการส่งมอบระบบคลาวด์ที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อลดการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในสิบปีหรือเร็วกว่านั้น

การ์ทเนอร์คาดว่าด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่เพิ่มขึ้น จะช่วยให้องค์กรสามารถคำนวณและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยบริการคลาวด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แบบเดียวกับเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายบนคลาวด์ ณ ปัจจุบัน”

“ผู้ให้บริการระบบคลาวด์รายใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรก คำนวณจากรายได้ที่คิดเป็น 70% ของมูลค่าการใช้จ่ายด้านไอทีทั้งหมดด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ แพลตฟอร์มและบริการแอปพลิเคชันต่างๆ เป็นผู้ริเริ่มความคิดในการนำระบบคลาวด์มาสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรต่างๆ

โดยบางรายนั้นเป็นผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก และมีความสำคัญอย่างมากต่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในด้านไอที แม้ผู้ให้บริการคลาวด์จะมีแนวทางการสร้างความยั่งยืนที่ชัดเจน แต่การที่จะบรรลุเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนฯ เป็นศูนย์รวมถึงกลยุทธ์ที่นำมาใช้นั้นกลับต่างกันมาก

เนื่องจากตัวชี้วัดความยั่งยืนและเครื่องมือที่ใช้ยังพัฒนาไปไม่ถึงขั้นสุดและบางครั้งมีความไม่โปร่งใส นั่นทำให้องค์กรประเมินผลกระทบด้านความยั่งยืนที่แท้จริงของการใช้งานระบบคลาวด์ในปัจจุบันได้ยาก” แอนเดอร์สัน กล่าวเพิ่มเติม

“แม้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะผลักดันให้องค์กรต่างๆ ปรับปรุงแนวทางด้านความยั่งยืน โดยผู้ให้บริการที่มีศักยภาพจะแบ่งปันข้อมูลความยั่งยืนขององค์กรต่อสาธารณะ ซึ่งกลายเป็นการเพิ่มแรงกดดันแก่ผู้มีส่วนได้เสียเมื่อพวกเขาต้องรวบรวมข้อมูลของบริษัทเพื่อเปิดเผย ปฏิบัติตามกฎระเบียบ และรายงานให้ทุกคนรับทราบ” แอนเดอร์สัน สรุป