Saturday, April 20, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

กลยุทธ์คืนชีพท่องเที่ยว

ขอเสนอกลยุทธ์ระดับนโยบายรัฐ ในการฟื้นคืนชีพการท่องเที่ยวไทยประเทศ ที่ควรกำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว โดยตั้งอยู่บนต้นทุนที่เป็นจุดแข็งของประเทศ 4 ด้าน คือ อาหาร การท่องเที่ยว การบริการสุขสภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ

ก่อนวิกฤตโควิด ภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สร้างรายได้ให้ประเทศไทยประมาณร้อยละ 20 ของ GDP หรือประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท โดยมีรายได้มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.93 ล้านล้านบาท และนักท่องเที่ยวไทย 1.08 ล้านล้านบาท

ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวกระจายไปสู่ธุรกิจสายการบิน การเดินเรือ ธุรกิจรถเช่าโรงแรม ร้านอาหาร และยังมีธุรกิจอื่นที่ได้รับประโยชน์โดยอ้อม โดยเฉพาะเศรษฐกิจท้องถิ่นเศรษฐกิจภาคการเกษตร และภาคบริการอื่นๆ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการจ้างงานทั้งโดยตรงและโดยอ้อมถึงประมาณ 8 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของกำลังแรงงานของประเทศ

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

ทันทีที่โลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนทำให้ต้องปิดกั้นการเดินทางระหว่างประเทศ จึงเป็นการตัดแหล่งรายได้หลักของคนไทยนับล้านโดยทันที แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ

แต่ยังไม่เพียงพอที่จะฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวของประเทศ เพราะรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด

ปัจจุบัน เมื่อโลกได้ค้นพบวัคซีน และหลายประเทศได้มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้ว จึงทำให้มีแนวโน้มที่โลกจะเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น

ภารกิจคืนชีพให้ภาคท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญลำดับแรกๆ สำหรับประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวอย่างไทยผู้เขียนขอเสนอกลยุทธ์ระดับนโยบายรัฐในการฟื้นคืนชีพการท่องเที่ยวไทย ดังต่อไปนี้

1) ยกมาตรฐานสุขอนามัยตลอดห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวในยุคหลัง COVID-19 นักท่องเที่ยวจะให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านสุขอนามัยในการให้บริการมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในการเดินทางท่องเที่ยวแต่ละทริป นักท่องเที่ยวจะได้รับบริการจากธุรกิจท่องเที่ยวจำนวนมาก ตั้งแต่บริการด้านการเดินทาง การขนส่ง โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก หรือแม้แต่กิจกรรมการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวและในชุมชน

การพัฒนามาตรฐานด้านสุขอนามัยของการท่องเที่ยว จำเป็นต้องพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตลอดเส้นทาง และทุกกิจกรรมของการท่องเที่ยวโดยนอกจากการยกระดับมาตรฐานของแต่ละสถานประกอบการแล้ว ภาครัฐควรมีมาตรการในการพัฒนามาตรฐานของทั้งแหล่งท่องเที่ยว หรือตลอดเส้นทางการท่องเที่ยวด้วย เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย

2) ส่งเสริมการฝึกอบรมทักษะในยุคปกติใหม่

ภาครัฐควรใช้โอกาสที่ผู้ประกอบการและแรงงานภาคท่องเที่ยวยังว่างงานหรือมีงานน้อยจัดฝึกอบรมทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยเน้นเจาะจงในทักษะการประกอบการและการให้บริการด้านการท่องเที่ยวในยุคปกติใหม่ (new normal) เช่น แนวปฏิบัติที่ดีด้านสุขอนามัยการใช้เทคโนโลยีในการให้บริการการให้บริการแบบไร้การสัมผัส การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่ให้ประสบการณ์ด้านสุขภาพ เป็นต้น

รวมทั้งการฝึกอบรมทักษะอาชีพอื่นๆ และทักษะสำหรับโลกหลัง COVID-19 ตลอดจนการพัฒนาตลาดนัดแรงงานภาคท่องเที่ยวผ่านแพลตฟอร์มตลาดแรงงานออนไลน์เพื่อย้ายแรงงานภาคการท่องเที่ยวไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่น

3) ออกวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีภูมิคุ้มกัน

ในช่วงเวลาที่ประชาชนในหลายประเทศเริ่มได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ประเทศไทยควรเปิดรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และได้รับการตรวจแล้วว่าไม่ติดเชื้อโรค รวมทั้งไม่ได้อาศัยในประเทศหรือเมืองที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง ให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้มากขึ้น

โดยการร่วมมือระหว่างประเทศในการออกวัคซีนวีซ่า หรือประกาศนียบัตรรับรองภูมิคุ้มกัน (Immunity Certificate) ให้กับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และเร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวและประชาชนในเมืองท่องเที่ยวหลัก เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เฉพาะท้องถิ่นเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรคหากเกิดการติดเชื้อ

4) จัดหาและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันโรค

แม้โลกจะมีวัคซีนแล้ว แต่การฉีดวัคซีนให้ประชากรจำนวนมากในโลกจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโลกยังไม่สามารถผลิตวัคซีนเพียงพอแก่ประชากรส่วนใหญ่ของโลก วัคซีนหลายชนิดมีต้นทุนในการขนส่งและกระจายวัคซีนสูงมาก ยิ่งกว่านั้นการฉีดวัคซีนให้คนนับล้านต้องใช้เวลายาวนาน และไม่มีการรับรองว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วจะไม่ติดเชื้ออีก

ด้วยเหตุนี้ หนทางที่จะทำให้ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่ในระยะเวลาที่สั้นลง คือ การจัดหาและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันโรค ที่มีประสิทธิภาพและสะดวกสบายมากกว่าการใส่หน้ากากอนามัยและการรักษาระยะห่าง ซึ่งในปัจจุบัน ทั่วโลกมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่า สามารถป้องกันเชื้อโควิดได้ภาครัฐจึงควรมุ่งไปสู่การแสวงหาและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันโรค ซึ่งอาจจะเป็นทางออกสำหรับการท่องเที่ยวที่รวดเร็วกว่าการฉีดวัคซีน

5) ปรับสู่การดึงดูดนักท่องเที่ยวระยะยาว

ผมคาดการณ์ว่า โลกในอนาคตจะเกิดโรคระบาดถี่มากขึ้น เนื่องจากผู้คนอาศัยอยู่ในเมืองมากขึ้น และเดินทางข้ามประเทศมากขึ้น ทำให้มีโอกาสจะเกิดโรคระบาดรวดเร็วมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยควรปรับโครงสร้างของนักท่องเที่ยว โดยเน้นการดึงดูดนักท่องเที่ยวระยะยาวมากขึ้น

เพราะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความอ่อนไหวต่อวิกฤตการณ์หรือสถานการณ์โรคระบาดน้อยกว่านักท่องเที่ยวระยะสั้น ยังสอดคล้องกับจุดแข็ง 4 ด้าน หรือ 4 niches ของประเทศไทยในมุมมองของผมคือ อาหาร การท่องเที่ยว การบริการสุขสภาพ (wellness) และการดูแลผู้สูงอายุ

ผมเสนอว่า ประเทศไทยควรกำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว โดยตั้งอยู่บนจุดแข็งของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาให้ประเทศเป็นเมืองหลวงการท่องเที่ยวสุขสภาพของโลก และเมืองหลวงของบริการดูแลผู้สูงอายุของโลก เนื่องจากไทยมีบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ มีสินค้าและบริการด้านสุขสภาพที่มีเอกลักษณ์

ขณะที่ประชาชนให้ความเคารพผู้สูงอายุและมีใจบริการ รวมทั้งยังมีอาหารที่อร่อยและหลากหลาย มีทรัพยากรการท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม โดยต้นทุนการครองชีพไม่สูงมากนัก ภาครัฐจึงควรกำหนดนโยบายเพื่อดึงนักท่องเที่ยวระยะยาวเหล่านี้ เข้ามาท่องเที่ยวและพำนักระยะยาวในประเทศไทยมากขึ้น

โดยเฉพาะการดึงคนเก่งจากทั่วโลก ในวัย 50 ต้นๆ เข้ามาทำงาน และเกษียณอายุในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มบุคลากรที่มีคุณภาพแล้ว ยังเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศด้วย

แม้การท่องเที่ยวยังไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่กลยุทธ์ข้างต้นอาจเปิดโอกาสและช่องทางให้การท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักมีชีวิตชีวา และมอบความหวังให้กับนักธุรกิจและพ่อค้าแม่ค้าให้กลับมามีกำลังใจในการผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้ครับ