Friday, March 29, 2024
ArticlesFinTech

ผลสำรวจการเติบโต การชำระเงินแบบเรียลไทม์ ในประเทศไทย

Real time Payment

เอซีไอ เวิลด์ไวด์ เผยผลการศึกษาล่าสุดชี้ธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์ในไทยเพิ่มขึ้นสองเท่าจากปี 2563 เพราะการแพร่ระบาดของ COVID-19 เร่งให้มีการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

อซีไอ เวิลด์ไวด์ และโกลบอลดาต้า เผยแพร่รายงาน Prime-Time for Real Time ประจำปี 2564 ซึ่งทำการตรวจสอบและวิเคราะห์ปริมาณการชำระเงินแบบเรียลไทม์ การเติบโต และพลวัตความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเป้าหมาย 48 แห่งทั่วโลกประเทศไทยครองอันดับ 4 ของโลกในด้านจำนวนการทำธุรกรรมแบบเรียลไทม์ในปี 2563 ตามหลังอินเดีย จีน และเกาหลีใต้

รายงานระดับโลกฉบับล่าสุดจากเอซีไอ เวิลด์ไวด์ และโกลบอลดาต้าระบุว่ามีการประมวลผลธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์ (Real time Payment) กว่า 5.24 พันล้านรายการในประเทศไทยในช่วงปี 2563 เพิ่มขึ้น 104 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (2.57 พันล้านรายการ)

ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้มีการเปลี่ยนวิธีการชำระเงินจากการใช้เงินสดไปสู่การชำระเงินแบบเรียลไทม์ผ่านระบบดิจิทัลอย่างรวดเร็วและกว้างขวางมากขึ้น

รายงาน Prime-Time for Real-Time ฉบับนี้เป็นฉบับที่สอง โดยฉบับแรกตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2563 ได้วิเคราะห์ปริมาณการชำระเงินบัญชีต่อบัญชีแบบเรียลไทม์ทั่วโลก รวมถึงข้อมูลคาดการณ์สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 48 แห่งทั่วโลกคาดการณ์ว่าการชำระเงินแบบเรียลไทม์ในไทยจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 32.01 เปอร์เซ็นต์สำหรับช่วงปี 2563 ถึง 2568 ซึ่งสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตทั่วโลก (23.6 เปอร์เซ็นต์)

Real time Payment ในไทยมีการเติบโตแบบปีต่อปีสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งโดยมากแล้วเป็นผลมาจากการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทยในการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการด้านการเงิน โดยนำเสนอสิทธิประโยชน์ทางการเงินที่หลากหลายให้แก่ประชาชนผ่านระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์

ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดตัว พร้อมเพย์ (PromptPay) ซึ่งเป็นระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์ของไทย เมื่อปี 2559โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) มีจุดมุ่งหมายเพื่อรองรับการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการจากรัฐบาล และในช่วงที่ผ่านมา ระบบดังกล่าวได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็วในหมู่ประชาชนและองค์กรธุรกิจ

เนื่องจากประชาชนหลายล้านคนทั่วโลกจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและการดำเนินชีวิต รวมถึงการซื้อสินค้า/บริการ และการชำระเงิน ดังนั้นเทคโนโลยีใหม่ๆ จึงมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วการปรับใช้โมบายล์วอลเล็ท (Mobile Wallet) ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 83.9% ในช่วงปี 2563 เปรียบเทียบกับ 72.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562

สถานการณ์การแพร่ระบาดส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคและแนวทางการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ ธนาคาร ผู้ค้า และคนกลางในระบบนิเวศน์การชำระเงินในไทยต้องตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการเปลี่ยนย้ายไปใช้ระบบดิจิทัลเพื่อรักษาช่องทางรายได้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งมองหาช่องทางใหม่ๆ ผ่านการให้บริการลูกค้าผ่านระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

สรุปข้อมูลสำคัญจากการสำรวจ
การเติบโตของระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์ในไทย

• จำนวนธุรกรรมแบบเรียลไทม์ทั้งหมดในช่วงปี 2563 อยู่ที่ 5.24 พันล้านรายการ เพิ่มขึ้น 104 เปอร์เซ็นต์จาก 2.57 พันล้านในปี 2562 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 21 พันล้านภายในปี 2568
• ส่วนแบ่งเรียลไทม์ของธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทยในช่วงปี 2563 อยู่ที่ 50.3 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจาก 36.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562 และคาดว่าจะอยู่ที่ 76.9 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2568
• มูลค่าของธุรกรรมแบบเรียลไทม์เพิ่มขึ้น 62.9 เปอร์เซ็นต์จากปี 2562 โดยเพิ่มขึ้นจาก 443 พันล้านดอลลาร์ เป็น 717 พันล้านดอลลาร์ และคาดว่าอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) จนถึงปี 2568 จะอยู่ที่ 26.69 เปอร์เซ็นต์
• การปรับใช้โมบายล์วอลเล็ทในไทยเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 83.9% เปอร์เซ็นต์ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 72.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562

Real time Payment
Thailand Real-Time Real time Payments Volume
Real time Payment
Thailand Share of Real time Payment Volumes by Payment Instrument
การเติบโตของระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์ทั่วโลก

• จำนวนธุรกรรมแบบเรียลไทม์ทั้งหมดในช่วงปี 2563 อยู่ที่ 70.3 พันล้านรายการ เพิ่มขึ้น 41 เปอร์เซ็นต์จาก 50.0 พันล้านในปี 2562
• ส่วนแบ่งเรียลไทม์ของธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกในช่วงปี 2563 อยู่ที่ 9.8 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจาก 7.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562 และคาดว่าจะอยู่ที่ 17.4 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2568
• มูลค่าของธุรกรรมแบบเรียลไทม์เพิ่มขึ้น 32.8 เปอร์เซ็นต์จากปี 2562 โดยเพิ่มขึ้นจาก 69 ล้านล้านดอลลาร์ เป็น 92 ล้านล้านดอลลาร์ และคาดว่าอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) จนถึงปี 2568 จะอยู่ที่ 12 เปอร์เซ็นต์

10 ประเทศที่มีจำนวนธุรกรรมเรียลไทม์มากที่สุดในโลกในปี 2563

• อินเดียยังคงครองอันดับสูงสุด โดยมีธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์ 25.5 พันล้านรายการ รองลงมาคือ จีน ซึ่งมีธุรกรรม 15.7 พันล้านรายการส่วนเกาหลีใต้ครองอันดับ 3 ด้วยจำนวนธุรกรรม 6.0 พันล้านรายการ ไทยครองอันดับ 4 ด้วยจำนวนธุรกรรม 5.2 พันล้านรายการ และสหราชอาณาจักรอยู่อันดับ 5 โดยมีจำนวนธุรกรรม 2.8 พันล้านรายการ
• ไนจีเรียตามมาเป็นอันดับ 6 ด้วยธุรกรรม 1.9 พันล้านรายการ ส่วนญี่ปุ่นอยู่อันดับ 7 โดยมีธุรกรรม 1.7 พันล้านรายการ
• บราซิลไต่อันดับสูงขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 8 สืบเนื่องจากการเปิดตัวระบบ PIX โดยจำนวนธุรกรรมอยู่ที่ 1.3 พันล้านรายการ เพิ่มขึ้น 58 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบปีต่อปีระหว่างปี 2562 และ 2563 และคาดว่าบราซิลจะมีอันดับสูงขึ้นอีกในปีหน้า จากการคาดการณ์อัตราการเติบโตต่อปีในระยะเวลา 5 ปีที่ 25.3 เปอร์เซ็นต์
• สหรัฐฯ ครองอันดับ 9 ด้วยจำนวนธุรกรรม 1.2 พันล้านรายการ และเม็กซิโกครองอันดับ 10 ด้วยจำนวนธุรกรรม 942 ล้านรายการ

ประเทศที่การชำระเงินแบบเรียลไทม์มีการเติบโตเร็วที่สุด

• ประเทศที่ครองอันดับสูงสุดคือ โครเอเชีย โดยคาดว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) จะอยู่ที่ 374.4 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2563 ถึง 2568 รองลงมาคือ โคลัมเบีย (112.7 เปอร์เซ็นต์), มาเลเซีย (83.9 เปอร์เซ็นต์), เปรู (74.4 เปอร์เซ็นต์) และฟินแลนด์ (71.4 เปอร์เซ็นต์)
• คาดว่าภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด (CAGR ในช่วงปี 2563-2568) คือ อเมริกาเหนือ (36.5 เปอร์เซ็นต์) เนื่องจากทั้งแคนาดาและสหรัฐฯ ดำเนินการผลักดันและปรับปรุงระบบเรียลไทม์รูปแบบใหม่ให้ทันสมัย (RTR และ FedNow)

การปรับใช้โมบายล์วอลเล็ททั่วโลก

• การปรับใช้โมบายล์วอลเล็ทเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 46 เปอร์เซ็นต์ในปี 2563 โดยเพิ่มขึ้นจาก 40.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2562 และ 18.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2561
• จำนวนธุรกรรมโมบายล์วอลเล็ททั้งหมดอยู่ที่ 102.7 พันล้านรายการในปี 2563 และคาดว่าจะแตะระดับ 2,582.8 พันล้านรายการภายในปี 2568

การฉ้อโกงการชำระเงิน

• ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก การฉ้อโกงที่เกี่ยวเนื่องกับบัตรชำระเงินยังคงอยู่ในระดับสูงสุดในแง่ของกรณีปัญหาที่ได้รับการรายงานจากผู้บริโภค แต่การฉ้อโกงที่เกี่ยวเนื่องกับระบบชำระเงินแบบเรียลไทม์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2562 ถึง 2563 เนื่องจากคนร้ายพุ่งเป้าไปที่ช่องทางใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น
• การหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงินแบบเรียลไทม์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในส่วนของการใช้อุบายหลอกลวง (12.5 เปอร์เซ็นต์เพิ่มเป็น 13.7 เปอร์เซ็นต์), การโจรกรรมเอกลักษณ์บุคคล (6 เปอร์เซ็นต์เพิ่มเป็น 11.6 เปอร์เซ็นต์) และการแฮกบัญชีดิจิทัลวอลเล็ท (4.4 เปอร์เซ็นต์เพิ่มเป็น 6.2 เปอร์เซ็นต์)

Leave a Response