Friday, September 20, 2024
CybersecurityNEWS

เปิดบ้าน ACW South เตรียมพร้อมรับมือภัยไซเบอร์ สู่การขับเคลื่อน Smart manufacturing

ACW

ACW SOUTH มีเป้าหมายในการช่วยภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขีดความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์และอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะของไต้หวัน

ารเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเป็นมากกว่าแค่การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับบุคคล ธุรกิจ และรัฐบาล เพราะอาจสร้างความเสียหายทั้งต่อเศรษฐกิจและความมั่นคง ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วดังนั้นมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่ง เพื่อปกป้องข้อมูลและการทำงานบนออนไลน์จึงมีความสำคัญมาก

รัฐบาลไต้หวันได้วางแนวการทำงานเชิงรุก โดยการจัดตั้ง Tainan Cybersecurity Park ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิตรองรับการทำงานร่วมกัน

ภายใน Tainan Cybersecurity Park ยังมีศูนย์ความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ ACW SOUTH-Art of Cyber War ของประเทศไต้หวัน เพื่อการพัฒนาวิจัย ส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะ ภายใต้กระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน (MODA) เป็นอีกหนึ่งศูนย์ด้านไซเบอร์ที่มีบทบาทและความร่วมมือทำงานในการป้องกันทางไซเบอร์ข้ามชาติ เพื่อความมั่นคงทางไซเบอร์

และการมีส่วนร่วมระหว่างภาคการศึกษามหาวิทยาลัย-อุตสาหกรรม-รัฐบาล ในการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต และได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลและสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ก่อตั้งขึ้นในปี 2019 โดยเป็นศูนย์กลางความปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งแรกของไต้หวัน

ACW_SOUTH มีเป้าหมายในการช่วยภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขีดความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ส่งเสริมความร่วมมือข้ามโดเมนและการสร้างความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมความปลอดภัยทาง ไซเบอร์และอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะของไต้หวัน

รวมทั้งยังเป็นพื้นที่บ่มเพาะความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อการพัฒนาวิจัยของภาคอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะ หรือ Smart manufacturing เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ ที่เป็นการผสานรวมเทคโนโลยีขั้นสูง

เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ข้อมูลขนาดใหญ่ คลาวด์คอมพิวติ้ง และอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Thing) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและเพิ่มคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความยืดหยุ่นด้านการผลิต

ทั้งนี้ในการผลิตอัจฉริยะยังมีโจทย์ความท้าทายที่สำคัญ คือ ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ อาทิเช่น การละเมิดข้อมูล การโจมตีทางไซเบอร์ การติดมัลแวร์ และการก่อวินาศกรรม ซึ่งภัยคุกคามเหล่านี้สามารถสร้างความเสียหายให้กับระบบการผลิตและข้อมูลสำคัญ

ส่งผลให้เกิดการสูญเสียที่มีมูลค่ามหาศาล และการหยุดชะงักในการดำเนินงาน รวมถึงอันตรายทางกายภาพอีกด้วย ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือ และการป้องกัน รวมทั้งเฝ้าระวังไม่ให้กระทบกับภาคการผลิตจึงต้องมีการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน

พร้อมกันนี้ยังมีศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานสีเขียว (The Green Energy Technology Demonstration Site) Shalun Smart Green Energy Science City (SGESC) และบริการด้านอื่นๆ อาทิ สนามทดสอบความปลอดภัยทางไซเบอร์ การทดสอบการเจาะระบบ การจำลองสถานการณ์การโจมตีทางไซเบอร์และการป้องกัน การทดสอบผลิตภัณฑ์ และการให้คำปรึกษาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ การประเมินช่องโหว่ ข่าวกรองภัยคุกคาม และอื่นๆ

ในส่วนของการวิจัยและพัฒนาได้ช่วยให้การพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยทางไซเบอร์ขั้นสูงทำให้สามารถปกป้องระบบที่สำคัญ ปกป้องข้อมูล และตอบโต้ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นใหม่ได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้การให้บริการของศูนย์ฯ จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาและป้องกันความปลอดภัยไซเบอร์ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะที่จะมีประโยชน์กับทุกภาคส่วนภายใต้นโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาลไต้หวัน ที่มีเป้าหมายตาม “แผนพัฒนาความปลอดภัยข้อมูลแห่งชาติ” เพื่อการบูรณาการและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะภาคอุตสาหกรรม

พร้อมยังมีการส่งเสริมผู้ประกอบการ โดยการส่งเสริมนวัตกรรมด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และการเป็นผู้ประกอบการ และการสนับสนุนสตาร์ทอัพ รวมถึงผู้ประกอบการในโดเมนความปลอดภัยทางไซเบอร์ในโปรแกรมการบ่มเพาะ การให้คำปรึกษา และการเข้าถึงเงินทุนและทรัพยากรต่างๆ

ซึ่งสิ่งนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่สามารถเปลี่ยนแนวคิดเชิงนวัตกรรมสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่มีความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมประเทศไต้หวันในฐานะผู้นำระดับโลกด้านนวัตกรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์

นอกจากนี้ใน ACW SOUTH ยังมีวิศวกรคนไทยที่ได้ทำงานในสถาบันเทคโนโลยีความปลอดภัยทางไซเบอร์กับศูนย์วิเคราะห์และป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ โดยได้ร่วมให้ความรู้ครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ Tainan Cybersecurity Park เป็นศูนย์กลางสำหรับการวิจัยความปลอดภัยทางไซเบอร์ การทำงานร่วมกัน นวัตกรรม และการศึกษา มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมความปลอดภัยทางไซเบอร์ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

บ่มเพาะนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ และสร้างความตระหนักด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ สู่การเป็นศูนย์กลางระดับโลกสำหรับความเป็นเลิศด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และมีส่วนร่วมในการรักษาความปลอดภัยในอนาคตในยุคดิจิทัล