“สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) ให้ข้อมูลความคืบหน้า โครงการแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ (NDTP) ดึงเอกชน 3 รายเข้าร่วมทดสอบส่งเอกสารทางการค้าเข้าระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) หน่วยงานเอกชน ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก ทำหน้าที่ให้คำแนะนำข้อมูลทางธุรกิจ และผลักดันการดำเนินการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิทัลสำหรับการค้าระหว่างประเทศ
ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และพันธมิตรผู้ประกอบการภาคเอกชน ให้ข้อมูลความคืบหน้า โครงการแพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (NDTP) ที่เป็นความคาดหวังให้กลายเป็นแพลตฟอร์มกลางระดับประเทศเพื่อเชื่อมต่อการค้าดิจิทัลระหว่างเอกชนต่อเอกชนในภูมิภาค
กอบศักดิ์ ดวงดี ผู้แทน สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) กล่าวว่า “หนึ่งในกลยุทธ์ 5 ด้านของ ABAC คือ การผลักดันด้าน Digital Working Group ซึ่งเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล, การเร่งนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า
และการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่สำคัญเพื่อเร่งความเร็วของระบบดิจิทัลของเศรษฐกิจและการรวมเข้ากับระบบดิจิทัล ของการค้าระหว่างประเทศ”
“โดยโครงการที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนการค้าระหว่างประเทศไปสู่ระบบดิจิทัล จะมี 2 ส่วน คือ
หนึ่ง โครงการ แพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศของไทย (NDTP) ซึ่งเป็นโครงการที่ขับเคลื่อนโดย มูลนิธิคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคเอกชน 3 สถาบัน คือ สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และสมาคมธนาคารไทย”
“ที่เริ่มต้นทำงานกันมาตั้งแต่ปี 2019 เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการในส่วนของการค้าของภาคเอกชนกับเอกชน (B2B) และไปเชื่อมต่อกับกระบวนการในส่วนของ เอกชนต่อรัฐ (B2G) และรัฐต่อรัฐ (G2G) ซึ่งดำเนินการภายใต้ ระบบ National Single Window (NSW) ของรัฐฯ ที่บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและ ภาคธุรกิจ สำหรับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์รองรับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศ”
และ โครงการที่สองคือ การเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มประเทศคู่ค้า ในระดับเอกชนกับเอกชน ระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมไปถึงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”
แพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ NDTP ปูทางสู่การค้าระหว่างประเทศดิจิทัล
NDTP คือ แพลตฟอร์มสำหรับผู้ส่งออกและผู้นำเข้าเพื่อใช้ติดต่อ ประสานงาน ส่งและรับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่เกี่ยวข้องในการส่งออกและนำเข้ากับหน่วยงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐในประเทศ และส่งต่อไปให้คู่ค้าในต่างประเทศ สำหรับการส่งออก หรือรับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการนำเข้า
จุดมุ่งหมายและประโยชน์ของการจัดตั้งและพัฒนา NDTP คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของผู้ส่งออกและผู้นำเข้าในประเทศไทย ทำให้การติดต่อประสานงานทางธุรกิจเพื่อการส่งออกนำเข้า ง่าย สะดวก รวดเร็ว ขึ้น ช่วยป้องกันการทำธุรกรรมในเชิงมิชอบหรือการทำธุรกรรมซ้ำซ้อน และช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการทำการค้าแก่กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs ในประเทศด้วย
เริ่มเฟสแรก แปลงเอกสารการค้าระหว่างประเทศไปสู่ดิจิทัล
จำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า “สำหรับการดำเนินการความคืบหน้าของ_NDTP ขณะนี้ในอยู่ในเฟสที่ 1 หรือการรองรับรายการส่งออก และนำเข้า ที่ทำการค้ากับคู่ค้าในประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์”
“โดยสามารถให้บริการกระบวนการทางการค้าระหว่างประเทศ พวกเอกสารทางการค้า ไปสู่ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย เอกสารการสั่งซื้อทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Purchase Order), ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ (e-Invoice) และ รายการบรรจุภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Packing List)”
“ซึ่งเอกสารทางการค้าที่ผู้ส่งออกและนำเข้าจัดเตรียมในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ มีโครงสร้างข้อมูลของเอกสารเป็นไปตามมาตรฐานที่ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) กำหนด ที่พัฒนาจากมาตรฐานของ UN/CEFACT โดยเอกสารอื่นๆ ทั้งหมดจะอยู่ในรูปแบบ PDF รวมทั้งเอกสารการขนส่งสินค้า”
“ในเฟสนี้ รองรับวิธีการชำระเงินในรูปแบบ Open Account หรือการซื้อขายสินค้าในลักษณะที่มีการส่งมอบสินค้าก่อนและจ่ายเงินทีหลัง”
“การพัฒนาและทดสอบคาดว่าแล้วเสร็จกลางเดือนสิงหาคมนี้ และคาดว่าพร้อมดำเนินรายการ Proof of Concept และ Pilot Live ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2565” จำรัส กล่าว
เอกชนได้ประโยชน์โดยตรงจากการใช้งานแพลตฟอร์ม NDTP
สำหรับกระบวนการพัฒนา_NDTP นั้น ได้มีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ 3 รายเข้าร่วมในการใช้แพลตฟอร์มจริง คือ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน)
โดยทั้งสามราย เข้ามาใช้งานระบบจริง มีการแปลงกระบวนการเอกสารการค้าเป็นดิจิทัลและส่งเข้ามูลผ่านระบบ ได้ให้ความเห็นถึงผลที่ได้รับจากการใช้งานในทิศทางเดียวกันว่า ประโยชน์จากแพลตฟอร์มดังกล่าวพบว่า เป็นระบบที่ช่วยสร้างความแม่นยำให้กระบวนเอกสารในการค้าระหว่างประเทศ เกิดมาตรฐานที่สามารถเชื่อมกับผู้ค้าต่างประเทศ
สามารถตรวจสอบย้อนกลับเรื่องเอกสารได้อย่างแม่นยำ สร้างความน่าเชื่อถือให้กระบวนการค้า รวมถึงยังเกิดความยืดหยุ่นให้องค์กรสามารถทำงานด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระหว่างเอกชนกับเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ประโยชน์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการด้านเอกสารดิจิทัลของ_NDTP นั้น ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมหรือใช้งานแพลตฟอร์ม สามารถอ้างความน่าเชื่อถือของกระบวนการตรวจสอบเอกสาร เพื่อนำมาใช้ในการขอสินเชื่อ ด้วยการใช้เทคโนโลยี บล็อกเชน และ API”
“นอกจากนั้นประโยชน์ที่เกิดโดยตรงกับผู้ประกอบการแล้ว ผลพลอยได้กับประเทศคือแพลตฟอร์ม_NDTP จะเป็นหนึ่งปัจจัยที่เข้ามาช่วยผลักดันให้ ตัวเลขการสำรวจ ดัชนีความง่ายในการทำธุรกิจ (ease of doing business index) มีค่าที่ดีขึ้น” จำรัส กล่าวเสริม
“ตัวเลขจากที่ปรึกษาก่อนเริ่มโครงการนั้นระบุว่า แพลตฟอร์ม_NDTP จะสามารถเข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนในการดำเนินงานได้ราว 40% ซึ่งทาง ABAC ก็ตั้งเป้าและคาดหวังไว้ว่า แพลตฟอร์ม_NDTP จะสามารถสร้างอีโคซีสเต็มการค้าระหว่างประเทศให้กลายเป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ”
“เกิดประโยชน์กับผู้ส่งออกและนำเข้า ที่จะเพิ่มความสามารถการแข่งขัน สร้างกระบวนการค้าได้รวดเร็ว เกิดการการนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าอย่างแท้จริง” กอบศักดิ์ ผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค กล่าวสรุป
Featured Image: Customs clearance photo created by rawpixel.com – www.freepik.com