Friday, April 26, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

การสร้างคุณภาพชีวิตเมืองเพื่อการสร้างชาติ ด้วยโมเดลเมืองน่าอยู่ 12 มิติ: Dr.Dan Can Do’s Livable City Model 

ในฐานะผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ปี 2551 และสั่งสมแนวคิดยุทธ์ศาสตร์การพัฒนาเมืองมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ผู้เขียนขอเสนอแนวคิด ในการร่วมสร้างคุณภาพชีวิต การสร้างเมือง และสร้างขาติ ด้วยโมเดลเมืองน่าอยู่ 12 มิติ: Dr.Dan Can Do’s Livable City Model

รุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญ ทั้งด้านอุตสาหกรรม ธุรกิจ การศึกษา แหล่งงาน และบริการต่างๆ แต่ความเจริญไม่ได้มาพร้อมกับคุณภาพชีวิตของคนในเมืองที่ดีขึ้น แต่มาพร้อมกับความเสื่อมโทรมหลายๆ ด้าน

เนื่องจากความเจริญที่กระจุกตัวอยู่ในเมือง กระตุ้นให้เกิดภาวะล้นทะลักของประชาชนในเมือง เริ่มต้นตั้งแต่การที่ต้องผจญมลพิษทางอากาศ จากการจราจรที่แออัดคับคั่ง ฝุ่นละอองจากการก่อสร้างอาคารสูง อุบัติเหตุบนท้องถนน ปัญหาชุมชนแออัด คนเร่ร่อนจรจัด การก่ออาชญากรรม

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

ปัญหาน้ำเน่าเสีย ขยะมูลฝอย ปัญหาสุขภาพจิต ค่าครองชีพที่สูงพร้อมทั้งความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาการคอร์รัปชันของผู้ถืออำนาจรัฐ ปัญหาการแพร่ระบาด COVID-19 ที่กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจร้านอาหาร ทำให้เกิดอัตราการว่างงานที่สูง และยังส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา

ที่ผ่านมา ทางหน่วยงานกรุงเทพมหานครได้พยายามอย่างมากในการรื้อฟื้นกรุงเทพฯ ให้กลายเป็น “เมืองน่าอยู่” สมัยผมหาเสียงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ปี 2551 ผมใช้สโลแกน “สร้างกรุงเทพฯ ด้วยปัญญา” เพื่อจะสื่อสาระสำคัญว่า การสร้างเมืองให้งอกงามได้อย่างยั่งยืนนั้น เพียงการได้อำนาจการเมืองสั่งมานั้นไม่พอ แต่ต้อง “ใช้ปัญญานำ”

การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเพื่อให้คนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ เกิดความผาสุก จวบจนชั่วลูกชั่วหลาน และการสร้างคุณภาพชีวิตเมืองเพื่อการสร้างชาติ ให้ครอบคลุมมิติต่างๆ ในการสร้างคุณภาพชีวิตคน

ผมจึงเสนอแนวคิด โมเดลเมืองน่าอยู่ 12 มิติ: Dr.Dan Can Do’s Livable City Model ซึ่งประกอบด้วยมิติต่างๆ ดังนี้

1) มิติเมืองสะดวก

กรุงเทพฯ ควรเป็นเมืองที่การเดินทางสะดวก ใช้เวลาในการเดินทางน้อย สามารถกำหนดเวลาที่ใช้ในการเดินทางได้แน่นอน และมีค่าใช้จ่ายต่ำในการเดินทาง สามารถรองรับสำหรับคนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ

อาทิ มีทางเดินเท้าสำหรับผู้พิการ สร้างเส้นทางเดินลอยฟ้า ทางเลื่อน และทางเดินใต้ดิน นอกจากนั้นใจกลางเมืองควรสร้างรถไฟฟ้าครอบคลุมพื้นที่ทั่วเมือง รวมถึงการมีบริการรถสาธารณะเข้าถึงชุมชนต่างๆ

มีการจัดทำบัตรเดียวเดินทางได้ทั้งระบบ เพื่อเพิ่มความสะดวก ความสบายให้กับประชาชน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางสมเหตุสมผล และจัดรถเมล์ศูนย์บาท (Zero-Fare Bus) เพื่อชาวชุมชน เป็นต้น

2) มิติเมืองสงบสุข

คนในเมืองปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินภัยอาชญากรรม กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งความเจริญ จึงเกิดเหตุการณ์ อาทิ ไฟไหม้ สารเคมี/แก๊สระเบิด ป้ายโฆษณาถล่ม ภัยจากยานพาหนะบนท้องถนน การเกิดอุบัติเหตุ การวิ่งราวทรัพย์ ฯลฯ

ผมจึงเสนอแนวทางโดยการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังเมือง 24 ชั่วโมง ศูนย์บัญชาการเดียวที่เฝ้าระวังภัยทุกประเภทในเมือง โดยเฉพาะความปลอดภัยของสตรี และขอการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครในชุมชน จัดเตรียมอุปกรณ์พร้อมใช้งานในทุกชุมชน

3) มิติเมืองสะอาด

กรุงเทพฯ ควรเป็นเมืองที่สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ถูกสุขลักษณะ อากาศไม่เป็นมลพิษ แม่น้ำคูคลองใสสะอาด ถนนหนทางสาธารณะ ตรอกซอกซอย บ้านเรือนชุมชนต่างๆ ปราศจากขยะและสิ่งปฏิกูล มีระบบจัดการสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิสภาพ (ขยะ, น้ำเสีย, ฝุ่น, มลพิษ ฯลฯ) แนวทางใช้ระบบการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ครบวงจร

อาทิ ขยะต้องไม่ตกค้าง มีรถเก็บขยะด่วน ทั่วถึงทุกที่ เข้าถึงทุกซอย เรียกได้ 24 ชม. ชุมชนปลอดภัยจากขยะพิษและขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยการสร้างเตาเผาขยะได้มาตรฐาน เพิ่มปริมาณโรงบำบัดน้ำเสีย ท่อไม่อุดตัน มั่นใจน้ำไม่ท่วมขัง และอากาศสะอาดทุกพื้นที่ เช่น การสร้างเมรุมาตรฐาน ปลอดภัย ไม่ก่อมลพิษ 1 เขต 1 เตาเผามาตรฐาน ที่สามารถกำจัดสารพิษได้อย่างสมบูรณ์

4) มิติเมืองสุขสบาย

กรุงเทพฯ ควรเป็นเมืองที่ประชาชนมีงานทำ มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต มีแหล่งงานเพียงพอ ประชาชนไม่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สามารถพึ่งตนเองในปัจจัยอยู่รอดได้ โดยมีการส่งเสริมการหารายได้ การสร้างงานของประชาชนผ่านการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้ทุกคนมีงานทำ

ตั้ง ธนาคารอาชีพ ยาแก้จน ช่วยฝึกงาน หางาน หาทุน สร้างอาชีพที่มั่นคง จัดระเบียบร้านค้าริมทาง ให้มีที่ค้าขายได้ทุกวัน เพื่อไม่ขาดรายได้ และสร้าง สตรีท เฟอร์นิเจอร์ ออกแบบทางเท้า แผงลอย รถเข็นให้สวย สะอาด เป็นระเบียบน่าเดิน น่าซื้อ สร้างจุดขายดึงนักท่องเที่ยว ดึงรายได้เข้าชุมชน

5) มิติเมืองสุขอนามัย

กรุงเทพฯ ควรตั้งเป้าให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลโรคร้ายโดยมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพ การป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรค บริการสาธารณสุขทั่วถึง มีคุณภาพสามารถรักษาสุขอนามัยของที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน สถานที่สาธารณะ อาทิ ออกแบบอาคารที่ไร้สารพิษ ปลอดโรค สื่อสารวัฒนธรรมใหม่

เช่น ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดไร้สารพิษ พัฒนามาตรฐานการผลิตอาหารสะอาดพัฒนามาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร เช่น โรงแรม ร้านอาหาร หาบเร่พัฒนามาตรฐานอาหารปลอดภัย (Food Safety) ติดป้ายตัวชี้วัดอาหารปลอดภัย ตรวจสอบได้

อาหารราคาถูกคุ้มค่า เข้าถึงง่าย โดยรัฐอุดหนุนการผลิต หรือลดภาษีอาหารเพื่อสุขสภาพ (Food Wellness) มีการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข สู่ความทันสมัย พร้อมหน่วยบริการเคลื่อนที่สู่ชุมชน

6) มิติเมืองสำราญ

ผมอยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่คนทุกกลุ่ม ทุกวัย ทุกเพศ ทุกอาชีพมีที่เหมาะสมได้พักผ่อนหย่อนใจ ได้ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ และได้ปลดปล่อยศักยภาพที่จะส่งผลให้ประชาชนมีความสุข เช่น มีการเปิดโซนกีฬา ดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมเพื่อวัยรุ่น

ยินดีสนับสนุนงบประมาณประชาชนที่รวมกลุ่มทำกิจกรรมที่ดี สร้างสรรค์ มีประโยชน์ ส่งเสริมเยาวชนใช้เวลาหลังเลิกเรียน วันหยุดเสาร์อาทิตย์ และในช่วงปิดเทอม พัฒนาศักยภาพ

และเพิ่มพื้นที่ความสุขแบบครบวงจร โดยการสร้างศูนย์นันทนาการครบวงจรมีกิจกรรมต่างๆ รองรับ ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วเมือง ปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนหย่อมและมุมผู้สูงอายุ ปรับที่รกร้างใช้ประโยชน์ตามความเหมาะสมของพื้นที่ อาทิ ปรับปรุงเป็นลานกีฬา ลานกิจกรรม หรือสนามเด็กเล่นของชุมชน เป็นต้น

7) มิติเมืองสวยงาม

กรุงเทพฯ ควรเป็นเมืองที่คนที่อยู่อาศัยรู้สึกได้ถึงความสวยงามรอบตัว อาทิ ถนนสวยงามด้วยการปลูกต้นไม้ มีภูมิทัศน์และทัศนียภาพที่สวยงาม เมืองมีความสวยงามทั้งทางด้านวัฒนธรรมและทางด้านทัศนวิสัย ผู้คนสามารถสัมผัสและชื่นชมความงดงามของสภาพแวดล้อมในชุมชน สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวได้

ซึ่งผมเสนอให้เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นสวนสวย สร้างเมืองสวยด้วยไม้งาม เกาะกลางถนนมีดอกไม้งาม ทางเท้าสวย แผงลอยสะอาด สายไฟลงดิน เพิ่มพื้นที่สวนป่ากลางเมือง เพิ่มเครื่องฟอกอากาศธรรมชาติให้คนเมือง สร้างสวนหย่อมลอยฟ้าบนอาคาร สร้างสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน เป็นต้น

8) มิติเมืองสมองสร้างสรรค์

คนกรุงเทพฯ ควรเข้าถึงการเรียนรู้สะดวกทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย คนกรุงเทพฯ ควรมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพในทุกช่วงชั้น มีโรงเรียนที่มีคุณภาพ มีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา และตลอดชีวิต ซึ่งอาจทำได้โดยการพัฒนาโรงเรียนสู่โรงเรียนชั้นนำมาตราฐานโรงเรียนสาธิตทุกโรงเรียนและเป็นโรงเรียน 3 ภาษา (ไทย อังกฤษ จีน)

รวมทั้งสร้างสวนสมองคนเมือง เป็นแหล่งเรียนรู้คนเมือง และสร้างแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย โดยมีพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะ เช่น ห้องสมุด, พิพิธภัณฑ์, สภากาแฟ ฯลฯ มีห้องสมุดประชาชนโดยจัดให้มีหนังสือที่ตรงความสนใจตอบโจทย์ กระจายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วเมือง และ สร้างปัญญา เพื่อพัฒนาเมือง โดยการสร้างมหาวิทยาลัยสร้างชาติเพื่อสร้างคนช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาเมืองอย่างบูรณาการ

9) มิติเมืองสีขาว

ผมอยากให้กรุงเทพฯ มีการบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ คนกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาบริหารจัดการทรัพยากร และร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ โดยยึดหลัก “ธรรมาภิบาล” มีการวางระบบที่ดีที่ทำให้คนชั่วทำดีได้โดยไม่รู้ตัว

ทุกงานมีตัวชี้วัดกำกับ มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานภาครัฐในชุมชน เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยพัฒนา ด้วยการเป็น “ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ” ในด้านต่างๆ รวมถึงจัดตั้ง กองทุนอาสาสมัครเวลาเพื่อเมืองน่าอยู่ เปิดโอกาสให้คนร่วมบริจาคเวลาว่างทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อเมือง

10) มิติเมืองสืบสานวัฒนธรรม

ผมเสนอว่า คนกรุงเทพฯ ควรมีส่วนร่วมอนุรักษ์สืบสานและต่อยอดวัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่อย่างยั่งยืน มีการบันทึก สืบทอด อนุรักษ์ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีชีวิต ศิลปกรรม ฟื้นฟูภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่เป็นเอกลักษณ์ มีการรณรงค์ส่งเสริมให้คนในชุมชนรู้ประวัติศาสตร์

อาทิ จัดงานรำลึกประวัติศาสตร์มีการศึกษาหรือบันทึกประวัติศาสตร์ของชุมชน โบราณสถานและโบราณวัตถุได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟู มีการจัดเทศกาล วัฒนธรรม หรือ ประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน มีสินค้าและบริการที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนจำหน่าย

มีการรื้อฟื้นชุมชนริมน้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์เพิ่มรายได้ให้ชุมชน รวมทั้งมีการตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของเมือง สืบค้นและคัดสรร วัฒนธรรม เพื่อสืบสานความงดงามและรุ่งเรือง เป็นต้น

11) มิติสุขสัมพันธ์

ผมอยากเห็นคนกรุงเทพฯ มีความเป็นพี่เป็นน้อง มีความผูกพันใกล้ชิด มีสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมีน้ำใจ ช่วยเหลือกันโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เกิดภราดรภาพที่มีพันธผูกพันทางใจ มีส่วนเข้าร่วมและสร้างกิจกรรมเพื่อสาธารณะหรือส่วนกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้คนได้รู้จักกันอย่างลึกซึ้ง

รวมทั้งมีการจัดตั้งโรงเรียนครอบครัว ให้สมาชิกในครอบครัว ได้เรียนรู้ถึงครอบครัวที่มีความรักความอบอุ่น และส่งเสริมการสร้างชุมชนที่ถักทอกันขึ้นด้วยความรักไม่ใช่ด้วยผลประโยชน์ต่างตอบแทน ที่ทุกคนสัมพันธ์กันด้วยความรักบนฐานความสัมพันธ์ที่อารยะ

12) มิติสุขจิต

กรุงเทพฯ ควรเป็นเมืองที่ผู้คนดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมายและให้ความสำคัญกับการทำเพื่อสังคมและส่วนรวม รวมตัวกันเป็นชุมชนที่คนมีจิตรักชาติอย่างอารยะ มีอุดมการณ์สร้างชาติ และยึดถือปรัชญาสังคมอารยะ ที่เน้นการสร้างความมีเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพที่อารยะ และยินดีอุทิศ เวลา ความสามารถ เงิน ในการร่วมพัฒนาเมืองให้น่าอยู่และมีความเจริญ

ผมหวังว่าการเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ใกล้เข้ามานี้ คนกรุงเทพฯ จะได้ผู้นำที่เป็นคนดี เก่ง กล้า มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาทั้งคุณภาพชีวิตคนและเมือง ให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองน่าอยู่และเป็นพิมพ์เขียวให้กับทุกจังหวัดในประเทศไทยที่จะนำไปประยุกต์ให้เกิดการสร้างคุณภาพชีวิตเมืองเพื่อการสร้างชาติต่อไปครับ

อ่านบทความทั้งหมดของ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

Featured Imange: City outline vector created by Sky and Glass – www.freepik.com