Sunday, April 28, 2024
NEWS

รายงาน สุขภาวะดิจิทัล พบคนไทย 44% ยังต้องพัฒนาทักษะเพื่อสุขภาวะทางดิจิทัล

เปิดเผย ผลการสำรวจ ดัชนีชี้วัด สุขภาวะดิจิทัล ของไทย Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) ฉบับแรกของไทย พบคนไทย 44% กลุ่มสูงวัย หลายอาชีพ พนักงานรัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน เกษตรกร ยังต้องพัฒนาทักษะเพื่อสุขภาวะทางดิจิทัลที่ดี

AIS ผู้ผลักดันโครงการอุ่นใจ CYBER ที่มุ่งสร้างทักษะด้านดิจิทัลและการป้องกันภัยไซเบอร์ เปิดเผย ผลการสำรวจ ดัชนีชี้วัด สุขภาวะดิจิทัล ของไทย Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) พบว่า ภาพรวมของคนไทยมีสุขภาวะทางดิจิทัล อยู่ในระดับพื้นฐาน แต่มีเรื่องที่อยู่ในระดับต้องพัฒนา คือ ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights), ทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship) และ ด้านการสื่อสาร การทำงานร่วมกันบนดิจิทัล

คนไทย 44% ยังต้องพัฒนาทักษะดิจิทัล

ผลดัชนีชี้วัด สุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index เป็นการชี้ให้เห็นถึงทักษะดิจิทัล ที่ครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลของคนไทย 7 ด้าน ประกอบด้วย ทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Use), ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy), ทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration)

ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights), ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety), ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying) และทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship)

ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า ภาพรวมของคนไทยมีสุขภาวะทางดิจิทัล อยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีถึง 44.04% ที่ยังอยู่ในระดับต้องพัฒนา แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น”

ผลการศึกษาที่น่าสนใจ
ผู้สูงอายุ ยังต้องพัฒนาทักษะดิจิทัลหลายด้าน

ผลการศึกษาระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ในช่วงอายุต่างๆ พบว่า ผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) เป็นกลุ่มอายุเดียวที่มีค่าเฉลี่ยของดัชนีชีวัดสุขภาวะทางดิจิทัลอยู่ในระดับต้องพัฒนา มีทักษะดิจิทัลในระดับต้องพัฒนา 5 ด้าน ยกเว้นทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ที่มีคะแนนสูง

องค์ประกอบที่อยู่ในระดับสูงทุกกลุ่มอายุ คือ การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ และองค์ประกอบที่อยู่ในระดับต้องพัฒนามากที่สุด คือ การสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล

หลายอาชีพยังต้องพัฒนา

ระดับสุขภาวะดิจิทัล ของคนไทยกับอาชีพ พบว่า มีหลายอาชีพที่มีดัชนีชี้วัดสุขภาวะทางดิจิทัลในระดับ ต้องพัฒนา คือ ผู้ที่ว่างงาน (0.42), พนักงานรัฐวิสาหกิจ (0.31), พนักงานบริษัทเอกชน (0.41), ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว (0.38), รับจ้างทั่วไป (0.33)) และเกษตรกร (0.24)

ในรายงานได้ให้คำแนะนำว่า อาชีพเกษตรกร จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลเกือบทุกองค์ประกอบ ยกเว้นการใช้ดิจิทัล และการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ ส่วนองค์ประกอบที่อยู่ในระดับสูงทุกอาชีพ คือ การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ และองค์ประกอบที่อยู่ในระดับต้องพัฒนามากที่สุด คือ สิทธิทางดิจิทัล และความสัมพันธ์ทางดิจิทัล

สุขภาวะดิจิทัล

ภาคตะวันตกและภาคเหนือ ยังอยู่ในระดับ ต้องพัฒนา

การสำรวจระดับสุขภาวะดิจิทัล ของคนไทยเมื่อมองตามภูมิภาค พบว่า ภาคตะวันตกและภาคเหนือ ยังอยู่ในระดับ ต้องพัฒนา ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีค่าเฉลี่ยดัชนีชี้วัดสุขภาวะทางดิจิทัลในภาพรวมสูงที่สุด (0.61) โดยอยู่ในระดับพื้นฐาน รองลงมาคือ ภาคอีสาน (0.59) ภาคกลาง (0.50) ภาคตะวันออก (0.52) ภาคใต้ (0.49) โดยอยู่ในระดับพื้นฐาน

เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคอีสาน มีดัชนีเฉลี่ยอยู่ในระดับพื้นฐานทุกด้าน ยกเว้นด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์อยู่ในระดับสูง

ส่วน การใช้ดิจิทัล ด้านการรู้เท่าทันดิจิทัล และด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ พบว่า ทุกภูมิภาคมีค่าเฉลี่ยดัชนีอยู่ในระดับพื้นฐาน ขณะที่การสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล สิทธิทางดิจิทัล และความสัมพันธ์ทางดิจิทัล พบว่า ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก มีค่าเฉลี่ยดัชนีอยู่ในระดับต้องพัฒนา

สุขภาวะดิจิทัล

พบ 25 จังหวัด ต้องพัฒนาทักษะดิจิทัลหลายด้าน

สำหรับผลการศึกษาระดับสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ในจังหวัดต่างๆ นั้น ได้ข้อสรุปว่า ภาพรวมมีค่าเฉลี่ยดัชนีอยู่ในระดับต้องพัฒนาและระดับพื้นฐาน (0.10-0.84) โดยจังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด 15 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดนครพนม (0.84) จังหวัดปทุมธานี (0.83) จังหวัดเพชรบูรณ์ (0.81) จังหวัดลพบุรี (0.81)

จังหวัดเพชรบุรี (0.79) จังหวัดสระบุรี (0.78) จังหวัดนครสวรรค์ (0.78) จังหวัดนครนายก (0.76) จังหวัดชุมพร (0.77) จังหวัดพัทลุง (0.75) จังหวัดชัยภูมิ (0.75) จังหวัดนครราชสีมา (0.75) จังหวัดเลย (0.75) จังหวัดลำาปาง (0.74) และตรัง (0.73) โดยอยู่ในระดับพื้นฐาน

โดยพบว่าจังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับต้องพัฒนา จำนวน 25 จังหวัด ระดับพื้นฐาน จำนวน 52 จังหวัด

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า “จากผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ทำให้เราเห็นจุดที่ต้องพัฒนาทักษะเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ใช้งานในอีกหลายประเด็น โดย AIS พร้อมด้วยพันธมิตรจะยังคงเดินหน้าทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง”

“สุดท้ายต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนสำคัญทำให้ดัชนีฉบับนี้เป็นสมบัติของประเทศไทย อันจะเป็นเสมือนหนึ่งเข็มทิศที่ช่วยให้พวกเรามองเห็นเส้นทางในการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนไทยได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง”

ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล ฉบับแรกของไทย

สำหรับรายงาน ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล หรือ Thailand Cyber Wellness Index (TCWI) นับเป็นการสร้างมาตรวัดทักษะทางดิจิทัลขึ้นเป็นฉบับแรกของไทยกับด้วยความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนักวิชาการทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านสุขภาพ ด้านสื่อสารมวลชน ด้านการศึกษา และด้านการวัดประเมินผล

ที่ระดมความคิดในการออกแบบกรอบการศึกษา ขั้นตอนและวิธีการเก็บผล กลุ่มตัวอย่าง ที่มีขั้นตอนวิธีการเก็บผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายทั้งช่วงอายุ และกลุ่มอาชีพจากทุกจังหวัด ทั่วประเทศกว่า 21,862 คน

รวมถึงการวิเคราะห์และสรุปผลการศึกษา จนออกมาเป็นดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ที่เป็นไปตามมาตรฐาน แม่นยำ และถูกต้องตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นมาตรฐานใหม่ในการสร้างพลเมืองดิจิทัลและสังคมการใช้งานดิจิทัลที่ดียิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ยังเดินหน้าผสานกำลังส่งมอบดัชนีนี้ไปยังเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันนำองค์ความรู้ เสริมสร้างความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัลให้แก่คนไทยทุกกลุ่มต่อไป

อ่านรายละเอียดผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย Thailand Cyber Wellness Index