Friday, March 29, 2024
5GIoTNEWS

NT เดินหน้าโครงการ 5G ยกระดับ IoT เป็น AIoT

บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) เดินหน้าโครงการ 5G ยกระดับ IoT เป็น AIoT นำร่องในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (EEC) สู่เมืองอัจฉริยะ

ารขับเคลื่อนของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) หลังจากการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อลดการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนกัน

และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์กรให้มีความเข้มแข็งด้วยศักยภาพและความพร้อมของโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมที่ครอบคลุมและหลากหลายโดยหลังจากการควบรวม  NT ได้มีทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่มีมูลค่ารวม 300,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

1.เสาโทรคมนาคมรวมกันมากกว่า 25,000 ต้นทั่วประเทศ 2.เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ 9 ระบบ 14 POP เชื่อมต่อไปยังทุกทวีปทั่วโลก 3.ถือครองคลื่นความถี่หลักเพื่อให้บริการด้านโทรคมนาคมรวม 5 ย่านความถี่ 4.ท่อร้อยสายใต้ดินมีระยะทางรวม 4,000 กิโลเมตร

5.สายเคเบิลใยแก้วนำแสง 4 ล้านคอร์กิโลเมตร 6.ดาต้า เซ็นเตอร์ 13 แห่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และ 7.ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงได้จากทุกเลขหมายในโลก รวมถึงมีศูนย์บริการทั่วประเทศกว่า 500 แห่ง

การดำเนินงานของ NT มุ่งเป้าเป็นกำลังหลักให้กับหน่วยงานภาครัฐทุกระดับในการปรับเปลี่ยนพัฒนาองค์กรด้วยเทคโนโลยีด้านดิจิทัลและสื่อสารโทรคมนาคม  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลคือการนำพาประเทศสู่ยุคดิจิทัล

โดยเฉพาะเรื่องการนำเทคโนโลยี 5G มาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการประชาชน บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมของประเทศจึงเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐบาลและประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัล

โครงการ 5G เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่ NT เน้นการลงทุนเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด โดยมีคลื่นความถี่ที่ได้รับจากการประมูลทั้งในย่านความถี่สูงและต่ำ ได้แก่ คลื่นความถี่ 26 GHz ที่มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการและให้บริการแก่กลุ่มวิสาหกิจขนาดใหญ่

ตลอดจนภาครัฐในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ (Smart city)  และ คลื่นความถี่ 700 MHz ซึ่งดำเนินการใน 2 รูปแบบ ได้แก่ การดำเนินการเองสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ใช้บริการพื้นฐานทั่วไป ไม่ต้องการแบนด์วิดท์สูง และการให้พันธมิตรร่วมให้บริการ 5G ในรูปแบบ Network Sharing เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนขององค์กร

สำหรับการพัฒนา 5G บน คลื่นความถี่ 26 GHz เพื่อตอบสนองความต้องการและให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในปีนี้ NT ได้มุ่งเน้นการพัฒนาและเปิดให้บริการร่วมกับพันธมิตรในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (EEC) และสนับสนุนการพัฒนาสู่ Smart City

โดย NT ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการ 5G Enterprise Private Network กับ  เดอะ ไวท์สเปซ (WhiteSpace : WSP) และ จุงหวา เทเลคอม (Chunghwa Telecom) เมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา

ปัจจุบันได้เริ่มนำมาติดตั้งให้กับ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) เป็นโรงงานต้นแบบแห่งแรกในนิคมอุตสาหกรรมบางปูในปี พ.ศ. 2565  เพื่อช่วยให้เกิดการทำงานทางไกลร่วมกันด้วยเทคโนโลยี AR ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ การปฏิบัติงานในโรงงาน และการใช้งานโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ

ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในอุตสาหกรรมเติบโตแบบก้าวกระโดดพัฒนาสู่ Smart factory หลังยุคการแพร่ระบาดโควิด-19 และคาดว่าในอนาคตอันใกล้ เดลต้า ประเทศไทย จะสามารถ ใช้เครือข่าย 5G นี้ ร่วมกับ AIoT และ Cloud เป็นพื้นฐานของเครือข่ายสารสนเทศอัจฉริยะ พร้อมขยายการใช้งานไปสู่โรงงานอื่น ๆ ในอนาคต

เทคโนโลยีการสื่อไร้สาย 5G มีความเร็วระดับกิกะบิต ความหน่วงต่ำ และรองรับเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมากแบบเรียลไทม์ ทำให้การเชื่อมต่อไม่สะดุด ซึ่งไม่เพียงแค่สมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่ยังหมายถึงอุปกรณ์ต่างๆที่เชื่อมต่อผ่านอินเตอร์เน็ต Internet Of Things (IoT)

อีกทั้งเทคโนโลยี 5G ยังช่วยยกระดับ IoT พัฒนาสู่ระบบ Artificial intelligence of things (AIoT) เกิดการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กับโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตเพื่อให้การดำเนินงาน IoT ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับปรุงการโต้ตอบระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร และปรับปรุงการจัดการข้อมูลและการวิเคราะห์ ประเมินผล ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเทคโนโลยี 5G จะช่วยให้การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ทำได้แบบไร้รอยต่อและรองรับอุปกรณ์จำนวนมาก

NT ยังคงมีแผนที่จะสานต่อความร่วมมือกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง  โดย NT เป็นผู้ให้บริการเครือข่าย 5G  ด้าน เดอะ ไวท์สเปซ เป็นผู้มอบประสบการณ์ด้านการตลาดและการดำเนินงานในพื้นที่ และ จุงหวา เทเลคอม จะให้บริการ MEC Intelligent A+

รวมถึงการออกแบบและการวางแผน เพื่อให้บริการโซลูชั่นอัจฉริยะ 5G ร่วมกับ AIoT แบบครบวงจร  โดยมุ่งบรรลุเป้าหมายสนับสนุนให้องค์กรต่าง ๆ สามารถใช้บริการ 5G คุณภาพสูง ทั้งในด้านอุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว การแพทย์ และการเงินของประเทศไทยในรูปแบบเมืองอัจฉริยะ

ซึ่งปัจจุบัน NT มีศักยภาพในการให้บริการคลื่นความถี่ 5G ร่วมกับพันธมิตร ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่อื่น ๆ และพร้อมสนับสนุนการพัฒนาเมืองสู่การเป็น Smart city ต่อไป

Leave a Response