Tuesday, September 17, 2024
Articles

เคทีซี กับเมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืน สร้างสมดุลของ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

เปิดใจผู้นำความเปลี่ยนแปลง เมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืน ผู้สร้างแรงขับเคลื่อนเชิงนโยบายเป้าหมาย และแนวปฏิบัติการจัดการด้านความยั่งยืนของธุรกิจ ผู้ผลักดันสมดุลของ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของเคทีซี

ารขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน กลายเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักที่กำหนดกิจกรรมในการดำเนินธุรกิจของทุกองค์กร ณ วันนี้ ทุกองค์กรต่างตระหนักดีถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตัวเลขผลกำไร ที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีและการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการดำเนินธุรกิจโดยปกติ

ทุกองค์กรต่างหยิบเอาแนวคิดเรื่อง การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ที่ประกอบด้วยมิติทาง สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล มาตีความและผลักดันให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติและได้ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ตามเงื่อนไขทางธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ต่างกัน สร้างทางเดิน สร้างเรื่องราวในรูปแบบที่สอดรับกับตนเอง ทั้งนี้ก็เพื่อเป้าหมายเดียวกัน คือ สังคมโลกที่ดีขึ้น ดำเนินธุรกิจยืนยาวขึ้น

CIO World Business มีโอกาสได้เรียนรู้ถึงแนวคิดและแนวปฏิบัติ ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนขององค์กรในอุตสาหกรรมการเงิน อย่าง บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี ที่สะท้อนถึงความตระหนักต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ในฐานะของหน่วยหนึ่งของสังคม

ผู้บริหารที่ตระหนักถึงสำคัญ
ชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส คอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ เคทีซี

ชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส คอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ เคทีซี ผู้บริหารระดับนโยบายผู้รับผิดชอบในโดยตรงเรื่องการสร้างความยั่งยืน กล่าวว่า “เคทีซีได้นำแนวคิดด้านความยั่งยืนหรือการดำเนินธุรกิจ

โดย คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เข้ามา บูรณาการกับการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ พร้อมทั้งพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องภายใต้แนวคิด Sustainable Development by Spirit”

ชุติเดช ให้ข้อมูลว่า “การทำงานในเชิงนโยบายนั้น เริ่มอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อราว ปี 2564 บริษัทได้พิจารณาทบทวนห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย และร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ในการพิจารณาประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน”

“โดยนำผลลัพธ์มาจัดทำ กรอบการทำงานด้านความยั่งยืนโดยสปิริต (Sustainable Development by Spirit Framework) จนเกิดเป็นกลยุทธ์ความยั่งยืน 5 ปี (พ.ศ. 2565 – 2569) เพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ให้พร้อมสนับสนุนวิสัยทัศน์และเป้าหมายของบริษัท ที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustain Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติอย่างต่อเนื่อง”

ประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนของ เคทีซี

การตีความเรื่องการสร้างความยั่งยืนของแต่ละธุรกิจนั้น มีความแตกต่างกันไปตามลักษณะทางธุรกิจ โดย ชุติเดช ได้อธิบายถึงประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับเคทีซีใน 3 มิติ ประกอบด้วย มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม

มิติเศรษฐกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์​และบริการทางการเงินทีดีขึ้น

“สิ่งสำคัญคือ การดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส เป็นธรรมตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงการบริหารความเสี่ยงและต้นทุนที่เหมาะสม โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ควบคู่กับการรักษาความปลอดภัย และคำนึงถึงความเป็นส่วนตัว พร้อมนำเสนอสิทธิประโยชน์ที่หลากหลาย เพื่อสร้างความพึงพอใจและประสบการณ์ที่ดีแก่สมาชิก”

“นอกจากนี้ เคทีซีได้ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ตามมาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้ ของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานของการให้บริการสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ และยังคงรักษาคุณภาพพอร์ตสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่ดีได้อย่างสมดุล”

“โดยเป้าหมายที่สำคัญคือ สร้างการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลให้เกิดขึ้น ทั้งเป็นระบบดิจิทัล สำหรับลูกค้าและพนักงาน” ผู้บริหารกล่าว

มิติสังคม สร้างคุณภาพชีวิตของลูกค้าให้ดีขึ้น

ในมุมของผู้ให้บริการทางการเงินนั้น การตีความเรื่องความยั่งยืนในมิติสังคมคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าเลือกผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการ เช่น เคทีซี พี่เบิ้ม สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อเพื่อการศึกษา สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทางการเงินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทั้งช่องทางศูนย์บริการลูกค้า และช่องทางออนไลน์

“นอกจากนี้ เคทีซีได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความรู้ทางการเงินเพื่อสนับสนุนและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยผ่านโครงการและกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้สามารถถ่ายทอดผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีคุณภาพ สื่อสารข้อมูลที่ชัดเจน ครบถ้วน และถูกต้อง เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้เหมาะสม”

“อีกทั้งเพื่อให้บุคลากรของเคทีซีมีความรู้และทักษะที่สำคัญ เตรียมรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดย เป้าหมายที่สำคัญในมิติของสังคมคือ สร้างโอกาสการเข้าถึงทางการเงินและการศึกษาสำหรับคนไทยทุกคน

มิติสิ่งแวดล้อม ดำเนินงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสภาวะแวดล้อมที่ดีขึ้น

“เรื่องสิ่งแวดล้อม อาจเป็นโจทย์ที่ดูจะยากในการตีความ เพราะเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต แต่แน่นอนว่า บนหลักการการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ตอบสนองต่อแนวคิด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีแนวทางมากมายที่เคทีซีสามารถลงมือได้ ผ่านการยกระดับผลิตภัณฑ์ บริการ และการดำเนินงานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ”

“เรามีการเชิญชวนพนักงานและลูกค้าลดการใช้กระดาษ และเปลี่ยนมาใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างจิตสำนึกที่ดีผ่านการให้ความรู้และโครงการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมถึงการเข้าร่วมโครงการ Care the bear, Change the Climate Orange by Eco Event กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

จากนโยบายสู่การปฏิบัติ สร้างเมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืน

ชุติเดช กล่าวว่า “นโยบายการทำงานด้านความยั่งยืนของเคทีซีไม่ใช่เรื่องใหม่ องค์กรได้มีการทำงานในลักษณะดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าจะอธิบายถึงจุดเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวได้ว่าเราเริ่มต้นจากการก่อตั้ง หน่วยงานบริหารเงินและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนขึ้นได้ราว 3 ปี

มีการแต่งตั้งผู้บริหารและคณะทำงานอย่างเต็มตัว เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบาย เปิดประเด็นแนวคิดใหม่ๆ เรื่องความยั่งยืน รวมถึงสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร”

ดวงกมล อินทรพราหมณ์ ผู้อำนวยการ หน่วยงานบริหารเงินและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน

ดวงกมล อินทรพราหมณ์ ผู้อำนวยการ หน่วยงานบริหารเงินและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ในฐานะผู้นำความเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติเรื่องการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ เปิดเผยว่า

“หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานให้ได้ตามกรอบการทำงานด้านความยั่งยืนโดยสปิริตนั้น ต้องอาศัยการสร้างความร่วมมือจากทุกคนในองค์กร ทุกคนต้องมองเห็นถึงเป้าหมายความสำเร็จเป็นภาพเดียวกัน”

“การทำให้เกิดความเข้าใจเดียวกันทั้งองค์กรนั้น คือหน้าที่สำคัญของหน่วยงานนี้ ที่จะต้องคอยสื่อสาร ทำความเข้าใจกับทุกๆ หน่วยธุรกิจ จากวันแรกที่มีคนในหน่วยนี้เพียง 3 คน เราอาศัยวิธีการปลูกฝังแนวความคิดให้เกิดขึ้นกับ ผู้นำทางความคิดของแต่ละหน่วยงานภายในจำนวน 12 หน่วยงาน”

“นั่นหมายความว่า การส่งผ่านค่านิยม แนวคิดที่ถูกต้องไปทั่วทั้งองค์กรได้เริ่มขึ้นจากคนจำนวนหยิบมือ จนเราได้แนวร่วมมากขึ้น ถึงทุกวันนี้หลายๆ หน่วยธุรกิจมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องของความยั่งยืน

เกิดการความตี่นตัว มีแนวคิดใหม่ๆ ในลักษณะแนวคิดและการปฏิบัติในเชิงรุกด้านการสร้างความยั่งยืนที่มาจากแต่ละหน่วยธุรกิจเอง ไม่ว่าจะเป็นความพยายามใช้กระบวนการดิจิทัลลดกระดาษ มาตรการประหยัด หรือการคิดเรื่องลดปริมาณขยะ”

เมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืน ผู้สร้างแรงขับเคลื่อนเชิงนโยบายเป้าหมาย และแนวปฏิบัติการจัดการด้านความยั่งยืนของธุรกิจ ผู้ผลักดันสมดุลของ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของเคทีซี

ทุกวันนี้ กล่าวได้ว่า เมล็ดพันธุ์ทางความคิด เรื่องการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ที่เริ่มฝังรากเมื่อราว 3 ปี ปัจจุบันมันได้แตกหน่อ ต่อยอด และให้ดอกผลกลับมาในบางประเด็นแล้ว แต่ ดวงกมล และทีมของเธอ ก็ยังเฝ้ามองหาประเด็นใหม่ๆ และยังขับเคลื่อนความสมดุลของ การดำเนินธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอยู่อย่างต่อเนื่อง

“ที่เคทีซี  เราเชื่อว่า แรงจูงใจในการทำงานเรื่อง การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน นั้น คือการสร้างค่านิยม สร้างวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร เมื่อเราสามารถสร้างตรงนั้นได้ การเดินทางบนถนนสายของธุรกิจที่ยั่งยืน ก็พอที่จะมองเห็นถึงพัฒนาการและความสำเร็จที่มากขึ้น ดีขึ้น สะท้อนถึงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ที่ดีขึ้นของทุกคนจริงๆ” ดวงกมล สรุป

Featured Image: Money tree vector created by pch.vector – www.freepik.com