Wednesday, September 18, 2024
AIData ScienceHybrid CloudNEWS

ไอบีเอ็ม ประกาศสนับสนุนองค์ความรู้ เอไอ ดาต้าไซน์ส ไฮบริดคลาวด์ แก้ปัญหาขาดแคลน

ไอบีเอ็ม

ไอบีเอ็ม ประกาศความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และพันธมิตรทางธุรกิจ แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรไอทีด้าน เอไอ ดาต้าไซน์ส และไฮบริดคลาวด์ เตรียมเปิดหลักสูตรรายวิชา นำผู้เชี่ยวชาญไอทีและธุรกิจระดับโลกร่วมถ่ายทอดความรู้

อบีเอ็ม ประเทศไทย ประกาศโครงการนำร่องเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้และแก้ไขการขาดแคลนบุคลากรไอที ผสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และพันธมิตรทางธุรกิจ สร้างโมเดลสามประสาน ที่ดึงจุดแข็งของไอบีเอ็ม มหาวิทยาลัยต่างๆ และพันธมิตรธุรกิจ เพื่อร่วมสร้างคนไอทีพร้อมใช้ที่จะเป็นที่ต้องการของโลกธุรกิจ

โดยไอบีเอ็มจะมอบหลักสูตรเต็มภาคเรียนด้าน เอไอ ดาต้าไซน์ส ไฮบริดคลาวด์ นวัตกรรมบนระบบเมนเฟรม และการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่พัฒนาขึ้นจากความเชี่ยวชาญและความเข้าใจเชิงลึกด้านเทคโนโลยีและธุรกิจของไอบีเอ็ม ร่วมด้วยการถ่ายทอดความรู้ในมุมอุตสาหกรรมและบริบทจริงของธุรกิจจากอีโคซิสเต็มของคู่ค้า แก่สถาบันการศึกษาที่เน้นตอบโจทย์ความต้องการของตลาดงาน

เบื้องต้นประกอบด้วย มหาวิทยาลัยบูรพา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และจะมีมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพิ่มเติมภายในปีนี้ โดยมีบริษัท เอ็นทีที เดต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นพันธมิตรที่ร่วมนำร่อง ก่อนจะขยายความร่วมมือสู่พันธมิตรทางธุรกิจรายอื่นๆ ต่อไป

การขาดคนที่มีทักษะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

แอ็กเนส เฮฟท์เบอร์เกอร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของไอบีเอ็ม อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลี กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำในเอเชียแปซิฟิก ที่เราได้เห็นการเดินหน้าผลักดันโครงการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันอย่างต่อเนื่อง และมีการนำเทคโนโลยีก้าวล้ำอย่างเอไอ ดาต้าไซน์ส และไฮบริดคลาวด์เข้ามาใช้ในโลกธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ”

“ขณะที่ผู้บริโภคไทยในวงกว้างก็เปิดรับและปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ดังเห็นได้จากข้อมูลการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payments) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563-มีนาคม 2565 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าปริมาณการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 230% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา1

“วันนี้การขาดคนที่มีทักษะพร้อมสำหรับการทำงานกำลังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของไทยและทั่วโลก ไอบีเอ็มตระหนักถึงปัญหานี้และพร้อมที่จะดึงทรัพยากร ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงอีโคซิสเต็มของคู่ค้าธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีประสบการณ์ เข้าร่วมแก้ปัญหาเร่งด่วนนี้ เพื่อช่วยประเทศไทยในการสร้างคนทำงานที่มีทักษะและความพร้อมอย่างแท้จริง”

ไอบีเอ็ม
สวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย

สวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย และ Managing Partner กลุ่มธุรกิจไอบีเอ็ม คอนซัลติง กล่าวว่า “การรับมือกับปัญหาทักษะและความพร้อมของคนทำงานในแนวทางที่ยั่งยืน ย่อมไม่สามารถทำได้สำเร็จหากขาดความร่วมมือจากพันธมิตรที่มีประสบการณ์ในเชิงลึกทั้งจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงการร่วมผลักดันจากภาคการศึกษา ดังการสนับสนุนที่ได้รับจากกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำที่เริ่มนำร่องแล้วในวันนี้”

“ความเร่งด่วนในวันนี้ ไม่ใช่แค่การพยายามสร้างคนจำนวนมากเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมั่นใจด้วยว่าคนที่จบออกมาจะมีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจและพร้อมทำงานจริงๆ ไอบีเอ็มรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความร่วมมือจากทุกมหาวิทยาลัยในวันนี้”

“รวมถึงเอ็นทีที เดต้า ที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ร่วมนำร่อง โดยเราพร้อมขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย พันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงบริษัทไอทีอื่นๆ ในการร่วมผลักดันแก้ปัญหาสำคัญของประเทศในวงกว้างต่อไป”

นอกจากการมอบหลักสูตรการเรียนการสอนตลอดภาคเรียน ที่ผ่านการคัดกรองให้ตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรธุรกิจไทยแล้ว ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ไอบีเอ็มและพันธมิตรยังจะจัดอบรมให้ความรู้พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองกับคณาจารย์ รวมถึงมอบเครดิตการใช้คลาวด์ฟรีเพื่อให้นักศึกษาสามารถเข้าไปทดลองและฝึกใช้งานเทคโนโลยีเอไอ ดาต้าไซน์ส ไฮบริดคลาวด์ หรือแม้แต่ระบบเมนเฟรม ในแบบเดียวกับที่ใช้จริงในโลกธุรกิจ

พันธมิตรสถาบันการศึกษาเตรียมเปิดหลักสูตร

สำหรับในโครงการนำร่องนี้ มีสถาบันการศึกษา 4 แห่งเข้าร่วมประกอบด้วย มหาวิทยาลัยบูรพา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และสถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

รองศาสตราจารย์ ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้เตรียมวางแผนผนวกเอาเนื้อหาและปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มการเรียนรู้”

“กลุ่มแรกคือ การเรียนในระดับปริญญาตรี ที่คาดว่าจะสามารถเริ่มทดลองในรูปแบบ Sandbox ได้ราวเดือนสิงหาคม สำหรับนิสิตในคณะฯ ราว 300 คน และกลุ่มการเรียนในลักษณะ Life long learning certificate ที่จะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติมจากความร่วมมือครั้งนี้”

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดี มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นมหาวิทยาลัยหลักเชิงกลยุทธ์ของโครงการช่วยขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีพันธกิจในการพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการและการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่การเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำในระดับสากล”

“ซึ่งความร่วมมือกับภาคเอกชนอย่าง IBM เกิดขึ้นนานแล้ว มีการส่งต่อองค์ความรู้ นวัตกรรมไอซีทีและดิจิทัลมาสู่มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรมของผู้ประกอบการ/ภาคเอกชน และสนับสนุนผู้ประกอบภาคเอกชนให้ร่วมลงทุนกับมหาวิทยาลัย เพื่อทำการวิจัย และพัฒนาได้แบบก้าวกระโดด ในลักษณะความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน”

รองศาสตราจารย์ ดร.รัตติกร วรากูลศิริพันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศและทุนการศึกษา รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยี ไทย ญี่ปุ่น กล่าวว่า “สำหรับโครงการดังกล่าวทางสถาบันฯ ได้วางแผนที่จะเสริมองค์ความรู้ของคณาจารย์ในลักษณะการเข้าอบรม เพื่อเตรียมพร้อมในการถ่ายทอดกับเทคโนโลยีที่กำลังขาดแคลน รวมถึงในอนาคตจะต้องผนวกเอาเรื่องต่างๆ เข้าไว้ในรายวิชาที่เกี่ยวข้องและมีความต้องการไปยังนักศึกษาต่อไป”