Thursday, December 5, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

AIMMI Model เพื่อการขับเคลื่อนคนในองค์กร

ขอเสนอ AIMMI Model ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนบุคคล ที่เชื่อมอารยมหาพลัง และอารยพลานุภาพ มายังตัวบุคคล เพื่อให้พลังขับเคลื่อนส่งต่อมายังบุคคลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความจำเป็นต่อความสำเร็จในทุกงานและทุกระดับ

นุษย์หากมีแรงขับเคลื่อนก็สามารถทำได้ทุกสิ่ง แรงขับเคลื่อนของมนุษย์มีความเป็นกลาง หากรู้จักนำมาใช้ในทางที่ดี ก็จะเป็นประโยชน์แต่หากใช้ในทางที่ผิด ก็จะสร้างปัญหาแก่ตนเองและสังคม ดังนั้นหากเราเข้าใจว่า อะไรเป็นปัจจัยและกลไกที่สามารถขับเคลื่อนคน เราย่อมสามารถจะบริหารตนเองและผู้อื่น ให้ทำสิ่งยิ่งใหญ่ได้โดยไม่จำกัด

ผมได้นำเสนอแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการขับเคลื่อนคนหลายแนวคิด เช่น การขับเคลื่อนตัวเอง ต้องมี อารยมหาพลัง ได้แก่ ความรัก ความศรัทธา และความหวัง

ส่วนการขับเคลื่อนคนอื่น ต้องใช้ อารยพลานุภาพ ได้แก่ อำนาจ (บังคับ ฝืนใจ) อิทธิพล (จูงใจ เคลื่อนใจ) ศรัทธา (เชื่อใจ วางใจ) และบารมี (ดลใจ บันดาลใจ) โดยทั้งสองแนวคิดนี้อธิบายปัจจัย (What) ที่ขับเคลื่อนตัวเองและคนอื่น

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

ในบทความนี้ ผมจะนำเสนอ AIMMI Model ซึ่งเป็นกลไก (How) ในการขับเคลื่อนบุคคล เป็นกลไกที่เชื่อมอารยมหาพลัง และอารยพลานุภาพ มายังตัวบุคคล เพื่อให้พลังขับเคลื่อนส่งต่อมายังบุคคลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความจำเป็นต่อความสำเร็จในทุกงานและทุกระดับ ทั้งปัจเจก ครอบครัว องค์กร ชุมชน และประเทศชาติ

1. ความหมายของ AIMMI Model

AIMMI Model เป็นแบบจำลองที่อธิบาย กระบวนการเคลื่อนใจคน ซึ่งประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ที่สอดประสานและเชื่อมโยงกัน ดังนี้

  • เป้าทะยานใจ (Aspiration) มาจากรากศัพท์ที่หมายถึง ความปรารถนาอย่างแน่วแน่มั่นคง เพื่อเป้าหมายที่สูงกว่า เป้าทะยานใจเกิดจาก 3 องค์ประกอบหลัก คือ เป้าหมาย (goal) ช่องว่างระหว่างสภาวะปัจจุบันกับเป้าหมาย (gap) และ ความปรารถนาอย่างแน่วแน่มั่นคงที่จะปิดช่องว่างที่มีอยู่
  • แรงบันดาลใจ (Inspiration) มาจากคำว่า inspirit ซึ่งประกอบด้วย in (ใน) และ spirit (จิตวิญญาณ) หรือหมายถึง การระบายลมปราณเข้าไป การทำให้มีชีวิต การใส่จิตวิญญาณเข้าไป หรืออาจสรุปได้ว่า แรงบันดาลใจ คือ แรงผลักจากภายในออกมาภายนอก
  • แรงจูงใจ (Motivation) ความหมายรากศัพท์เดิมนั้น หมายถึง ขับเคลื่อน (to move) หรือ สิ่งที่ขับเคลื่อนบุคคลให้ทำกิจกรรมบางอย่าง ผมจึงนิยามแรงจูงใจว่า เป็นแรงดึงจากภายนอก (pulling force) มีอิทธิพล จูงใจ หรือ บังคับให้ทำบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งมักเป็นเงื่อนไขหรือสภาวะภายนอกที่บังคับหรือจูงใจให้ต้องทำ หรือไปยับยั้งพฤติกรรมที่จะแสดงออก
  • มูลเหตุแห่งใจ (Motive) หมายถึง ความต้องการเชิงนามธรรมภายในจิตใจที่กระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น เหตุผลของการกระทำ สิ่งที่ให้วัตถุประสงค์และทิศทางของพฤติกรรม
  • สิ่งประสงค์ล่อใจ (Incentive) หมายถึง การกระตุ้น (stimulating) ผมนิยาม Incentive ว่า เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม เป็นรางวัลที่กระตุ้นให้คนทำสิ่งต่าง ๆ เช่น เงินทอง ทรัพย์สิน ความร่ำรวย ตำแหน่ง หน้าที่การงาน สวัสดิการ สุขภาพดี การพักผ่อน เป็นต้น
2. เหตุผลที่ AIMMI ช่วยให้สำเร็จในการเคลื่อนคน

AIMMI มีความจำเป็นต่อการเคลื่อนคนให้สำเร็จ ทั้งการสร้างตัว สร้างครอบครัว สร้างชุมชน สร้างองค์กร และสร้างชาติ โดย AIMMI นั้นเป็นกลไกการขับเคลื่อนคนครบ 3 มิติ คือ

  • เป้าหมาย หรือสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นจากการกระทำ เป็น “แรงปรารถนา” ที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย นั่นคือ เป้าทะยานใจ (Aspiration)
  • กระบวนการ ในการเคลื่อนคนให้กระทำบางสิ่ง เป็น “แรงขับ” คือ แรงผลัก และแรงดึง ให้กระทำ ซึ่งก็คือ แรงบันดาลใจ (Inspiration) และ แรงจูงใจ (Motivation)
  • ผลตอบแทน หรือสิ่งตอบแทนจากการกระทำ เป็น “แรงกระตุ้น” เพื่อให้กระทำ ซึ่งก็คือ มูลเหตุแห่งใจ (Motive) และ สิ่งประสงค์ล่อใจ (Incentive)

การขับเคลื่อนคนหรือขับเคลื่อนตนเอง จนประสบความสำเร็จ จะต้องมีครบทั้ง 3 มิติ ที่สอดประสานกัน เพราะ ถ้ามีแต่ เป้าหมาย แต่ขาดกระบวนการ & ผลตอบแทน (Realization only) อาจจะไปไม่ถึงเป้าหมาย เพราะคนไม่มีแรงกระตุ้น ไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม ไม่มีการจัดสภาพแวดล้อมที่จูงใจให้กระทำ หรือไม่มีแรงบันดาลใจที่ผลักดันจากภายใน

ถ้ามีแต่ ผลตอบแทน แต่ขาดเป้าหมาย & กระบวนการ (Action only) อาจจะขยันผิดทาง เพราะขาดเป้าหมาย เปรียบเสมือน มนุษย์เงินเดือนที่ทำงานไปเรื่อยๆ ขาดเป้าหมายและกระบวนการ เพื่อขับเคลื่อนให้ทำงานบางอย่าง จนประสบความสำเร็จ

ขณะที่ ถ้ามีแต่ กระบวนการ แต่ขาดเป้าหมาย & ผลตอบแทน (Direction only) อาจทำได้เพียงระยะสั้น และหมดไฟในที่สุด แม้มีกระบวนการขับเคลื่อนที่เกิดจากแรงบันดาลใจ (Inspiration) เช่น ความเชื่อว่าทำได้ และแรงจูงใจ (Motivation) อันเกิดจากแรงดึงจากปัจจัยภายนอก

แต่ถ้าขาดเป้าหมายจะทำได้ไม่นาน แรงบันดาลใจอาจหมดไปได้ และแรงจูงใจ (Motivation) อาจถดถอย เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน และถ้าขาดผลตอบแทน จะขาดแรงกระตุ้นให้มีกำลังใจทำงานต่อเนื่อง เพราะคนไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการ

3. แนวทางการประยุกต์ใช้ AMMI Model ในการเคลื่อนคนในองค์กร
  • เข้าใจ AIMMI ของผู้ร่วมองค์กร องค์กรควรมีข้อมูลว่า พนักงานในองค์กรแต่ละคนมี AIMMI อย่างไร เพราะทำให้ทราบว่า อะไรเป็นกลไกขับเคลื่อนใจที่สำคัญของแต่ละคน และควรบริหารการทำงานของบุคลากรแต่ละคนอย่างไร จึงจะเป็นผลดีที่สุด โดยอาจวัด AIMMI ของบุคลากรตั้งแต่การรับสมัครคนเข้าทำงาน ผ่านการตั้งคำถามในแบบสอบถามและการสัมภาษณ์ เพื่อคัดเลือกคนที่มี AIMMI สอดคล้องกับเป้าหมายและระบบขององค์กรมากที่สุด และองค์กรควรมีการวัด ตรวจสอบ และประเมิน AIMMI ของพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพราะกลไกขับเคลื่อนคนอาจเปลี่ยนแปลงไป ตามสถานการณ์ และบริบทชีวิตและงานของแต่ละคน
  • ทำให้เป้าหมายส่วนตัวกับเป้าหมายองค์กรสอดคล้องกัน องค์กรจะสร้างผลลัพธ์ได้สูงหากสามารถเชื่อมโยงเป้าหมายองค์กรให้เข้ากับเป้าหมายส่วนบุคคลของพนักงานได้ เพราะพนักงานจะมีแรงปรารถนาในการทำงานที่สนับสนุนเป้าหมายขององค์กร เช่น หากเป้าหมายส่วนตัวของพนักงานบางคน คือ การได้เดินทางรอบโลก เราควรวางตำแหน่งให้เขาได้มีโอกาสทำงานที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ หรือ หากเป้าหมายส่วนตัวเขา คือ เป็นเจ้าของธุรกิจ อาจเปิดโอกาสให้ได้ทำงานในแผนกที่มีการพัฒนาธุรกิจใหม่ เพื่อให้มีโอกาส spinoff ออกไปเป็นบริษัทลูก เป็นต้น

แต่สำหรับพนักงานที่ไม่มีเป้าหมายส่วนตัวที่ชัดเจน อาจจูงใจให้เขารับเอาเป้าหมายองค์กรเข้ามาเป็นเป้าหมายของตนเอง โดยองค์กรควรกระตุ้นอย่างต่อเนื่องให้พนักงานสามารถจดจำเป้าหมายขององค์กรได้ เช่น เขียนวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมองค์กรให้เห็นได้ชัดเจน หรือจัดให้มีการปฏิญาณวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมองค์กรทุกวัน เป็นต้น

  • ออกแบบกลไกที่สนับสนุน AIMMI เพื่อองค์กร โดยปกติ มนุษย์มี AIMMI ที่แตกต่างกัน การจัดระบบขับเคลื่อนพนักงานที่มีกลไกขับเคลื่อนใจที่แตกต่างกัน โดยไม่ทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกหรือเลือกที่รักมักที่ชัง ผู้นำองค์กรควรออกแบบวิธีการที่หลากหลายในการสร้างแรงจูงใจ การบันดาลใจ และการให้ผลตอบแทน เพื่อให้พนักงานมีโอกาสเลือกตามความต้องการของตนเอง หรือมีความยืดหยุ่นในการบริหารบุคลากรโดยลงรายละเอียดเฉพาะบุคคลมากขึ้น (Personalized HR) เป็นต้น

ในปัจจุบันที่โลกมีความซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น องค์กรจำเป็นต้องปรับตัวและตอบสนองความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จ คือ การมีคนที่สามารถ (able) และ ยินดี (willing) ที่จะมีส่วนร่วมกับการดำเนินการขององค์กรในด้านต่างๆ ความเข้าใจเรื่อง AIMMI Model จะเป็นกุญแจสำคัญ ที่ทำให้ผู้นำองค์กรสามารถขับเคลื่อนคนให้มีความสามารถและมีความยินดีในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จร่วมกันได้อย่างแท้จริง

อ่านบทความทั้งหมดของ ดร.เกรียงศักดิ์_เจริญวงศ์ศักดิ์

Featured Image: Image by Freepik