Wednesday, November 13, 2024
ArticlesIoTNetworkingTechnology

โซชูชันเครือข่ายที่มี AIOps คือตัวช่วยประสาน IT กับ OT ให้เป็นหนึ่งเดียว

การใช้โซลูชันเครือข่ายที่มีองค์ประกอบของ AIOps จะเป็นส่วนสำคัญในการนำความสามารถของ AI มาช่วยในการดูแลและวิเคราะห์ ปรับเปลี่ยนระบบเครือข่ายได้อย่างอัตโนมัติ พร้อมช่วยผสานการทำงานระหว่าง IT และ OT

ยุคหลังการแพร่ระบาดโควิด โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ จะต้องปรับเปลี่ยนตนเองเข้าสู่เส้นทางเศรษฐกิจดิจิทัลให้เท่าทันหรือล้ำหน้าคู่แข่งทั่วโลก ด้วยการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือและโซลูชันที่เหมาะสม เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาของการปฏิบัติงานที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่

1.ความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน (Safety) 2.ความทนทานต่อสภาพแวดล้อมในโรงงานที่รุนแรง (Harsh Environment) 3.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบ (Security) และ 4.เพิ่มความน่าเชื่อถือให้ระบบว่าจะสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องในทุกสถานการณ์ (Reliability) ทั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และระบบเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติงาน (OT) ด้วยประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างต่อเนื่อง

บทความโดย: Kwong Hui Tan, ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ไต้หวัน และฮ่องกง/มาเก๊า แห่ง Aruba บริษัทในเครือฮิวเล็ตแพ็กการ์ดเอ็นเตอร์ไพรส์

ผู้เขียนขอแนะนำแนวทางที่องค์กรต่างๆ สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ ด้วยการใช้โซลูชันเครือข่ายที่มีองค์ประกอบของ AIOps (Artificial Intelligence for IT Operations) ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการนำความสามารถของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการดูแลและวิเคราะห์ ปรับเปลี่ยนระบบเครือข่ายได้อย่างอัตโนมัติ พร้อมช่วยผสานการทำงานระหว่าง IT และ OT

1. ปลอดภัยไว้ก่อนเสมอ

หลังการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาเริ่มซาลง โรงงานต่างๆ ต้องการกลับไปทำงานได้เต็มประสิทธิภาพเหมือนช่วงก่อนเกิดโรคระบาดและสามารถทำการผลิตได้อย่างมีเสถียรภาพเช่นเดิม แต่การรักษาสภาพแวดล้อมการทำงานให้ปลอดภัยหากโรคระบาดกลับมาใหม่ยังคงเป็นเรื่องที่โรงงานต่างกังวล

จากการศึกษาของ McKinsey พบว่า บริษัทผู้ผลิตในเอเชียส่วนใหญ่ระบุว่า การใช้มาตรการความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน เช่น การเว้นระยะห่างอย่างปลอดภัยเป็นมาตรการที่ยังคงความสำคัญสูงสุด อย่างไรก็ตาม โรงงานยังคงลังเลเรื่องประสิทธิภาพในการผลิตที่อาจจะลดลงและยังต้องการให้พนักงานกลับไปทำงานในระยะห่างที่ใกล้กันเท่าเดิมก่อนโรคระบาด

ไม่มีความจำเป็นต้องเลือกระหว่างความปลอดภัยของพนักงานและประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งสองเรื่องนี้ควรควบคู่ไปด้วยกัน โรงงานต่างๆ สามารถทำได้โดยตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกๆ ที่ในบริเวณโรงงานนั้นมีสัญญาณระบบเครือข่ายให้เชื่อมต่อได้เป็นอย่างดีและพนักงานทุกคนมีอุปกรณ์การทำงานที่มีการเชื่อมต่ออย่างเหมาะสม

โดยการเลือกใช้โซลูชัน Wi-Fi ที่มีประสิทธิภาพทำให้สามารถดำเนินการติดตามเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงการติดตามและติดต่อพนักงานทุกคนในบริเวณโรงงานได้ตลอดเวลา โซลูชันที่ดีนั้นจะสามารถทำการรวมรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการใช้แบนด์วิดท์ทั้งหมดบนพื้นที่การผลิต ทำให้สามารถจัดหาโซลูชันที่ให้บริการพื้นที่ในขนาดต่างๆ ที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับบริษัทต่างๆ ในการกลับไปทำงานอย่างปลอดภัยโดยไม่ลดทอนประสิทธิภาพการทำงาน

2. อุปกรณ์ปลายทางอัจฉริยะ (Intelligent Edge) ที่สามารถทำงานได้ในทุกสภาวะ

พื้นที่การผลิตในโรงงานบางพื้นที่มีสภาวะแวดล้อมที่อันตราย อาทิ มีอุณหภูมิสูง ไอระเหยที่ติดไฟได้ และความเข้มข้นของฝุ่นสูง ตัวแปรเหล่านี้อาจจะอยู่นอกเหนือการควบคุม แต่ในระยะยาวบริษัทต่างๆ จำเป็นต้องปกป้องความสมบูรณ์ในการทำงานของอุปกรณ์ของตนในพื้นที่จากปัจจัยด้านสภาวะแวดล้อมเหล่านี้

ท้ายที่สุด เมื่อชำรุดลงการเปลี่ยนทดแทนอุปกรณ์ในโครงสร้างพื้นฐานในบริเวณเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูง เมื่อพิจารณาถึงราคาของอุปกรณ์และการหยุดชงักการทำงานโดยไม่จำเป็นเพื่อเอาอุปกรณ์ออกมาซ่อมแซม

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สามารถป้องกันความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างง่ายดายโดยใช้อุปกรณ์ปลายทางอัจฉริยะ (Intelligent Edge) ที่เหมาะสม อย่างเช่น อุปกรณ์ Access Points (APs) ที่เหมาะสำหรับการเชื่อมต่อกลางแจ้งและบริเวณที่ต้องการคุณสมบัติความทนทานสูง

อุปกรณ์จากผู้ผลิตบางรายได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายที่สุด สามารถทนต่อการสัมผัสกับอุณหภูมิสูงและต่ำสุดขั้ว ทนความเร็วลม และพื้นที่ที่มีความชื้น น้ำฝน ละอองฝุ่นและเกลืออย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลายาวนาน ที่สามารถมั่นใจได้ถึงการเชื่อมต่อกับระบบ IT, ระบบเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติงาน (OT) และอุปกรณ์ IoT ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงแม้อยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิผันผวนรุนแรง

3. ตรวจสอบและควบคุมได้อยู่เสมอจากระยะไกล

สภาพแวดล้อมที่รุนแรงก่อให้เกิดความเสี่ยงไม่เพียงต่ออุปกรณ์และระบบโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพนักงานผู้ที่ดำเนินการตรวจสอบและบำรุงรักษาเป็นประจำด้วย

รายงานล่าสุดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศและองค์การอนามัยโลก (WHO/ILO Joint Estimates: Work-related Burden of Disease and Injury, 2000–2016) พบว่า การสัมผัสฝุ่นละออง ก๊าซ และควันจากการทำงานเป็นสาเหตุอันดับสองของการเสียชีวิตจากการทำงานทั่วโลก เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางอุตสาหกรรม การผลิตและการแปรรูปวัสดุ อาจจะส่งผลให้พนักงานเสี่ยงต่อการระเบิด สนามแม่เหล็กแรงสูง และระดับเสียงที่อาจจะทำให้พนักงานผู้ปฏิบัติงานหูหนวกได้

เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีพนักงานอยู่ในพื้นที่อันตรายโดยตรง แต่ยังสามารถปฏิบัติงานได้เช่นเดิม บริษัทต่างๆ สามารถใช้การตรวจสอบและบำรุงรักษาจากระยะไกลผ่านเครื่องมือจำลองเสมือนจริง (AR/VR)

จริงอยู่ที่โซลูชันเหล่านี้จะทำให้เครือข่ายทำงานหนักขึ้น แต่ผู้ผลิตเทคโนโลยีเครือข่ายบางรายได้พัฒนาการจัดการแบนด์วิดธ์สามารถจัดลำดับความสำคัญของการรับส่งข้อมูลบนแอปพลิเคชัน AR/VR ได้อย่างอัตโนมัติ ด้วยกระบวนการจัดสรรทรัพยากรแบนด์วิดท์ของปัญญาประดิษฐ์อันชาญฉลาด

4. ความมั่นคงปลอดภัยของระบบ ยังคงมีความสำคัญสูงสุด

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการนำอุปกรณ์ IoT มาใช้อย่างแพร่หลายในทุกอุตสาหกรรม โดยในรายงาน IoT Signals Report ของ ไมโครซอฟท์ พบว่า ภายในพื้นที่การผลิต 91% ของบริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนอุปกรณ์ IoT อย่างรวดเร็ว

ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่นิยมใช้ IoT มาปรับปรุงเครื่องจักรให้กลายเป็นระบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งส่งผลต่อเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของระบบซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ โดย 27 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทเหล่านี้ ต่างกังวลถึงความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการนำอุปกรณ์ IoT มาใช้ และก็เป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้บางโรงงานไม่กล้าเสี่ยง

ในขณะที่ IoT ยังคงหยั่งรากลึกลงเรื่อยๆ การมีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเชิงคาดการณ์ (Predictive Security Posture) จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งทีมไอทีจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องมือเพื่อสามารถรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์และคาดการณ์ เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่พึ่งประสงค์ไม่ให้เกิดขึ้น

นี่คือเหตุผลที่โซลูชันด้านเครือข่ายในโลกปัจจุบัน จำเป็นต้องมี AIops ที่มีคุณสมบัติเชิงปัญญาประดิษฐ์ (AI) และความสามารถในการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) เนื่องจากโซลูชันเหล่านี้ไม่เพียงแต่ต้องสามารถคาดการณ์ได้ทั้งในระบบควบคุมแบบปิด (Closed Loop) และระบบแบบ end-to-end แล้วเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยทำให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยของอุปกรณ์ IoT ทั้งหลายในเชิงรุกได้อีกด้วย

ระบบเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติงาน (OT) ไม่ใช่จุดอ่อนอีกต่อไป

ระบบเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติงาน (OT) เป็นฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในระบบควบคุมอุตสาหกรรม ซึ่งนับเป็นระบบหลักที่ทำงานอยู่เบื้องหลังกระบวนการทางอุตสาหกรรม แต่เดิมจะแยกจากเครือข่ายไอที (IT) เพื่อป้องกันการโจมตีจากภายนอก และจะต้องทำงานได้ตลอดเวลา มีความยืดหยุ่น ทนทานสูง และความน่าเชื่อถือเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด

อย่างไรก็ตาม จุดบกพร่องจากความผิดพลาดของอุปกรณ์และการเชื่อมต่อเครือข่ายที่ไม่น่าเชื่อถือ รวมทั้งการบำรุงรักษาและการหยุดชะงักการทำงานนอกแผน ล้วนแต่ขัดขวางประสิทธิภาพการทำงานและทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ความจริงก็คือ หากสามารถดำเนินการบำรุงรักษาในเชิงรุก ค่าใช้จ่ายอาจลดลงได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์

เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินงานของ OT ยังคงเชื่อถือได้ โรงงานอุตสาหกรรมชั้นนำได้ใช้วิธีการ โยกย้ายระบบเก่าที่มักจะต้องหยุดชะงักนอกแผนเพื่อซ่อมบ่อยๆ มายังระบบที่มีเครื่องมือบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance Tools) ซึ่งจะช่วยให้มีความสามารถมองทะลุครอบคลุมในเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของทุกอุปกรณ์และเครื่องจักร รองรับความพร้อมในการใช้งานสูง และให้ผลตอบแทนสูงสุดจากการลงทุน

ซึ่งเซ็นเซอร์อัจฉริยะต่างๆ จะใช้อัลกอริธึมขั้นสูงเพื่อแจ้งให้วิศวกรทราบถึงสภาวะที่ผิดปกติก่อนอุปกรณ์จะขัดข้อง มีการรายงานข้อมูลจากอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ ข้อมูลด้านประสิทธิภาพการทำงานในระดับแอปพลิเคชัน ครอบคลุมไปจนถึงระดับอุปกรณ์ที่ปลายทาง (Edge) เพื่อให้ทีมไอทีได้นำไปวิเคราะห์และดำเนินการป้องกันได้ก่อนที่จะเกิดปัญหาขึ้น

โซลูชันเหล่านี้ช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถดำเนินการซ่อมแซมเครื่องจักรได้ก่อนที่กระบวนการทำงานจะหยุดชะงักและได้รับผลกระทบ ช่วยลดการหยุดการทำงานนอกแผน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้อุปกรณ์และเครื่องจักร และช่วยปรับแผนกำหนดการทำงานของวิศวกรภาคสนามให้เหมาะสมที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มผลกำไรในที่สุด

ผนวก IT และ OT ให้เป็นหนึ่งเดียวด้วย AIops เป็นสิ่งที่จำเป็น

ธุรกิจและบริษัทผู้ผลิตกำลังเผชิญกับความท้าทายตลอดช่วง 24 เดือนที่ผ่านมา และเริ่มเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเทคโนโลยีที่พวกเขานำมาใช้

จากการสำรวจ COVID-19: An inflection point for Industry 4.0 ของ Mckinsey ได้ สำรวจบริษัทผู้ผลิตทั่วโลกกว่า 400 แห่ง เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมดระบุว่า Industry 4.0 ได้ช่วยให้การดำเนินงานของพวกเขาดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในช่วงวิกฤต และมากกว่าครึ่งกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่พวกเขาดำเนินการนั้น มีความสำคัญต่อการรับมือการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรน่าอย่างประสบความสำเร็จ

ในยุคใหม่ของการทำงานและธุรกิจนี้ มีความจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตในการปรับโครงสร้างใหม่ คิดใหม่ และกำหนดแนวทางสำหรับเทคโนโลยีใหม่ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายและขับเคลื่อนประสิทธิภาพและผลลัพธ์ทางธุรกิจ

การนำโซลูชันเครือข่ายที่มี AIOps เป็นหัวใจสำคัญมาใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรมและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดมากในการช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถผนึกระบบเครือข่าย IT และ OT ของตนเป็นหนึ่งเดียว

ช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างปลอดภัย ระบบการทำงานยังคงต่อเนื่องแม้จะเผชิญสภาพแวดล้อมที่รุนแรง สามารถดูแลอุปกรณ์ได้จากระยะไกล และมีระบบที่มั่นคงปลอดภัย โดยมีประสิทธิภาพในการผลิตกลับไปเหมือนเดิมหรือสูงขึ้นอีกครั้ง

Featured Image: Monitoring photo created by Lifestylememory – www.freepik.com