Wednesday, April 24, 2024
NEWS

เปิดตัว FoodDeeHub Kitchens บริการอาหารแช่แข็งพร้อมปรุง ภายใต้แนวคิด Cloud Kitchen

ฟู้ดดีฮับ เปิดตัว FoodDeeHub Kitchens บริการอาหารแช่แข็งพร้อมปรุงและพร้อมทานแบบเดลิเวอรี่ ภายใต้แนวคิด Cloud Kitchen รองรับพฤติกรรมการบริโภคและการเติบโตฟู้ดเดลิเวอรี่

ชัยพัฒน์ คุณาภิวัฒน์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำประเทศไทย ฟู้ดดีฮับ (FoodDeeHub) เปิดเผยว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สร้างความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้บริโภค รวมถึงการบริการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่”

ฟู้ดดีฮับ จึงเปิดตัว FoodDeeHub_Kitchens ที่เป็นบริการอาหารแช่แข็งพร้อมปรุงและพร้อมทาน ปรุงสด สะอาด อร่อย โดยเชฟระดับโรงแรมห้าดาว ภายใต้แนวคิด Cloud Kitchen ในลักษณะศูนย์รวมอาหารแช่แข็งพร้อมปรุงและพร้อมทาน และอำนวยความสะดวกการสั่งและส่งอาหารผ่านแอปฯ ทั้งนี้เพื่อต่อยอดธุรกิจอาหารครบวงจร ตอบโจทย์วิถีใหม่และรองรับการเติบโตตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่

ชัยพัฒน์ คุณาภิวัฒน์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำประเทศไทย ฟู้ดดีฮับ

“FoodDeeHub_Kitchens ซึ่งเป็นครัวเดลิเวอรี่ของฟู้ดดีฮับ (Cloud Kitchen ไม่มีหน้าร้าน) เป็นการต่อยอดและขยายธุรกิจ ไปยังสำหรับกลุ่มลูกค้าทั่วไป (B2C) เพื่อให้บริการด้านอาหารอย่างครบวงจร

เพิ่มเติมจากผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่เป็นวัตถุดิบพร้อมปรุงและอาหารพร้อมทานที่เปิดตัวก่อนหน้าช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยหวังว่าการต่อยอดธุรกิจในการเปิดครัวเสิร์ฟอาหารปรุงพร้อมทานจะเป็นการขยายฐานลูกค้าให้กับเราได้มากขึ้น”

CLOUD KITCHEN โอกาสของผู้ประกอบการร้านอาหาร

ในรายงานของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้อธิบายถึง Cloud Kitchen ว่า คือ เทรนด์ ธุรกิจร้านอาหารแนวใหม่ในการตอบโจทย์ธุรกิจการบริการจัดส่งอาหาร (Food Delivery) ไปยังที่พักในไทยซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเป็นอีกหนึ่งรูปแบบธุรกิจร้านอาหารแนวใหม่ที่น่าสนใจ

ปัจจุบันในประเทศไทยสามารถแบ่งรูปแบบ Cloud Kitchen ได้สองรูปแบบคือ

1.การให้บริการพื้นที่ครัวกลางพร้อมอุปกรณ์ในการทำครัว ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการร้านอาหารเข้ามาเช่าพื้นที่ครัวเพื่อประกอบอาหาร

2.การรวมร้านอาหารหลายๆ ประเภทของผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาอยู่ในจุดพื้นที่ Cloud Kitchen เดียวกัน โดยทั้งสองรูปแบบนั้นมีจุดหมายเดียวกันคือ เน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการสั่งอาหารไปยังที่พักรวมถึงไปรับอาหารด้วยตนเอง

ปัจจุบัน ธุรกิจร้านอาหารแบบ Cloud Kitchen ได้รับความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนจากผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจของแต่ละผู้ประกอบการ ได้แก่

กลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเครือข่ายร้านอาหารเพิ่มช่องทางการขายอาหารในพอร์ต (แบบ One Stop Service) รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการขยายสาขา เนื่องจากการขยายสาขาในรูปแบบเดิมมีต้นทุนที่สูงทั้งเงินลงทุนล่วงหน้า ค่าใช้จ่ายประจำรวมถึงแรงงาน

นอกจากนี้ Cloud Kitchen ยังช่วยเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้จากค่าเช่าที่หรือส่วนแบ่งรายได้จากร้านอาหารขนาดเล็กที่เข้ามาใช้พื้นที่ เพื่อชดเชยรายได้เฉลี่ยต่อสาขาเดิม (Same Store sale) ที่มีทิศทางชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มผู้ให้บริการแพลตฟอร์มธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ขยายฐานลูกค้าและเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ จากค่าเช่าที่หรือส่วนแบ่งรายได้จากร้านอาหารขนาดเล็กที่เข้ามาใช้พื้นที่  นอกจากนี้การขยายจุด Cloud Kitchen ไปยังพื้นที่ต่างๆ ช่วยลดข้อจำกัดในการสั่งอาหารข้ามเขตพื้นที่และค่าบริการขนส่งอาหาร

FoodDeeHub Kitchens เป็นหนึ่งใน Cloud Kitchen ที่จะมีมากกว่า 50 จุด ณ สิ้นปี 2565

รวมถึงช่วยดึงร้านอาหารที่มีชื่อเสียงขนาดเล็กเข้ามาร่วมในระบบ โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้อาจมีการนำเสนอระบบการจัดการธุรกิจหลังบ้านด้านต่างๆ อาทิ การจัดหาและขนส่งวัตถุดิบ และการทำโฆษณา เป็นต้น ให้กับร้านอาหารที่เข้าร่วม

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ อย่างผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เข้ามาลงทุนในธุรกิจ Cloud Kitchen เพื่อสร้างรายได้จากค่าเช่าพื้นที่

ดังนั้น จากการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์แผนการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ณ สิ้นปี 2565 น่าจะมีจำนวน Cloud Kitchen มากกว่า 50 จุด

ซึ่งคาดว่าจะมีสัดส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเครือข่ายร้านอาหารสูงกว่า อย่างไรก็ดีเนื่องจากโมเดลธุรกิจนี้ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเติบโต ทำให้โอกาสในการสร้างรายได้ของผู้ให้บริการพื้นที่ Cloud Kitchen ในช่วงแรกนี้ยังมีจำกัด และหากต้องการเพิ่มรายได้จากช่องทางดังกล่าว การกระจายสาขาเพื่อให้ครอบคลุมแหล่งที่อยู่อาศัย รวมถึงการขยายพอร์ตร้านอาหารที่มีชื่อเสียงเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ อาจเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเติบโตในระยะข้างหน้า