Wednesday, September 18, 2024
ArticlesInfrastructureTechnology

ความท้าทาย 5 ประการในการมอนิเตอร์โครงสร้างพื้นฐานองค์กร

เซบาสเตียน ครูเกอร์ รองประธาน Paessler ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ให้ความเห็นในบทความถึงประเด็น ความท้าทาย 5 ประการในการมอนิเตอร์โครงสร้างพื้นฐาน ไอทีที่ซับซ้อน ในยุค Digital Transformation

ารมอนิเตอร์ระบบไอที และระบบเครือข่ายขนาดใหญ่ เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น หลักการสำคัญของการมอนิเตอร์ระบบนั้นเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบเล็กหรือระบบขนาดใหญ่ แต่เครือข่ายที่ใหญ่ขึ้นก็มักตามมาด้วยความท้าทายเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นตามความซับซ้อนของระบบที่มีมากขึ้น

การมอนิเตอร์ระบบโครงสร้างพื้นฐานไอที โดยเฉพาะระบบขนาดใหญ่ มีความท้าทาย 5 ประการ ดังนี้

เรื่องที่ 1 การใช้ทูลตรวจสอบหลายตัว

ระบบขนาดใหญ่มักมีอุปกรณ์จากหลายผู้ผลิต ซึ่งมีระบบที่ใช้หลากหลาย แต่ละอุปกรณ์หรือระบบเหล่านี้ก็มีทูลตรวจสอบข้อมูลเป็นของตัวเอง ดังนั้น จึงเห็นได้บ่อยในองค์กรขนาดใหญ่ที่จะมีทูลการตรวจสอบ หรือติดตามระบบต่างๆ ประมาณ 10 – 15 ทูลสำหรับทำงานแต่ละหน้าที่ เช่น การตรวจสอบสตอเรจ, ประสิทธิภาพเครือข่าย, แอปพลิเคชัน, ฐานข้อมูล, และอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น

เรื่องที่ 2 เครือข่ายกระจายอยู่หลายพื้นที่
บทความโดย: เซบาสเตียน ครูเกอร์ รองประธาน Paessler ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ อุปกรณ์และระบบโครงสร้างพื้นฐาน มักกระจายไปตามตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ซึ่งขึ้นกับรูปแบบการจัดการเน็ตเวิร์กเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายแยกกัน หรือมีการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างกันบ้าง หรืออาจจะเชื่อมเข้าเป็นเครือข่ายใหญ่หนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมแบบไหน

ความท้าทายที่เกิดขึ้นก็คือ ฝ่ายไอทีต้องคอยตรวจสอบแต่ละเครือข่ายย่อย แยกกัน แล้วจะทำอย่างไร จึงจะได้เห็นภาพรวมสถานะของระบบทั้งหมดได้?

เรื่องที่ 3 การตรวจสอบที่มากกว่าเรื่องไอที

ระบบไอทีที่ใช้งานเฉพาะทางก็จะมีความต้องการที่จำเพาะของงานแต่ละประเภทด้วย ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาล บริษัทผลิตรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม หรือธุรกิจแต่ละประเภทก็มักมีการใช้โปรโตคอล, ชนิดอุปกรณ์, ระบบ, และความท้าทายที่แตกต่างกัน

ถึงแม้ก่อนหน้านี้แต่ละองค์ประกอบของเครือข่ายที่จำเพาะจะอยู่แยกตัดขาดออกมาจากระบบไอทีปกติ อย่างระบบที่ใช้ปฏิบัติงานในอุตสาหกรรม อุปกรณ์ทางการแพทย์ในกลุ่มเฮลธ์แคร์ แต่ปัจจุบันการปฏิวัติทางดิจิทัลได้เข้ามาเชื่อมต่อระบบดังกล่าวเข้าด้วยกัน แปลว่าอุปกรณ์ที่เคยอยู่นอกขอบเขตของระบบไอทีแบบเดิม ก็ต้องได้รับการเฝ้าตรวจติดตามด้วย

เรื่องที่ 4 ทีมงานและผู้เชี่ยวชาญ

นอกจากนี้ เรื่องการจัดการจากศูนย์กลางแล้ว การจัดการแต่ละส่วนย่อย จำเป็นต้องอาศัยเจ้าหน้าที่มาคอยดูแล ตัวอย่างเช่น ทีมฐานข้อมูล และทีมทราฟิกบนเครือข่าย ซึ่งแต่ละส่วนย่อย จะต้องมีการจัดการบทบาทและสิทธิ์การใช้งาน, การใช้แดชบอร์ดและแผนผัง รวมทั้งระบบการแจ้งเตือนแยกต่างหาก เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบุคคลที่เหมาะสมจะได้รับการแจ้งเตือนทันเวลา และสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นเพื่อใช้แก้ปัญหาได้

เรื่องที่ 5 การมองข้อมูลภาพรวมจากศูนย์กลาง

ด้วยความหลากหลายทั้งอุปกรณ์ โปรโตคอล ทูลตรวจติดตาม และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายครอบคลุมไปหลายตำแหน่งที่ตั้งนั้น ทำให้ยากที่จะมองเห็นภาพรวมของระบบไอทีทั้งหมด เวลาที่เพิ่มระบบไอทีเฉพาะทางเข้ามาอย่างเช่น ระบบของบริการทางการแพทย์ หรือระบบสำหรับอุตสาหกรรม

ดังนั้น อาจจะต้องมีหลายแดชบอร์ด หลายรีพอร์ตกระจายอยู่ในที่ต่างๆ อีกทั้งการเฝ้าติดตามหลายอุปกรณ์ หลายแอปพลิเคชัน หลายระบบ ทำให้มีการสร้างข้อมูลขึ้นมาปริมาณมหาศาลจนทำให้เราหลงทางได้ ดังนั้น การที่สามารถรวมศูนย์ข้อมูลเหล่านี้มาอยู่ในภาพรวมเดียวกันนั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวด

ด้วยความท้าทาย 5 ประการดังกล่าว เป็นเหตุผลให้ CIO ในองค์กรที่กำลังก้าวสู่ Digital Transformation จำเป็นต้องเลือกใช้เครื่องมือที่มีปรนะสิทธิภาพเช้ามาช่วยให้การมอนิเตอร์เครือข่ายง่ายขึ้น

Featured Image: Metal work photo created by senivpetro – www.freepik.com