Friday, May 3, 2024
ColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

โมเดลบ้านสามหลัง: สร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชน

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

ผมขอเสนอแนวทางแก้ไข ปัญหาเรื่องเยาวชน โดยอาศัยแนวคิดโมเดลบ้านสามหลัง โดยวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่เยาวชนเกิดปัญหามาจากหลายปัจจัย แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ปัญหาที่มาจากการเลี้ยงดู การอบรมสั่งสอน การเป็นแบบอย่าง การมีอิทธิพลในทางบวกของคนในสังคม โดยเฉพาะแบบอย่างผู้นำในสังคมจากบ้านสามหลัง

ากเหตุการณ์สะเทือนขวัญคนไทยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา เยาวชนอายุ 14 ปี ก่อเหตุกราดยิง ที่ห้างสยามพารากอน โดยมีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีก 5 ราย คนร้ายมีพฤติกรรมเลียนแบบสังหารหมู่ ใน USA เพราะการแต่งตัว บ่งบอกถึงการเตรียมการมาก่อเหตุ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงและปัญหาของเยาวชนในสังคมปัจจุบัน รายงานจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็ก ปี 2565 พบว่า เยาวชนถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ ทั่วประเทศ ทั้งหมด 12,192 คดี ในจำนวนนี้ มากถึง 6,306 คดี หรือคิดเป็น 51.72% นั้น ผู้กระทำความผิดมีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา

ขณะที่เมื่อมีการจำแนกตามฐานความผิด พบว่า คดีที่มีฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย นั้นมีจำนวนมากถึง 1,695 คดี หรือคิดเป็น 13.90% ซึ่งสูงที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ของคดีเด็กและเยาวชน ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมความรุนแรงของเด็กและเยาวชน อาทิ ความผิดปกติทางจิต สภาพแวดล้อมที่แข่งขันสูงโดยเฉพาะด้านการเรียน การถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อน ปัญหาครอบครัว รวมถึงความต้องการเรียกร้องความสนใจจากสังคม เป็นต้น

บทความโดย: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

ผมวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่เยาวชนเกิดปัญหามาจากหลายปัจจัย แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ปัญหาที่มาจากการเลี้ยงดู การอบรมสั่งสอน การเป็นแบบอย่าง การมีอิทธิพลในทางบวกของคนในสังคม โดยเฉพาะแบบอย่างผู้นำในสังคมจากบ้านสามหลัง ตามแนวคิดที่ผมได้เสนอไว้ในหนังสือ คนกล้าสร้างได้: โมเดลบ้านสามหลัง[1] อันได้แก่

บ้านหลังที่หนึ่ง “ครอบครัว” มีพ่อและแม่เป็นไอดอล คนแรกของลูก เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีทั้งคุณพ่อคุณแม่ที่ครบสมบูรณ์แบบ มีแนวโน้มที่จะเติบโตเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ แต่เราพบว่าปัญหาสังคมโดยเฉพาะปัญหายาเสพติดปัญหาวัยรุ่นตีกัน หรือมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงมักมีสาเหตุมาจากครอบครัวมีปัญหา พ่อไปทาง แม่ไปอีกทาง หรือเป็นกำพร้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือกำพร้าทั้งสองฝ่ายเด็กจึงขาดไอดอลให้เดินตาม

การมีไอดอลที่ชัดเจนนั้นสำคัญยิ่งกว่าความร่ำรวยของครอบครัว หลายครอบครัวที่แม้เป็นครอบครัวที่มีฐานะดีก็ยังไม่สามารถสร้างลูกให้ประสบความสำเร็จได้ เพราะขาดความเข้าใจในการอภิบาลดูแลเด็ก พ่อแม่จึงเป็นบุคคลสำคัญหากพ่อแม่เป็นผู้ที่สามารถเป็นแบบอย่างให้เด็กได้ในทุกด้านได้อย่างแท้จริงแล้ว

บ้านหลังที่สอง ได้แก่ 1. โรงเรียน มีครูเป็นไอดอล และ 2. ที่ทำงานมีหัวหน้าเป็นไอดอล เด็กคนไหนมีครูหรือเจ้านายที่ดีสามารถเป็นแบบอย่างที่น่านับถือให้เด็กสามารถเดินตามได้นับว่าเด็กคนนั้นโชคดี ได้รับการพัฒนาชีวิตและมีความสุขในการเรียนหรือการทำงาน

แต่หากเด็กได้เรียนกับครูที่ไม่ดี ไม่ตั้งใจสอนหนังสือ ไม่มีอุดมการณ์ในการสร้างเด็ก ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจเด็ก หรือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เด็กจะไม่สามารถพัฒนาไปได้ไกลสูงสุด บุคลากรครูจึงควรเป็นผู้ถูกคัดสรรมาอย่างดี ควรมีระบบที่ดูแลค่าตอบแทนอย่างดี ให้เกียรติอย่างเหมาะสม

บ้านหลังที่สาม สังคม ได้แก่ 1.ผู้นำอุดมการณ์ทางกายภาพ มีผู้นำการเมืองเป็นไอดอล และ 2. ผู้นำอุดมการณ์ทางจิตภาพ มีผู้นำศาสนาเป็นไอดอล หากเด็กขาดโอกาสที่มีพ่อแม่เป็นแบบอย่าง หรือไม่มีครูที่เป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาตน แต่เขามีบุคคลในสังคมที่เป็น “ไอดอล” ที่ประสบความสำเร็จ มีลักษณะชีวิตที่น่านับถือ มีอุดมการณ์ที่อยู่เพื่อคนอื่น มีความดี เก่งและกล้าแล้ว จะเป็นแรงขับให้เขาพัฒนาตนไปได้ไกลสูงสุดได้เช่นกัน

ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก การขาดผู้นำในบ้านสามหลังที่เป็นส่วนสำคัญในการทำหน้าที่สร้างคน ผมขอเสนอแนวทางแก้ไขตามแนวคิดโมเดลบ้านสามหลัง ดังนี้

1. การจัดตั้งสถาบันศาสตร์ความเป็นพ่อแม่

เน้นบทบาทของครอบครัวในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชน เพื่อสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ สอนตั้งแต่การใช้ชีวิตคู่อย่างมีความสุข การจัดการปัญหาภายในครอบครัว เพื่อเสริมสร้างทักษะและความเข้าใจในบทบาทของคุณพ่อคุณแม่ เรียนรู้เทคนิคและหลักการที่สำคัญในการเลี้ยงลูกที่ถูกต้อง

เช่น ความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่ และการให้คำปรึกษา พร้อมทั้งส่งเสริมกิจกรรมที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นต้น เพื่อเยาวชนสามารถเผชิญกับความท้าทายในสังคมได้อย่างมีความสุข ตลอดจนสร้างเครือข่ายครอบครัวในระดับท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชนในอนาคต

2. การจัดตั้งโฮมสคูลควบคู่ระบบโรงเรียน[2]

มีการจัดการศึกษาโดยครอบครัวหรือโฮมสคูล (Home School) นับเป็นทางเลือกหนึ่งที่กฎหมายเปิดโอกาสให้พ่อแม่มีส่วนจัดการศึกษาให้ลูกได้ นอกเหนือไปจากระบบการเรียนปกติในโรงเรียน อาทิ ความเข้าใจการสอนที่ตรงใจกับความต้องการและเข้ากันได้ดีกับลูกของตนมากที่สุด

การอุดจุดอ่อนจากระบบของโรงเรียน เช่น หากโรงเรียนเน้นเล่นสนุกสนาน แต่อาจอ่อนในด้านวิชาการ พ่อแม่อาจต้องทำโฮมสคูลเสริมในด้านวิชาการกับลูก โดยมีการประสานความร่วมมือกับโรงเรียน หรือครูผู้สอน เพื่อร่วมมือกันในการเสริมสร้างพัฒนาการและดึงเอาศักยภาพลูกของตนออกมาให้มากที่สุด รวมทั้งการปรับปรุงลักษณะนิสัยพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ด้วย

3. การสร้างนวัตกรรมการศึกษา

ลดเวลาเรียนเหลือ 16 ปี[3] ปัจจุบันเด็กนักเรียนใช้ระยะเวลาอยู่ในระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัยทั้งหมด 19 ปี ผมเสนอความคิดนวัตกรรมทางการศึกษา ให้ปรับลดเวลาเรียนและเพิ่มคุณภาพการจัดการศึกษาเป็น 16 ปี ประกอบด้วย ระดับอนุบาล 3 ปี ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาปรับลดเวลาลงจาก 12 ปี เป็น 10 ปี

และระดับมหาวิทยาลัยจาก 4 ปี เป็น 3 ปี โดยให้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้สมดุลครบถ้วนทั้ง การพัฒนาความรู้วิชาการ การเสริมสร้างทักษะ และการสร้างลักษณะชีวิตที่ดีงาม โดยจัดสรรเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งช่วงเวลาเรียน ช่วงวันหยุด และช่วงปิดเทอม ให้เป็นเวลาแห่งการเรียนรู้ทั้งหมด ไม่ปล่อยให้มีเวลาว่างอย่างไร้ประโยชน์

4. การจัดตั้งโรงเรียนสร้างชาติ

โรงเรียนสร้างชาติเป็นสถาบันต้นแบบที่ผมเสนอแนวคิด เพื่อจะขับเคลื่อนการสร้างผู้เรียนให้เป็นคนดี คนเก่ง และคนกล้า มีสมรรถนะอยู่รอดแข่งขันได้ โรงเรียนจะทำหน้าที่สร้างผู้เรียนให้มีมิติเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า มีความหมาย โดยอยู่บนพื้นฐานที่เรียกว่า “อารยะ”

กล่าวคือ ในสังคมที่มีทั้งคนดีและคนไม่ดีอยู่ปะปนกัน โรงเรียนจะสร้างภูมิคุ้มกันและช่วยผลักดันให้ผู้เรียนมีการพัฒนา เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ ส่งเสริมให้ผู้เรียนและบุคลากรนำ ความรู้ ความสามารถ มาใช้ให้เป็นประโยชน์คุ้มค่าสูงสุดต่อการสร้างชาติร่วมกัน โดยตั้งเป้าหมายสู่มาตรฐานความเป็นเลิศตามหลักสากล พร้อมมุ่งมั่นและลงมือปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง

เป็นโอกาสยกระดับคุณภาพผู้เรียนและบุคลากรสู่มาตรฐานสากล เกิดประโยชน์สูงสุดกับสังคมโดยรวม โดยมีระบบการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม เพี่อเป็นต้นแบบในการสร้างคนและสร้างชาติให้งดงามและเลอค่าต่อไป

5. สานสัมพันธ์เยาวชนสู่ชุมชุน

มีการจัดระบบให้เยาวชนได้ลงไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์แก่ชุมชนที่อยู่ใกล้กับโรงเรียน หรือทำจิตอาสา โดยผมได้จัดตั้ง “กองทุนเวลา” ที่เป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างผ่านการเข้าร่วมการทำความดี เพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสรู้จักสภาพสังคมในมุมที่หลากหลาย

เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชน และปลูกฝังให้เยาวชนมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีจิตสาธารณะ โดยการพาลงไปทำกิจกรรมช่วยเหลือชุมชนและสังคมในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงร่วมมือกับโรงเรียนจัดทำ “สมุดพกความดี” ที่นำไปใช้สมัครเรียนต่อได้ เป็นต้น

6. สร้างเครือข่ายบุคลากรที่มีอุดมการณ์เพื่อสังคม

เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์และประสบการณ์การทำงานเพื่อสังคม ให้กับบุคลากรได้แก่ พ่อแม่ ครู ผู้นำชุมชน และผู้นำสังคม เช่น สถาบันการสร้างชาติ (NBI) จัดค่ายเยาวชน ค่ายครูสร้างชาติ และค่ายพ่อแม่สร้างชาติ เพื่อการสร้างชาติเพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ และทำโครงการจิตสาธารณะ ส่วนภาครัฐกิจ ธุรกิจ ให้เวลาพนักงาน ทำงานในภาคประชากิจ ในทุกวันหยุด และทุกช่วงปิดเทอม เป็นต้น

ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทย จะต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับ “บ้านสามหลัง” ที่เป็นภูมิคุ้มกันช่วยสร้างเกราะป้องกันที่เข็มแข็งให้กับเด็กและเยาวชน ผมอยากปลุกความคิดของ “ไอดอล” จากบ้านทั้งสามหลังนี้ เราจำเป็นต้องกล้าที่จะเป็นไอดอลแท้ เป็นต้นแบบให้คนรุ่นต่อไป สามารถเลียนแบบนำมาใช้ในชีวิตจริงได้ มีอิทธิพลทางบวกส่งผ่านให้กับเยาวชนที่เป็นอนาคตชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อสร้างชีวิตให้เด็กและเยาวชนไทยให้เป็นคนดีและมีคุณภาพของประเทศชาติต่อไปในวันข้างหน้าครับ

[1] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2560). สคนกล้า สร้างได้ : โมเดล บ้านสามหลัง. กรุงเทพฯ: ซัคเซส พับลิชชิ่ง.

[2] ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2551).ทำ “โฮมสคูล” ควบคู่ระบบโรงเรียน..วารสารแม่และเด็ก

[3] นำเสนออย่างเป็นทางการในการปาฐกถาหัวข้อ นวัตกรรมการศึกษาเพื่อการพัฒนาสังคมสู่ความยั่งยืน การประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติ ครั้งที่ 6 จัดโดย มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสถาบันระดับอุดมศึกษา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 สถาบัน และต่างประเทศ 3 สถาบัน ณ หอประชุมประภากรคอนเวนชั่นฮอลล์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2562

อ่านบทความทั้งหมดของ ดร.เกรียงศักดิ์_เจริญวงศ์ศักดิ์