
“เหตุการณ์ แผ่นดินไหว ในประเทศไทย เป็นอีกครั้งที่ทำให้เราทุกคนต้องทบทวนเรื่องการวางแผนทั้งเชิงรับและเชิงรุกอย่างรอบด้าน กระตุ้นให้เราทุกคนตระหนักถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อม รับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 ประเทศไทยได้เผชิญกับเหตุการณ์ แผ่นดินไหว ที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติ แรงสั่นสะเทือนแผ่กระจายครอบคลุมแทบทุกภูมิภาคของประเทศ นำมาซึ่งความตกตะลึงและความไม่คาดฝันต่อประชาชนในวงกว้าง
เหตุการณ์ครั้งนี้ได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในสังคม และเป็นที่จดจำของผู้คนในฐานะเหตุการณ์ที่ท้าทายความเชื่อเดิมเกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย
สำหรับผม ผมคาดการณ์หลายปีมาแล้วเรื่องแผ่นดินไหวรุนแรงในไทย เหตุการณ์นี้ไม่เพียงแต่เป็นช่วงเวลาแห่งความตระหนักรู้ของคนไทยหากยังเป็นบทเรียนอันทรงคุณค่า ที่กระตุ้นให้เราทุกคนตระหนักถึงความจำเป็นในการเตรียมความพร้อม รับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยให้แก่ชีวิตและสังคมในระยะยาว ดังต่อไปนี้
1. อย่าชะล่าใจ แม้ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงสูง
แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศที่อยู่ในแนววงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) เหมือนประเทศที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ญี่ปุ่น หรืออินโดนีเซีย แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ตอกย้ำว่า ความเสี่ยงอาจแฝงอยู่ในความประมาท และเราทุกคนต้องเตรียมตัวอย่างไม่ประมาท
เพราะภัยธรรมชาติไม่เลือกเวลาและสถานที่ และการเปลี่ยนแปลงกายภาพโลกด้วยวัฏจักรโลกจักรวาล และการกระทำของมวลมนุษย์ จะทำให้อนาคตภัยธรรมชาติเปลี่ยนจากสภาพที่คาดการณ์ไปสู่สภาวะใหม่ได้
2. การมองการณ์ไกลคือหลักประกันภัยในยามวิกฤต
การเตรียมการไว้ล่วงหน้า เช่น การวางแผนผังเมือง การกำหนดจุดปลอดภัย การซ้อมรับมือ และการเลือกใช้วัสดุที่ได้มาตรฐาน ล้วนเป็นการลงทุนเพื่อความอยู่รอดของสังคม ความคิดที่ลึกซึ้งและรอบคอบก่อนการลงมือปฏิบัติจริง คือแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดความสูญเสียได้ในอนาคต
3. นิสัย ‘กันไว้ดีกว่าแก้’ ย่อมไม่แพ้ทุกเภทภัย
แนวคิดในการป้องกันล่วงหน้าเป็นพฤติกรรมที่ควรได้รับการปลูกฝังตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับนโยบายของประเทศ เพื่อให้เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ทุกชีวิตจะไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น ตัวอย่างเช่น การออกแบบอาคารให้สามารถทนต่อแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวขั้นสูงสุดภายในต้นทุนที่รับได้จริง

หรือการฝึกซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติอย่างสม่ำเสมอ แม้บางคนอาจมองว่าเป็นความ “ระแวดระวังเกินไป” หรือเชื่อว่าเหตุการณ์เหล่านี้อาจไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน แต่อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ
4. เรียนรู้จากมาตรฐานสากลส่งผลให้ทุกปริมณฑลปลอดภัย
ประเทศที่มีประสบการณ์กับภัยพิบัติบ่อยครั้ง เช่น ญี่ปุ่น เม็กซิโก หรือเนปาล ล้วนมีแนวทางการออกแบบอาคารและการวางระบบรับมือที่น่าสนใจ เช่น โครงสร้างแบบยืดหยุ่น การใช้วัสดุเบา หรือการมีเซ็นเซอร์แจ้งเตือนล่วงหน้า การศึกษามาตรฐานเหล่านี้สามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5. สิทธิเสมอหน้าที่ ไม่ใช้สิทธิที่มีทำร้ายใคร
ในภาวะวิกฤตหรือเมื่อเกิดภัยพิบัติ สิทธิในการดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยเป็นของทุกคน การใช้สิทธิและทรัพยากรที่มีจึงควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบร่วมกัน การดำเนินการใดๆ เช่น การก่อสร้างอาคารหรือการใช้พื้นที่ ควรพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้อื่นอย่างรอบคอบ หากขาดการใส่ใจในมาตรฐานที่เหมาะสมหรือผลประโยชน์ส่วนรวม อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของสังคมโดยรวมในระยะยาว
6. การเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ผนึกกำลังพลขับเคลื่อนชาติ
เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นพลังของการรวมใจกันในยามวิกฤต การช่วยเหลือกัน การเสียสละเพื่อส่วนรวม ไม่เพียงแต่ช่วยฟื้นฟูในระยะสั้น แต่ยังเป็นพลังสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันในระยะยาวพลังของการเห็นแก่ส่วนรวมจะทำให้ทุกคนในทุกสายอาชีพผลึกกำลังในการใช้ความรู้ ความสามารถที่มี ช่วยกันพัฒนารากฐานต่างๆ ของประเทศให้แข็งแกร่ง
7. การบูรณาการ 3 ภาคกิจ ช่วยระดมความคิดมากกว่าต่างคนต่างทำ
การรับมือภัยพิบัติต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยไม่แยกบทบาทหรือหน้าที่อย่างตายตัว ทุกภาคส่วนควรทำงานร่วมกัน เชื่อมโยงความรู้ เทคโนโลยี ทรัพยากร และความเข้าใจของประชาชน เพื่อออกแบบระบบป้องกันภัยและนำไปสู่ฟื้นฟูที่ยั่งยืน
เหตุการณ์ แผ่นดินไหว ไทยครั้งประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ. 2568 ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ย้ำเตือนว่า การเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า คือกุญแจสู่ความปลอดภัยและความมั่นคงของสังคมไทย
ผมคิดเสมอว่า การดำเนินชีวิตไม่ควรคำนึงเพียงผลลัพธ์ในระยะสั้น แต่ควรมองไกลถึงผลกระทบในระยะยาว โดยยึดหลักคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่น สังคม และประเทศชาติเป็นสำคัญ เพื่อร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน
ผมมีแนวคิดในการรับมือเมื่อเกิดวิกฤต ซึ่งสะท้อนผ่านการออกแบบอาคาร คอมพาส ให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถรองรับภัยพิบัติหลากหลายรูปแบบ
นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาแนวคิด SSC – ชุมชนยั่งยืนด้วยตนเอง ซึ่งถ่ายทอดไว้ในหนังสือ SSC-ชุมชนยั่งยืนด้วยตนเอง: ทางออกอนาคตโลกชุกวิกฤต โดยเสนอแนวทางการรับมือในภาวะวิกฤต บนพื้นฐานของปัจจัยเพื่อความอยู่รอด และแนวทางการเตรียมพร้อมในยามปกติ
ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า หากเรามีการวางแผนทั้งเชิงรับและเชิงรุกอย่างรอบด้าน ประเทศชาติและประชาชนจะสามารถยืนหยัดต่อสู้กับทุกภัยพิบัติได้อย่างแน่นอน
อ่านบทความทั้งหมดของ ดร.เกรียงศักดิ์_เจริญวงศ์ศักดิ์
Featured Image: AI-Generated by freepik