Friday, September 20, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

การสร้างทายาท คือ ตัวชี้วัดผู้นำที่แท้จริง

ผู้เขียนมีข้อเสนอ ที่เป็นเคล็ดลับในการสร้างทายาท ผู้ที่จะสืบทอดอุดมการณ์และเจตนารมณ์ คอยผลักดันให้องค์กรเติบโต และรักษาระดับมาตรฐานขององค์กรไว้ได้ เพราะการสร้างทายาท เป็นหน้าที่และตัวชี้วัดผู้นำที่แท้จริง

ารรักษาองค์กรให้ประสบความสำเร็จ มั่นคง ยืนยาว เป็นความท้าทายประการสำคัญที่สุดสำหรับผู้นำ เพราะการที่องค์กรจะสามารถก้าวข้ามวิกฤตขององค์กร กระแสการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองโลก รวมถึงการปฏิวัติทางเทคโนโลยี และภัยพิบัติ เช่น โรคระบาด จนสามารถดำรงอยู่ข้ามกาลเวลา จะเป็นไปไม่ได้เลย หากปราศจากทายาทผู้ที่จะทำหน้าที่นำองค์กรในรุ่นต่อไป

ทายาท (heir, successor) หมายถึง ผู้ที่จะสืบทอดอุดมการณ์และเจตนารมณ์ คอยผลักดันให้องค์กรเติบโต และรักษาระดับมาตรฐานขององค์กรไว้ได้ ไม่ว่าจะเผชิญสภาวการณ์ใดๆ ซึ่งการที่ผู้นำมีความรับผิดชอบที่ค่อนข้างสูง ทายาทจึงไม่ใช่สิ่งที่สามารถปล่อยให้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ทายาทจะเกิดขึ้นได้ด้วยผลลัพธ์ของความสัมพันธ์เชิงพลานุภาพระหว่างผู้นำและผู้ตาม

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

ในแง่ของการเลือกทายาท ผู้นำจึงต้องมองหาบุคคลที่มองเห็นผู้นำเป็นแรงบันดาลใจ และมีจิตสูงเสมอกัน กล่าวคือ ผู้ที่เห็นคุณค่าอุดมการณ์องค์กร ยินดีที่จะดำเนินรอยตามอย่างสุดใจโดยไม่สงสัย ไม่หวั่นไหวแม้ต้องเผชิญอุปสรรค และไม่มีวันละทิ้งอุดมการณ์ขององค์กร เพื่อสร้างให้เป็นทายาทองค์กรรุ่นต่อๆ ไป ซึ่งผมมีเคล็ดลับในการเลือกทายาทดังนี้

หนึ่ง เลือกคนหลากหลายประเภท และเป็นลำดับ โดยเลือกกลุ่มคน แล้วจึงเลือกคนที่เหมาะสมในกลุ่ม
สอง เลือกคนจากการตัดสินใจของตัวผู้นำเอง โดยพิจารณาจากความคิดเห็นต่างๆ ของคณะผู้นำ
สาม เลือกแบบปกป้อง คือ การสร้างและทดสอบอย่างระมัดระวัง โดยไม่ทดสอบมากหรือน้อยเกินไป

ในสภาวะ Pandemic New Normal องค์กรมีความเสี่ยงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้นำได้ง่าย การขาดแผนการสร้างทายาท หรือ ความล่าช้าที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อการแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ อาจทำให้เกิดสุญญากาศในการดำเนินงานขององค์กร ดังนั้นการสร้างทายาทผ่านวิกฤตให้ได้นั้นจึงต้องมีกระบวนการสร้างอย่างจริงจัง ซึ่งผมมีข้อเสนอดังนี้

1. สร้างตาม “โมเดล 3 ท”

ทฤษฎีเกี่ยวกับวัฏจักรธุรกิจครอบครัว (Buddenbrooks Syndrome) ระบุว่า ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่จะดำรงอยู่ได้ไม่เกิน 3 รุ่น องค์กรธุรกิจโดยส่วนใหญ่มักต้องปิดกิจการลงตั้งแต่ในช่วงคนรุ่นที่ 1 เท่านั้น หรือมีอายุเฉลี่ยของธุรกิจ ไม่เกิน 20-30 ปี ผู้นำขององค์กรธุรกิจจึงต้องมีเป้าหมายสร้างทายาทของทายาทของทายาทให้สำเร็จ เพื่อรักษาองค์กรให้มั่งคั่งและมั่นคงมีอายุยืนยาวนับ 100 ปี หรือมากกว่า 3 รุ่นขึ้นไป

กรณีการเลือกทายาทรัฐกิจของ ลี กวน ยู อดีตผู้นำสูงสุดของประเทศสิงคโปร์ ก่อนที่ ลี กวน ยู จะวางมือจากตำแหน่งนายกฯ ที่ตนเองครองมาถึง 8 สมัย มีการเตรียมผู้นำในรุ่นต่างๆ เป็นลำดับขั้นหลายช่วงอายุ โดยทายาทในรุ่นที่เป็นตัวเลือกของว่าที่นายกรัฐมนตรีมี 3 ท่าน คือ โก โจ้ะ ตง, ลี เซียน ลุง และให้โอกาส เฮง ซิว เกียต แต่ในที่สุด เฮง ซิว เกียต ขอไม่รับโอกาสก็ตาม

ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้คนสิงคโปร์ทั้งประเทศจะทราบว่า ลี เซียน ลุง เป็นผู้มีความสามารถและอยู่ในสถานะบุตรชายของ ลี กวน ยู ก็น่าจะเป็นนายกฯ คนถัดไป แต่ ลี กวน ยู กลับผลักดัน โก โจ้ะ ตง เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด แต่เพราะเขาเป็นผู้ที่มีบารมี และอาวุโสมากกว่าคนอื่นๆ และยังเป็นการเตรียมบุตรชายของตนให้สะสมบารมี จนพร้อมที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในรุ่นที่ 3

2. ผู้นำต้องวางบทบาทเป็นมนตรี

มนตรี คือ ผู้ตกแต่งชีวิต ซึ่งประกอบด้วย 8 ด้านสำคัญ คือ ตกแต่งความเห็น ตกแต่งแผนการ ตกแต่งอาชีพ ตกแต่งระบอบ ตกแต่งความรู้ ตกแต่งทักษะ ตกแต่งความคิด และตกแต่งชีวิต ผ่านการเป็นแบบอย่างในทุกด้าน เพื่อให้ทายาทสามารถสืบทอดเจตนารมณ์ดั้งเดิมของผู้นำ และป้องกันไม่ให้เกิดลัทธิแก้ หรือการแก้ไข ปรับลดอุดมการณ์ และเจตนารมณ์เดิมขององค์กรตามความอ่อนแอหรือความต้องการของตัวเอง

3. สร้างโดยบูรณาการงานและชีวิต

การเลือกและการสร้างชีวิตคนๆ หนึ่งให้เป็นทายาท เป็นการสร้างทั้ง “กระบวนการ” โดยเริ่มตั้งแต่ ความคิด (Thinking) ความรู้ (Knowing) ตัวตน (Being) และวิถีชีวิต (Living) ซึ่งจะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ตัวตน ความหลงใหลของคนๆ นั้นได้ผ่านการแสดงออก (Manifesting) ทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ

การสร้างทายาทจึงไม่สามารถแยกงานออกจากชีวิตได้ แต่ต้องบูรณาการงานและการใช้ชีวิต ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดการชักกะเย่อระหว่างงานกับเรื่องส่วนตัว ทายาทจะต้องได้รับความเข้าใจว่า งานไม่ใช่การรับจ้าง แต่เป็นการรับจิตสำนึก (Inner Calling) และผู้นำจะสามารถมองเห็นตัวตนของทายาทและสามารถเป็นแบบอย่างและถ่ายทอดอุดมการณ์ ความคิด ค่านิยม ทัศนคติ ความรู้ ทักษะ ลักษณะชีวิต ฯลฯ ผ่านการทำงานและการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างบูรณาการ

4. สร้าง AIMMI

ธรรมชาติของมนุษย์ มีแรงหรือกลไกในการขับเคลื่อนให้ทำสิ่งต่างๆ เช่น ความหิวเป็นกลไกขับเคลื่อน ให้ออกไปทำมาหากิน ความต้องการมีการงานที่ดีเป็นกลไกขับเคลื่อนให้ขยันเรียน หรือความต้องการการยอมรับเป็นกลไกขับเคลื่อนให้ทำตามเพื่อน แม้ไม่ใช่สิ่งที่ตนเองอยากทำ เป็นต้น กลไกขับเคลื่อนของมนุษย์จึงมีความเป็นกลางหากรู้จักนำมาใช้ในทางที่ดี ก็จะเป็นประโยชน์ แต่หากใช้ในทางที่ผิด ก็จะสร้างปัญหาแก่ตนเองและสังคม

AIMMI Model เป็นกลไก ในการขับเคลื่อนบุคคล เพื่อให้พลังขับเคลื่อนส่งต่อมายังบุคคลอย่างต่อเนื่อง การสร้างทายาทจึงต้องสร้างด้วย AIMMI ประกอบด้วย Aspiration หรือ เป้าทะยานใจที่ยิ่งใหญ่ ชัดเจน และเป็นจริงได้ด้วยการอุทิศตัว Inspiration หรือ แรงบันดาลใจ Motivation หรือ แรงจูงใจ Motive หรือ มูลเหตุแห่งใจ และ Incentive หรือ สิ่งประสงค์ล่อใจ เพื่อให้ทายาทประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนตนเองสู่การเป็นผู้นำที่สมบูรณ์

5. สร้างไตรภาวะ

การสร้างทายาทต้องสร้างให้เกิดไตรภาวะ ประกอบด้วย หนึ่ง ภาวะการนำ คือ ความสามารถในการนำ การให้ทิศทาง การกำหนดวิสัยทัศน์ การตัดสินใจชั่งน้ำหนักทางยุทธศาสตร์ สอง ภาวะการบริหาร คือ ความสามารถบริหารตน คน งาน เงิน ได้ และ สาม ภาวะคุณธรรม คือ การมีคุณธรรมเป็นฐาน โดยการสอนคนด้วยแบบอย่างชีวิต การสอน การเป็นแบบอย่าง การตักเตือนแก้ไข

ดังตัวอย่างกรณีการเลือกทายาทของ ลี กวน ยู ได้วางกรอบกติกาว่า ตัวเลือกว่าที่นายกรัฐมนตรีทุกคนต้องมีความสามารถบริหาร ตน คน งาน เงิน โดยผมวิเคราะห์เองได้ผล ดังนี้

บริหารตน: Premium Education โดยว่าที่นายกรัฐมนตรีทุกคนต้องเป็นนักเรียนทุนชาติ โดยจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยระดับโลกเช่น มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อ๊อกฟอร์ด เคมบริดจ์ สแตนฟอร์ด เป็นต้น

บริหารคน: Premium Peoplization โดยว่าที่นายกรัฐมนตรีทุกคนต้องเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสะท้อนความสามารถดูแลคนจำนวนมาก และการสร้างคน

บริหารงาน: Premium Work โดยว่าที่นายกรัฐมนตรีทุกคนต้องเคยเป็นผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่และประสบความสำเร็จ เช่น องค์กรรัฐกิจ หรือธุรกิจ หรือประชากิจ

บริหารเงิน: Premium Financial Skill โดยว่าที่นายกรัฐมนตรีทุกคนต้องเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจหรือกระทรวงการคลัง

ทายาทต้องสามารถทำทุกอย่างได้มีคุณภาพเหมือนผู้นำ และหวังว่าจะสามารถไปได้ไกลกว่า เพราะได้รับสารตั้งต้นที่ดีจากผู้นำ แต่การสร้างทายาทจำเป็นต้องใช้เวลา บุคคลที่เป็นผู้นำจึงต้องเริ่มต้นคัดเลือกทายาทตั้งแต่วันนี้ โดยเริ่มการเลือกจากคนที่ร่วมอุดมการณ์ และพัฒนาตนเองเป็น ปฏิมัตต์ (Idol) ทำหน้าที่เป็นมนตรี หรือผู้ตกแต่งชีวิต สอนสร้าง จนสามารถส่งต่อทายาทที่เข้มแข็ง ทวีคูณผลลัพธ์ให้องค์กรอย่างยั่งยืนได้