Sunday, April 28, 2024
NEWS

ดีอีเอส ประกาศเร่งผลักดันขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล

ดีอีเอส

ดีอีเอส เร่งขับเคลื่อนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย สานรับเป้าหมายเร่งด่วน 3 ระยะ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว หวังลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน

14 กันยา 2566, ในงานสัมมนาการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย (MDES FutureScape 2023) โดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในการเปิดงานว่า “ได้เห็นถึงความสำคัญของงานด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมสานต่อและเร่งรัดผลักดันให้ประเทศไทยขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ”

“โดยในปี 2022 ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ (World Digital Competitiveness Ranking: WDCR) จาก IMD เป็นอันดับที่ 40 จากทั้งหมด 63 ประเทศ (ซึ่งตกลงจากอันดับที่ 38 ในปี 2021) โดยมีกรอบในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ ประกอบด้วย 54 ตัวชี้วัด ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่”

(1) องค์ความรู้ (Knowledge) จำนวน 19 ตัวชี้วัด ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 45

(2) เทคโนโลยี (Technology) จำนวน 18 ตัวชี้วัด ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 20 และ

(3) ความพร้อมในอนาคต (Future readiness) จำนวน 17 ตัวชี้วัด ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 49

Source: World Digital Competitiveness Ranking: WDCR, IMD

เพื่อให้ประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศมีอันดับที่สูงขึ้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการกำกับการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย และได้มีการศึกษาวิเคราะห์การจัดเก็บตัวชี้วัดการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล มีการจัดทำระบบ Dashboard ที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลทางสถิติแบบอัตโนมัติ สำหรับใช้ในการติดตามสถานะข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงมีแนวทางสร้างทัศนคติกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน เพื่อให้รับรู้ถึงนโยบายของภาครัฐและความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ โดยการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศมีอันดับที่สูงขึ้น

วางกรอบนโยบายเร่งยกอันดับความสามารถดิจิทัล

ประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า “กระทรวงฯ ยังมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุน ให้ประชาชนมีความพร้อมในการก้าวสู่สังคมดิจิทัลอย่างมั่นคงและปลอดภัย รวมถึงการวางรากฐานอนาคตให้กับคนไทยทุกคน โดยมีกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน ได้แก่”

“กรอบระยะสั้น รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย เพื่อจุดประกายให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง ประกอบกับการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว ส่วนกรอบระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทุกคน”

“นอกจากนี้_ดีอีเอสจะเร่งรัดการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ ที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ โดยนำดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนในการประกอบอาชีพ”

“ขณะเดียวกันต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานให้มีความมั่นคงปลอดภัยทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ รวมถึงสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนประชาชนทุกคนจะต้องรู้เท่าทันภัยออนไลน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย”

เดินตามตัวชี้วัดเชิงยุทธศาสตร์สากล

ในการสร้างความสามารถการแข่งขันดิจิทัลของประเทศ รมต.ดีอีเอส กล่าวว่า “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดโครงการสัมมนาการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง รับทราบนโยบายของภาครัฐ”

“รวมถึงความก้าวหน้าในการพัฒนา ด้านดิจิทัลของประเทศไทย ที่จะเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทยตามการจัดอันดับของในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย (World Digital Competitiveness Ranking) ต่อไป” ประเสริฐ กล่าว

ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ด้าน ศ.พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สอดคล้องกับการพัฒนาของโลกที่เข้าสู่ยุคที่ดิจิทัลเป็นสมรรถนะหลักในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเริ่มมีการนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาเป็นองค์ประกอบในการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ”

“รวมทั้งมีการจัดทำดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล (Digital Competitiveness) ในระดับนานาชาติ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการได้กำหนดให้อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย (World Digital Competitiveness Ranking)”

“ตามการจัดอันดับของสถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) เป็นตัวชี้วัดเชิงยุทธศาสตร์ ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ”

“รวมถึงเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย และสร้างการรับรู้แก่บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์การพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ และกระทรวงฯ ในการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย”

MDES FutureScape 2023