Tuesday, November 12, 2024
BlockchainFinTechNEWS

ธปท. ก.ล.ต. และ กค. ควบคุมการนำ สินทรัพย์ดิจิทัล ชำระค่าสินค้าและบริการ

ธปท. ก.ล.ต. และ กค. เข้าควบคุมการนำ สินทรัพย์ดิจิทัล ชำระค่าสินค้าและบริการ ห่วงกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจ ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา การถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล เครื่องมือของการฟอกเงิน

25 มกราคม 2565 ​ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ กระทรวงการคลัง (กค.) ได้หารือร่วมกันถึง ประโยชน์และความเสี่ยงของ สินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment: MOP) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ปัจจุบัน ผู้ประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล ได้ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจในลักษณะให้บริการ ชักชวนหรือแสดงตน ว่าพร้อมจะให้บริการแก่ร้านค้าและผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น จัดทำระบบและโฆษณาเชิญชวนร้านค้า

ซึ่งการที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในลักษณะดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม

รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน

หน่วยงานกำกับดูแลต่างตระหนักถึงความเสี่ยงและผลกระทบดังกล่าว จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงกว้าง และจะมีแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสม สำหรับบริการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อนวัตกรรมทางการเงินและไม่สร้างความเสี่ยงเชิงระบบ ที่กล่าวถึงข้างต้น

ทั้งนี้ ในการควบคุมดังกล่าว ทาง กลต. ได้ออกเอกสาร รับฟังความคิดเห็น เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ในการจำกัดการให้บริการในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลาง ในการชำระค่าสินค้าและบริการ เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและนำข้อคิดเห็นต่างๆ มาประกอบการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพต่อไป

ข้อห้าม MOP ที่ยังรอรับฟังความเห็น

สำหรับสาระสำคัญบางประการในเอกสาร รับฟังความเห็นฯ ครอบคลุมทุกประเภทของผู้ประกอบธุรกิจคริปโทเคอเรนซี ได้แก่ การเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล, การเป็นนายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล, การเป็นผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล, การเป็นผู้จัดการเงินทุนคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล และการเป็นที่ปรึกษาคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล

รวมถึงกำหนดมาตรฐานการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็น ข้อห้าม ในการดำเนินการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ฯ มาใช้เป็น MOP ดังต่อไปนี้

(1) ไม่โฆษณาเชิญชวนหรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้า ว่าจะให้บริการเพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ฯ ได้

(2) ไม่จัดทำระบบหรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใดๆ แก่ร้านค้า ในการรับชำระด้วยสินทรัพย์ฯ หรืออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการใช้สินทรัพย์ฯ ชำระค่าสินค้าหรือบริการ เช่น การจัดทำ QR Code เพื่อให้ลูกค้า scan ชำระค่าสินค้าหรือบริการ เป็นสินทรัพย์ฯ หรือมีการจัดทำระบบเพื่อแสดงราคาของสินค้าหรือบริการเป็นสกุลเงินดิจิทัล รวมถึงการจัดทำระบบเพื่อให้ร้านค้าสามารถแปลงสินทรัพย์เป็นเงินบาทภายหลังจากที่ลูกค้า ชำระราคา เป็นต้น

(3) ไม่ให้บริการเปิดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ

(4) ในกรณีที่ผู้ซื้อขายสินทรัพย์ฯ ทำการขายสินทรัพย์ฯ เพื่อรับเป็น เงินบาท ผู้ประกอบธุรกิจต้องโอนเงินบาทที่ผู้ซื้อขายสินทรัพย์ฯ ได้รับจากการขายสินทรัพย์ฯ เข้าบัญชีที่เปิดด้วยชื่อของผู้ซื้อขายเองเท่านั้น

(5) ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอนสินทรัพย์ฯ จากบัญชีสินทรัพย์ฯ ของผู้ซื้อขายไปยังบัญชีสินทรัพย์ฯของผู้ซื้อขายรายอื่นหรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับ ชำระค่าสินค้าหรือบริการ

(6) ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอนเงินบาทจากบัญชีของผู้ซื้อขาย สินทรัพย์ฯ ที่เปิดกับผู้ประกอบธุรกิจ ไปยังบัญชีของผู้ซื้อขายรายอื่นหรือบุคคลอื่นใด เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า “ธปท. คำนึงถึงทั้งความเสี่ยงและประโยชน์ของสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงเทคโนโลยีเบื้องหลัง และมองว่า ณ ขณะนี้การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลายจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ”

“จึงควรมีการกำกับดูแลที่ชัดเจน ขณะที่เทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าวก็ควรได้รับการสนับสนุนโดยมีกลไกดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและประโยชน์ต่อประชาชน”

รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “จากการหารือร่วมกันกับ ธปท. และ กค. ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ซื้อขายอย่างเหมาะสม

และให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป”

>> ร่วมออกความเห็น การกำหนดหลักเกณฑ์กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ในการจำกัดการให้บริการในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลาง ในการชำระค่าสินค้าและบริการ

>> แนวทางกำกับดูแลการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ