Tuesday, March 19, 2024
AIArticlesColumnistSansiri Sirisantakupt

กองทัพอากาศสหรัฐฯ กับปัญญาประดิษฐ์จากจุดเริ่มถึงปัจจุบัน

กองทัพอากาศสหรัฐ
Featured Image (U.S. Air Force photo by Airman 1st Class Stassney Davis)

กองทัพอากาศสหรัฐ ฯ ตื่นตัวเรื่องการนำ AI มาใช้รักษาความเป็นผู้นำของกองทัพฯ มันได้สร้างขีดความสามารถพิเศษในทางทหารและลดการใช้บุคลากรที่มีความชำนาญสูงทางด้านไซเบอร์ แม้ยังไม่มีรายงานว่ามันทำให้กองทัพอากาศสหรัฐฯ มีความได้เปรียบกว่าคนอื่น แต่สะท้อนถึงความพยายามและวิสัยทัศน์ของของผู้บริหารระดับสูงในกองทัพฯ ได้อย่างดี

ในรายงานเรื่อง Artificial Intelligence and National Security ที่มาจากศูนย์วิทยาศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ Harvard’s Belfer Center Study ได้ออกมาระบุถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (Al) ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้กองทัพสหรัฐฯ นั้นสามารถขยายการใช้ AI (Artificial Intelligence) และ ML (Machine Learning) อันเป็นพื้นฐานแห่งอนาคต

ในรายงานฉบับดังกล่าวได้นำเสนอแนวทางการพัฒนากองทัพอากาศสหรัฐฯ ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อรักษาความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ด้วยการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ บนโลกไซเบอร์ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ (USAF)

ซึ่งผู้บริหารระดับสูงทางด้านไซเบอร์หลายคนของกองทัพสหรัฐฯ อย่าง ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) และผู้บัญชาการหน่วยไซเบอร์สหรัฐฯ (US Cyber Command) นั้น เชื่อว่า AI และ ML จะเพิ่มขีดความสามารถทางด้านไซเบอร์ให้สูงขึ้น อีกทั้งยังลดการใช้บุคลากรที่มีความชำนาญสูง เนื่องจาก AI เข้ามาแทนการทำงานของมนุษย์

ปัจจุบันความก้าวหน้าด้าน ML (การเรียนรู้ของเครื่อง) เป็นสาขาหนึ่งของ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีบทบาทที่สำคัญต่อระบบอัตโนมัติ ที่ไม่ได้ทำงานตามคำสั่งของโปรแกรมที่ตายตัว แต่จะเปลี่ยนแปลงการทำงานไปตามข้อมูลที่ได้เรียนรู้ ด้วยมีแนวโน้มในการนำมาใช้บนโลก ไซเบอร์มากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานไซเบอร์ ของกองทัพอากาศ

โดยบทความผู้เขียนมีมุมมองและรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

การนำ AI และ ML มาใช้บนโลกไซเบอร์ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ

ข้อมูลมาจากรายงานเรื่อง Artificial Intelligence and National Security ของศูนย์วิทยาศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ Harvard’s Belfer Center Study เขียนโดย เกร็ก อัลเลน และ แทเนียล ชาง โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ.2017

ได้ระบุถึงความก้าวหน้าด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งส่วนใหญ่ของความคืบหน้าเกิดจากความก้าวหน้าใน ด้านการเรียนรู้ของเครื่อง อันเป็นสาขาหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์

ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ส่วนใหญ่เชื่อว่าความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางด้าน AI จะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคต ที่สำคัญนั้นการประยุกต์ใช้ความก้าวหน้าทางด้านปัญญาประดิษฐ์ ได้ถูกนำไปใช้กับการรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ

อย่างเช่น การเรียนรู้ของเครื่อง ที่มีอยู่ในปัจจุบัน สามารถนำไปใช้เพื่อทำให้ระบบอัตโนมัติ สามารถที่จะติดตามและตอบสนองต่อปฏิกิริยา หรือกิจกรรมใดที่น่าสงสัยได้อย่างต่อเนื่องแทนการทำงานของมนุษย์

ได้เริ่มในระบบอัตโนมัติแจ้งเตือนการโจมตีทางไซเบอร์ (The Air Force Cyberspace Defense: ACD) ของ ทอ.สหรัฐฯ ที่คอยเฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่องและสามารถตรวจจับความผิดปกติบนระบบเครือข่ายได้ เนื่องจาก ML ทำให้ ACD รู้ว่าการใช้งานที่เป็นปกติบนระบบเครือข่าย มีลักษณะเป็นอย่างไร

ML และ AI ช่วยให้ระบบป้องกันทางไซเบอร์ สามารถตรวจพบภัยคุกคามบนเครือข่ายที่รู้จัก แถมยังช่วยในการสังเกตความผิดปกติ เพื่อตรวจจับและตอบสนองต่อภัยคุกคาม ที่ไม่รู้จัก ซึ่งจะช่วยเพิ่มในขีดความสามารถ และลดภาระในการดำเนินงานด้าน Cyber Defense ที่ต้องใช้บุคลากรมีความชำนาญสูงจำนวนมาก (High-Skill Labors)

อีกหนึ่งระบบอัตโนมัติ Automated Remediation and Asset Discovery (ARAD) ที่เกิดจากความก้าวหน้าด้าน ML (การเรียนรู้ของเครื่อง) เป็นสาขาหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นความร่วมมือของหน่วยสงครามเครือข่ายที่ 33 ทอ.สหรัฐฯ, บริษัท Tanium ซอฟต์แวร์ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้

ที่มา: U.S. Air Force photo by Tech. Sgt. Jim Bentley

และกองทัพอากาศที่ 24 อันช่วยให้ผู้ใช้สามารถระบุช่องโหว่ และแก้ไขช่องโหว่บนเครือข่ายได้ในไม่กี่วินาทีแทนที่จะเป็นสัปดาห์ ที่สำคัญมีความสามารถในการตรวจหา, ติดตามเป้าหมาย และมีส่วนร่วมในการบรรเทากิจกรรมใดที่น่าสงสัยทางไซเบอร์ได้ในทันที (Real Time)

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (DoD) ให้การยอมรับในระบบอัตโนมัติ ARAD ด้วยรางวัลแห่งความเป็นเลิศบนโลกไซเบอร์ (Cyber Excellence Award) ปลายเดือนธันวาคม ค.ศ.2016 ผลที่ตามมาระบบอัตโนมัติ ARAD นั้น ถูกนำไปใช้ในด้าน Cyber Defense ให้เป็นประโยชน์กับทุกองค์กรในรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ

ในมุมมองศักยภาพของ ARAD ตอบสนองต่อการใช้มาตรการป้องกันและมาตรการความยืดหยุ่น (Defensive & Resilience Measures) ของโลกปัจจุบัน ถือเป็นการปฏิวัติบนโลกไซเบอร์อย่างแท้จริง อนึ่งในรายงานฯ ยังได้ระบุถึงความก้าวหน้าด้าน ML และ AI ซึ่งช่วยเพิ่มในขีดความสามารถและลดภาระใน การดำเนินงานด้าน Cyber Attack ที่ได้ถูกนำเสนอให้แก่ ทอ.สหรัฐฯ

อาทิ การโจมตีทางไซเบอร์แบบ Advanced Persistent Threat (APT) ซึ่งผู้โจมตีนั้นต้องกระตือรือร้นกับการหารอยรั่วบนระบบเครือข่ายขององค์กร และต้องอดทนรอจนความผิดพลาดนั้นได้เกิดขึ้น อย่างเช่น การโจมตีทางไซเบอร์เพื่อแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.2016

บทความโดย: น.อ.สรรสิริ สิริสันตคุปต์ นักวิชาการกองทัพอากาศ เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการรักษาความมั่นคงปลอยภัย ด้านอวกาศและไซเบอร์

โดยทั่วไปการโจมตีลักษณะนี้ต้องใช้บุคลากรมีความชำนาญสูง (High-Skill Labors) ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้าน MLและ AI จะทำให้การโจมตีทางไซเบอร์แบบ APT มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อีกทั้งสามารถทำได้โดยอัตโนมัติแทนการโจมตีของมนุษย์ และอาจจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าระบบป้องกันทางไซเบอร์ที่มนุษย์เรานั้นใช้อยู่

ในอนาคตการโจมตีแบบ APT จะกลายเป็นข้อจำกัดทางการเงิน มากกว่าข้อจำกัดทางบุคลากรที่มีความชำนาญสูง กล่าวได้ง่ายๆ คือ ผู้ใช้ที่มีฐานะทางการเงินก็สามารถที่จะซื้อระบบ AI APT มาใช้ได้ ทำให้เขาเข้าถึงความสามารถในการโจมตีบนโลกไซเบอร์ได้

ถึงแม้ว่าผู้ใช้คนนั้น จะไม่ค่อยมีความรู้ในด้านการรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ก็ตาม ในมุมมองของ เกร็ก อัลเลน และ แทเนียล ชาง นั้นผลที่ตามมาจะทำให้ค่าใช้จ่าย ในการทำซอฟต์แวร์ซ้ำ (ระบบ AI APT) มีราคาไม่มากนัก และสามารถจะหามาใช้งานได้ง่ายในตลาดมืด สุดท้ายใครๆ ก็หามาใช้ได้

ข้อคิดที่ฝากไว้

อนาคตกองทัพอากาศสหรัฐฯ นั้นมุ่งเน้นไปที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อันเป็นความพยายามที่จะปรับปรุงความสามารถการรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ ด้วยการ ประยุกต์ใช้ AI และ Automation บนโลกไซเบอร์ ซึ่งช่วยสร้างขีดความสามารถพิเศษในทางทหารและลดการใช้บุคลากรที่มีความชำนาญสูงทางด้านไซเบอร์

ที่สำคัญนั้นในรายงานฯ ได้ระบุว่า “ไม่มีผลลัพธ์ที่ชัดเจนว่า…” ชาติมหาอำนาจจะมีข้อได้เปรียบทางด้านไซเบอร์ที่มากกว่าทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ (Offensive & Defensive) เมื่อนำมาเทียบกับชาติที่ไม่ใช่มหาอำนาจ แต่ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงในกองทัพ (CIO) ว่า “จะประยุกต์ใช้ AI และ Automation บนโลกไซเบอร์ของตน ได้มากขนาดไหน”

Featured Image: U.S. Air Force photo by Airman 1st Class Stassney Davis

อ่านบทความทั้งหมดของ ..สรรสิริ สิริสันตคุปต์

Leave a Response