Tuesday, April 16, 2024
ArticlesColumnistSansiri Sirisantakupt

มองรากฐานของการพัฒนาประเทศเยอรมนี ผ่านพิพิธภัณฑ์เยอรมนี

ขอแชร์ประสบการณ์จากการเดินทาง ไปดูงานที่ พิพิธภัณฑ์เยอรมัน ที่สะท้อนได้ถึงรากฐานความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศเยอรมัน และการบริหารจัดการองค์ความรู้ถ่ายทอดมาสู่ประชาชน ที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลก

ผู้เขียนได้เดินทางไปทวีปยุโรปเพื่อดูงานใน 3 ประเทศอันประกอบด้วย สวิสเซอร์แลนด์, ออสเตรีย และเยอรมนี ตามหลักสูตรของวิทยาลัยการทัพอากาศ สถานที่แห่งหนึ่งที่น่าสนใจจะขอเล่าให้ผู้อ่านได้ฟังคือ พิพิธภัณฑ์เยอรมัน (Deutsches Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเยอรมัน

พอพิธภัณฑ์แห่งนี้ ตั้งอยู่ในเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ซึ่งได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1925 โดยในแต่ละปีมีผู้เข้าเยี่ยมชมจากทั่วโลกประมาณ 1.5 ล้านครั้ง ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ จัดให้มีการแสดงผลผลิตทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวม 50 สาขา คิดเป็นจำนวนประมาณ 28,000 รายการ

โดยใช้พื้นที่ภายในอาคารตามชั้นต่างๆ ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน, ชั้นล่าง และชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 6 รวมพื้นที่ที่ใช้ในการแสดงประมาณ 47,000 ตารางเมตร โดยบทความในฉบับมีมุมมองและรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

Deutsches Museum neu im August 2022 von der Boschbrücke aus gesehen, 3 August 2022, 17:26:27, Author: Burkhard Mücke

วิวัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ชั้นล่างและชั้นใต้ดิน (The Ground Floor and Basement) ได้จัดให้แสดงสิ่งประดิษฐ์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในยุคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ย้อนกลับไปเมื่อหลายพันปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้เข้าชมสามารถมองเห็นได้ อาทิ การสร้างคลอง, การสร้างสะพาน, การสร้างอุโมงค์ การทำเหมืองแร่ และความรู้ในการเดินเรือที่มีความสำคัญในการคมนาคมทางน้ำในยุคนั้น

จากยุคเกษตรกรรมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เราจะเห็นกังหันลมถูกพัฒนามาใช้เครื่องยนต์มอเตอร์ที่ใช้พลังงานจากน้ำมันหรือจากไฟฟ้า ในขณะเดียวกันการคมนาคมทางบกก็ถูกพัฒนาขึ้นมา เราจะเห็นได้จากรถม้ากลายมาเป็นรถยนต์และรถไฟตามเวลาที่ผ่านไป โดยเฉพาะชั้นใต้ดินจะมีการแสดงสำหรับเด็ก Kid’s Kingdom

กีต้าร์ยักษ์: โซน Kid’s Kingdom ที่แสดงกีตาร์ยักษ์ คุณไม่เพียงแต่ได้ยินเสียงเท่านั้น แต่ยังสัมผัสได้ด้วย ภาพถ่าย: Deutsches Museum

ซึ่งแม้ว่าการจัดแสดงต่างๆ ตลอดทั้งพิพิธภัณฑ์ จะเพื่อเด็กทุกวัยอยู่แล้ว แต่ที่ชั้นใต้ดินยังมีมุมสำหรับเด็กเฉพาะ ที่นี่จะมีกิจกรรมมากมายที่จะช่วยสร้างจิตนาการและแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ เช่น ห้องของเล่นทางเทคโนโลยีจะมีของเล่นที่ประกอบไปด้วย น๊อต ชิ้นส่วนเหล็กรูปต่างๆ ไว้ต่อเป็นรถ เป็นตึก และเป็นเครื่องจักรกล ซึ่งนับเป็นการปลูกฝังนิสัยการสร้างจินตนาการในการประดิษฐ์ตั้งแต่เด็ก

ชั้นที่หนึ่ง (The First Floor) ได้จัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการบิน ทำให้มนุษย์เดินทางไปในอากาศได้ โดยเริ่มจากการสร้างบอลลูน เครื่องร่อน เครื่องบินใบพัด และเครื่องบินเจ็ต นอกจากนี้ในชั้นที่หนึ่งยังเป็นที่บันทึกรายชื่อและผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์เยอรมัน (Hall of Fame) อาทิ Brander กับ Fraunhofer ค้นพบดาวเนปจูนด้วยกล้องส่องดูดาว

ในส่วนของวิทยาศาสตร์สาขาฟิสิกส์ก็ได้มีการแสดงการทดลองหลายอย่าง ซึ่งเป็นที่มาในการอธิบายหลักการต่างๆ เช่น ความร้อน, ไฟฟ้า และอะตอม มีแบบจำลอง DNA Structure (Double Helix) ซึ่งค้นพบโดย เจมส์ วัตสัน และฟรานซิส คริก และได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ในปี ค.ศ. 1962

Atomic Physics Exhibition ภาพถ่าย: Deutsches Museum

เครื่องดนตรีและการกำเนิดของเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสามารถที่เรียนรู้ได้จากการแสดงในชั้นที่หนึ่ง และสาขา Pharmacy อธิบายความเป็นมาในการพัฒนายาที่นำมาใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นสาขาที่ได้เปิดให้เข้าชมตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ที่ผ่านมา

ชั้นที่สอง (The Second Floor) ได้จัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับงานฝีมือของภาคพื้นยุโรปในยุคเกษตรกรรม อาทิ การทำกระดาษ, การทำแก้ว, การทอผ้า และการทำเซรามิค จวบจนมาถึงยุคอุตสาหกรรมได้นำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการทำงานฝีมือดังกล่าว ทำให้การทำงานฝีมือสะดวกและรวดเร็วขึ้น จึงเป็นที่มาของ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม”

ในชั้นที่สองยังมีการแสดงความก้าวหน้าทางด้านอวกาศ กล่าวถึงตั้งแต่การส่งดาวเทียมของรัสเซียขึ้นไปโคจรในอวกาศ และพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการส่งยานอวกาศพร้อมมนุษย์ไปลงที่ดวงจันทร์ จวบจนกระทั้งการสร้างสถานีอวกาศ (SPACE STATION) ซึ่งใช้เป็นที่ทดลองทางวิทยาศาสตร์และ ที่เริ่มต้นในการที่มนุษย์จะเดินทางไปในอวกาศ

Deutsches Museum
Astronautics exhibition, ภาพถ่าย: Deutsches_Museum

ชั้นที่สามถึงชั้นที่หก (The Third Floor and Above) ได้มีการจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ เทคโนโลยีชั้นสูงที่มีแสดงอยู่ในชั้นที่สาม อันประกอบด้วย

เครื่องคอมพิวเตอร์, ไมโครอิเล็กทรอนิกส์, การสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่าย และการทำแผนที่โลก ซึ่งได้อธิบายความเป็นมาการพัฒนาของเทคโนโลยีดังกล่าว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ส่วนชั้นที่สี่ถึงชั้นที่ห้า มีการแสดงความรู้เกี่ยวกับการเกิดของจักรวาลและดวงดาว อาทิ ดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ ประกอบกับการแสดงสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ดูดาว เช่น กล้องส่องดูดาว และชั้นที่หก เป็นที่ตั้งของโดมที่มีขนาด 15 เมตร ภายในมี Zeiss Projector ควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์

Deutsches Museum
ดูการหมุนของโลกผ่านนิทรรศการลูกตุ้มของฟูโกต์ (Foucault’s Pendulum) ภาพถ่าย: Deutsches_Museum

ใช้สร้างภาพจำลองที่เหมือนจริงของระบบสุริยะจักรวาล ที่มีดวงอาทิตย์, ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ต่างๆ โคจรรอบดวงอาทิตย์ ประกอบกับสามารถสร้างภาพของดาว 5,000 ดวงที่สามารถมองเห็น ได้ด้วยตาเปล่า เพื่อให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบสุริยะจักรวาล

การบริหารจัดการของ Deutsches_Museum

การบริหารจัดการภายในองค์กร (Deutsches_Museum Management) มีผู้บริหาร 12 คน แบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลักที่มีรายละเอียดดังนี้

ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ – ดูแลในภาพรวมของพิพิธภัณฑ์ฯ และควบคุมในการทำงานของ บุคลากรจำนวน 105 คน

ส่วนแผนงาน – วางแผนการทำงานของพิพิธภัณฑ์ฯ และนำเสนอผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์

ส่วนดำเนินการ – นำแผนที่ได้รับการอนุมัติจากผู้อำนวยการฯ ไปปฏิบัติ

ส่วนข้อมูล – เก็บรวบรวมสิ่งประดิษฐ์และผลการวิจัยทางประวัติศาสตร์

ส่วนห้องสมุด – รวบรวมเอกสาร, สิ่งพิมพ์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อใช้ในการศึกษาและการอ้างอิงทางวิชาการ

การบริหารจัดการของ Dutesches_Museum
ข้อคิดที่ฝากไว้

จุดดึงดูดที่ทำให้คนทั่วโลก เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คงมาจาก Duetsches_Museum เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีการแสดงความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ครบวงจร

โดยแสดงสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นของจริงให้ชม พร้อมกับเอกสารประกอบและการอบรมให้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ ตั้งแต่ยุคเกษตรกรรม, ยุคอุตสาหกรรม, จนถึงยุคดิจิทัล (ส่วนมากนั้น เป็นของเยอรมัน) และอาจพูดได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีขนาดใหญ่ ที่สุดของโลก

Deutsches Museum
ผู้เขียนเมื่อครั้งได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์เยอรมัน (Deutsches_Museum) เป็นพิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเยอรมัน

ประกอบกับสิ่งประดิษฐ์ที่นำมาแสดงในแต่ละรายการ บางรายการถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อาทิ เครื่องยนต์ไดนาโมเครื่องแรกของ Siemens ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงก้าวแรกและก้าวสำคัญในการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในแต่ละสาขา จวบจนถึงปัจจุบัน

และที่สำคัญการเข้าชมทำให้เห็นขั้นตอนของการพัฒนาด้านความคิด และพบว่าไม่มีเทคโนโลยีใดที่เกิดขึ้นสมบูรณ์แบบในคราวเดียว เพียงแต่มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ นอกจากนี้ยังทำให้เข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใด เยอรมนีจึงเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก

คำตอบที่ได้เห็นกับตาของตัวเองก็คือ คนเยอรมันให้ความสนใจในการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่เยอรมนีใช้ในการพัฒนาประเทศ

Featured Image: facebook Deutsches_Museum