Thursday, June 19, 2025
ArticlesColumnistManagementSansiri Sirisantakupt

CIO กำลังเผชิญหน้ากับวัฒนธรรมแห่งความกลัว

CIO

ความกลัวที่จะยอมรับความผิดพลาดนั้น เป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นในกลุ่มของผู้บริหารงานระดับสูงในองค์กร โดยเฉพาะ CIO บทความนี้เปิดเผยความจริงบางอย่างในใจของผู้บริหารไอทีระดับสูงที่เป็นปัญหาขององค์กร รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านั้น

ถิติได้เผยให้เห็นผู้บริหารด้านไอทีเกือบครึ่งหนึ่ง ไม่กล้าที่จะยอมรับความผิดพลาด (Admitting mistakes) ที่เกิดขึ้นในองค์กร ซึ่งมีวัฒนธรรมการกล่าวโทษผู้อื่น (Culture of blame) ทำให้ยากต่อการยอมรับความผิดพลาดและการเรียนรู้ 

Adaptavist ผู้ให้บริการเทคโนโลยีและโซลูชันนวัตกรรมระดับโลกช่วยให้องค์กรต่างๆ ปรับปรุงความคล่องตัวและเอาชนะความท้าทายการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital transformation) ได้ระบุไว้ว่า “ผู้บริหารด้านไอที 40% ที่ดูแลและรับผิดชอบการพัฒนาซอฟต์แวร์ขององค์กรบอกว่า พวกเขากลัวที่จะยอมรับความผิดพลาดของตนเอง” 

ความกลัวที่จะยอมรับความผิดพลาดนั้น เป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นในกลุ่มของผู้บริหารงานระดับสูงในองค์กร โดยเฉพาะ CIO (Chief Information Officer) 

โดย จอน มอร์ต ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายฝ่ายเทคโนโลยี (CTO: Chief Technology Officer) ของ Adaptavist ชี้ให้เห็นว่า “วัฒนธรรมด้านเทคโนโลยี (Techculture) อาทิ วัฒนธรรมการทำงานที่กลัวต่อการยอมรับความผิดพลาด และวัฒนธรรมการทำงานที่กล่าวโทษผู้อื่น ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ถือเป็นแนวคิดที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งเสี่ยงต่อความปลอดภัย, นวัตกรรม และความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน” 

หนทางที่ดีในการปรับปรุงวัฒนธรรมด้านเทคโนโลยีก็คือ การใช้ ความตรงไปตรงมาอย่างถูกต้อง (Radical candour) และ การวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างตรงจุด ถือเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างวงจรข้อเสนอแนะที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการเรียนรู้และไม่ก่อให้เกิดการตำหนิกล่าวโทษผู้อื่นอีก 

โดยบทความในฉบับมีมุมมองและรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

วัฒนธรรมด้านเทคโนโลยีอยู่ในภาวะวิกฤต 

รายงานล่าสุดของ Adaptavist ได้แสดงให้เห็นว่า เกมการโทษกันขัดขวางนวัตกรรม, สร้างความท้าทายด้านความปลอดภัย และอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรงได้ ด้วยผู้บริหารด้านไอที (IT leaders) 4 ใน 10 คน กลัวเกินกว่าที่จะยอมรับความผิดพลาดของตนเอง 

เนื่องมาจากวัฒนธรรมการ “ตำหนิ” และ “ความกลัว” ที่เกิดทั่วทั้งองค์กร เรื่องนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อนวัตกรรม, คุณภาพของผลลัพธ์, ประสิทธิภาพการทำงาน, ความปลอดภัยทางจิตใจ และเสี่ยงต่อการทำลายความยืดหยุ่นในด้านไอที

บทความโดย: น.อ.สรรสิริ สิริสันตคุปต์ นักวิชาการกองทัพอากาศ เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการรักษาความมั่นคงปลอยภัย ด้านอวกาศและไซเบอร์

ผลจากการศึกษาผู้บริหารด้านไอที 400 คน ในสหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ตามรายงานล่าสุดที่มาจาก Adaptavist แสดงให้เห็น ผู้บริหารด้านไอที 44% เชื่อว่าการขาดความปลอดภัยทางจิตใจ เป็นอุปสรรคต่อนวัตกรรมในองค์กรของตน 

ในขณะที่ผู้บริหารด้านไอที 42% กล่าวว่าความกลัวการยอมรับความผิดพลาด ส่งผลต่อความปลอดภัยทางไซเบอร์ของบริษัท ที่น่าเป็นห่วงก็คือไม่ใช่แค่เพียงวัฒนธรรมการ “ตำหนิ” เท่านั้นที่นำสู่ความท้าทายที่น่ากังวล 

ผู้บริหารด้านไอที 44% เปิดเผยว่า องค์กรของตนยังคงให้ความสำคัญกับความเร็วมากกว่าคุณภาพในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ความเร่งรีบในการทำงานให้เสร็จมักนำไปสู่ข้อที่ผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรวมกับปริมาณงานหนักที่ทีมไอทีมักต้องเผชิญ 

ในความเป็นจริงผู้บริหารด้านไอที 39% ยอมรับ พวกเขากังวลว่าปริมาณงานที่มากเกินไปของทีมไอทีอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่ร้ายแรงได้ 

ในสหราชอาณาจักรนั้น ความท้าทายทางวัฒนธรรมด้านเทคโนโลยี (Tech cultural challenges) อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่า อันเนื่องมาจากผู้บริหารด้านไอทีในสหราชอาณาจักรรายงานความกังวลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อถูกนำมาเทียบกับผู้บริหารด้านไอทีในสหรัฐอเมริกา และเยอรมนี 

อาทิ ผู้บริหารด้านไอทีในสหราชอาณาจักร 54% กล่าวว่า การขาดความปลอดภัยทางจิตใจเป็นอุปสรรคต่อนวัตกรรม เมื่อเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามในสหรัฐอเมริกา 42% และเยอรมนี 37% 

ในทำนองเดียวกันนั้น ผู้บริหารด้านไอทีในสหราชอาณาจักร 47% กลัวที่จะยอมรับความผิดพลาดเมื่อนำมาเทียบกับผู้บริหารด้านไอทีในสหรัฐอเมริกา 39% และในเยอรมนี 36% 

นอกจากนี้ ผู้บริหารด้านไอทีที่เป็นเพศชายแสดงให้เห็นถึง อัตราความกลัวที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับการยอมรับความผิดพลาด 45% เมื่อนำมาเทียบกับผู้บริหารด้านไอทีที่เป็นเพศหญิง 29% บ่งชี้ความแตกต่างทางเพศในวิธีที่ ผู้บริหารด้านไอทีได้สัมผัสกับความปลอดภัยทางจิตใจในที่ทำงาน 

ซึ่ง จอน มอร์ต ให้ความเห็นไว้ว่า “อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้านไอที ผู้บริหารระดับสูงที่รับผิดชอบ (CIO) ต้องแลกมาด้วยการทุ่มเทที่สูงอันทำให้เกิดวัฒนธรรมด้านเทคโนโลยี (Tech culture) อย่างเช่น วัฒนธรรมการทำงานกับปริมาณงานที่มากเกินไป”

“วัฒนธรรมการทำงานที่กลัวต่อการยอมรับความผิดพลาด และวัฒนธรรมการทำงานที่กล่าวโทษผู้อื่น ซึ่งเกิดขึ้นมาในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ถือเป็นแนวคิดที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งเสี่ยงต่อความปลอดภัย, นวัตกรรม และความเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน” 

มอร์ต แนะนำถึง ความตรงไปตรงมาอย่างถูกต้อง (Radical candour) อาทิ กรอบการสื่อสารในการยกย่องอย่างเจาะจงจริงใจ และการวิพากษ์ วิจารณ์กันอย่างตรงจุด ถือเป็นกุญแจที่สำคัญในการปรับปรุงวัฒนธรรมด้านเทคโนโลยี (Improving tech culture) 

การนำแนวทาง ความตรงไปตรงมาอย่างถูกต้อง มาใช้นั้น เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างวงจรข้อเสนอแนะที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและการเรียนรู้ โดยไม่ก่อให้เกิดการตำหนิติเตียนหรือกล่าวโทษผู้อื่นอีก 

ที่น่าสนใจก็คือ ในรายงานล่าสุดของ Adaptavist พบว่า ผู้บริหารด้านไอที 41% กล่าวว่า องค์กรของตนสนับสนุนแนวทาง “ความตรงไปตรงมาอย่างถูกต้อง” ในการตอบสนองข้อที่ได้เสนอแนะอยู่แล้ว ในขณะที่ผู้บริหารด้านไอที 55% ยอมรับว่า แนวทางดังกล่าวไม่ได้มีอยู่จริง 

ในทางกลับกันนั้น ผู้บริหารด้านไอที 1 ใน 4 ได้ระบุไว้ว่า องค์กรของตนยังคงสนับสนุนวัฒนธรรมแห่งการ “ตำหนิ”มากกว่า “การเรียนรู้” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงยังคงมีความไม่สอดคล้องกันระหว่างความคาดหวังและความเป็นจริง เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมด้านเทคโนโลยี (Tech culture)

ข้อคิดที่ฝากไว้ 

ในการต่อสู้กับความกลัว เมื่อวัฒนธรรมการกล่าวโทษกัน (Culture of blame) เป็นปัญหา เหล่า CIO อาจสงสัยว่าจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร 

ผู้บริหารด้านไอทีหลายๆ คนได้แนะนำว่า CIO เพียงคนเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากปัญหาได้แพร่กระจายไปทั่วทั้งองค์กร “วิธีแก้ไขควรเริ่มจากภายในองค์กรก่อน การเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างแท้ จริงต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงจากผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในองค์กร ต้องให้ผู้นำเหล่านั้นยื่นมือออกมาและแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง” 

ในบริษัทต่างๆ จำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรม ที่ยอมรับความผิดพลาด เพื่อเป็นประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ อีกทั้งควรสนับสนุนในการพูดคุยอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เผชิญและผลที่ได้รับ หรือข้อเสียที่อาจเกิดขึ้น 

สิ่งที่สำคัญก็คือ เหล่า CIO ไม่ควรโทษผู้บริหารระดับสูงขององค์กร (CEO: Chief Executive Officer) หรือผู้บริหารคนอื่นๆ แต่ควรใช้แนวทางในการทำงานร่วมกันแทน (Collaborative approach) และมองเป็นโอกาสร่วมกันที่จะได้พูดว่า “ช่วยผม (CEO) ให้เข้าใจว่าผมทำอะไรได้ที่แตกต่างไปจากเดิมเพื่อช่วยคุณได้บ้าง” 

หรือ “ผม (CIO) อยู่ที่นี่เพื่อช่วยให้คุณประสบความสำเร็จ” เมื่อมองภาพรวม เหล่าผู้บริหารด้านไอทีสามารถขับ 

เคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในองค์กรได้ หากใช้แนวทางที่ถูกต้องและทำงานร่วมกัน เพื่อให้โครงการเหล่านั้นประสบความสำเร็จ…ตามที่คาดหวัง

อ่านบทความทั้งหมดของ ..สรรสิริ สิริสันตคุปต์

Featured Image: krakenimages.com