Friday, April 19, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

วิสัยทัศน์ประเทศไทย ตั้งเป้าเป็น Blue Zone แห่งที่ 6 ของโลก

ขอเสนอวิสัยทัศน์เพื่อให้ประเทศก้าวสู่ Blue Zone แห่งที่ 6 ของโลก จะเป็นเหมือนตรายางรับรองความเป็นเมืองหลวงโลก ทำให้มีโอกาสดึงดูดคนจากทั่วโลกเข้ามาทำงาน อยู่อาศัย ท่องเที่ยวและลงทุน

ก่อนการระบาดของ COVID-19 สถาบันการสร้างชาติ ได้มีโอกาสนำนักศึกษาในหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงเพื่อการสร้างชาติ (นสช.) ไปดูงานในต่างประเทศที่เป็นต้นแบบที่ดีที่สุดของโลกในเรื่องต่างๆ

ครั้งหนึ่งที่สถาบันฯ ได้นำนักศึกษาไปดูงานในแถบเกาะซาดิเนีย ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความชุกของผู้คนที่มีอายุยืนเป็นพิเศษจำนวนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ในอิตาลี และในโลก จึงถูกสถาปนาเป็น 1 ใน 5 ของพื้นที่ที่มีผู้คนอายุยืนที่สุดในโลก หรือที่เรียกกว่า Blue Zone ร่วมกับอีก 4 พื้นที่ ได้แก่ เกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น เกาะอิคาเรีย ประเทศกรีซ คาบสมุทรนิโคยา ประเทศคอสตาริกา และชุมชนเซเว่นเดย์ แอดแวนติสต์ ในโลมาลินดา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

แนวคิด Blue Zone ที่ผมได้ไปดูงาน ทำให้ผมเกิดความคิดที่ต่อยอดจากสิ่งผมได้ขบคิดมาตลอดชีวิตเกี่ยวกับการสร้างชาติไทยให้เป็นต้นแบบการพัฒนาของโลก โดยผมได้เสนอมาเป็นเวลานานแล้วว่า

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

เราควรพัฒนาในด้านที่เป็นจุดแกร่งของประเทศ หรือ Thailand’s Niches ประกอบด้วย เมืองหลวงอาหารโลก เมืองหลวงการท่องเที่ยวโลก เมืองหลวงสุขสภาพ (wellness) โลก และเมืองหลวงการอภิบาลคนชราโลก

ซึ่งการพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองหลวงทั้ง 4 ด้านนั้น ผมเห็นว่า เราควรกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นเป้าหมายระดับโลก เพื่อเป็นหนึ่งในหลักชัยที่จะไปให้ถึง และเป็นการส่งสัญญาณให้ทั่วโลกรับรู้ถึงความเอกอุของไทยในทั้ง 4 ด้านนี้

ผู้เขียนจึงขอเสนอวิสัยทัศน์ประเทศไทย โดยกำหนดเป้าหมายให้ ประเทศไทยเป็น Blue Zone แห่งที่ 6 ของโลก

ทำไมเราควรผลักดันประเทศไทยเป็น Blue Zone

หากเราพิจารณาถึงปัจจัยที่ทำให้ผู้คนในพื้นที่ Blue Zone มีอายุยืนยาว การวิจัยปัจจัยเชิงพฤติกรรมของผู้สูงอายุ 100 ขึ้นไปในพื้นที่ดังกล่าว พบปัจจัยร่วมหลายประการ อาทิ การรับประทานอาหารที่มีพืชเป็นองค์ประกอบหลัก การรับประทานเพียงร้อยละ 80 ของความอิ่ม

การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเป็นปกติในวิถีชีวิต หรือที่ผมเรียกว่า Natural Exercise การมีกิจกรรมประจำวันในการลดความเครียดในชีวิต การมีคนที่เขารักและคนที่รักเขา การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนฐานความเชื่อ การมีกลุ่มเพื่อนที่ผูกพันกันตลอดชีวิต และการมีจุดมุ่งหมายในชีวิต

นอกจากนี้ งานวิจัยเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาว ยังระบุถึงปัจจัยอื่นๆ ทั้งในกลไกระดับพันธุกรรม ชีวเคมี และโมเลกุลในเซลล์ของมนุษย์ รวมถึงจุลินทรีย์ในลำไส้ พฤติกรรมและวิถีชีวิต เช่น การกิน การดื่ม การออกกำลังกาย สุขอนามัย การนอนหลับ สภาพอารมณ์และจิตวิทยา ความสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นต้น ตลอดจนปัจจัยเชิงนโยบายและสภาพแวดล้อม เช่น แร่ธาตุในดินและน้ำ สภาพอากาศ ภาวะเศรษฐกิจ สภาพสังคม วัฒนธรรม ระบบสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ปัจจัยต่างๆ ของเมืองเกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น, เกาะซาดิเนีย ประเทศอิตาลี และชุมชนเซเว่นเดย์ แอดแวนติสต์ ในโลมาลินดา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่เข้าเกณฑ์ Blus zone ที่มา: wikipedia

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Blue Zone นั้น ต้องพัฒนาครอบคลุมปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อให้ผู้คนที่อาศัยอยู่มีอายุยืนยาว แข็งแรง และมีความสุข โดยส่วนหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้น คือ การพัฒนาการผลิตและบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและไม่เป็นภัยต่อสุขภาพ การพัฒนาองค์ประกอบต่างๆ ในประเทศให้น่าเที่ยวน่าอยู่

การพัฒนาบริการและปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตอย่างมีสุขสภาพที่ดี และเอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย ซึ่งหมายความว่า การพัฒนาประเทศไทยเป็น 4 เมืองหลวงโลก และเป็น Blue Zone แห่งที่ 6 ของโลกเป็นเรื่องที่สอดประสานไปด้วยกันได้

หากการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Blue_Zone แห่งที่ 6 ของโลกประสบความสำเร็จ จะเป็นเหมือนตราที่ช่วยรับรองความเป็นเมืองหลวงโลกทั้ง 4 ด้าน โดยเฉพาะด้านการอภิบาลคนชราและด้านสุขสภาพ ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสดึงดูดคนจากทั่วโลกเข้ามาทำงาน อยู่อาศัย ท่องเที่ยวและลงทุน

ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้เข้าประเทศแล้ว ยังเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน และทำให้คนในประเทศมีสุขสภาพที่ดี ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและงบประมาณในการรักษาความเจ็บป่วยและดูแลคนชรา

ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเป็น Blue Zone หรือไม่

การระบุว่าพื้นที่ใดเป็น Blue_Zone มีหลักเกณฑ์การพิจารณา 3 ขั้นตอน ขั้นแรก คือ การพิจารณาความน่าเชื่อถือของฐานข้อมูลประชากรของประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากเป็นพิเศษ ขั้นที่สอง คือ การพิจารณาอายุคาดเฉลี่ย (Life expectancy) ระดับประเทศ ทั้งภาพรวม แยกตามกลุ่มคนและเพศ ซึ่งประเทศที่จะเข้าข่าย ควรมีอายุคาดเฉลี่ยยืนยาวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

และขั้นที่สาม คือ การพิจารณาระดับพื้นที่ โดยใช้ตัวชี้วัดหลายตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอายุคาดเฉลี่ย และความน่าจะเป็นในการรอดชีวิต ณ ช่วงอายุต่างๆ หากพื้นที่ใดมีดัชนีเหล่านี้สูงกว่าพื้นที่อื่นในประเทศอย่างเด่นชัดอาจเข้าข่ายเป็น Blue_Zone

สำหรับประเทศไทยอาจถือได้ว่าผ่านเกณฑ์ขั้นแรก เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจประชากรสูงอายุ และสำมะโนประชากรและเคหะมีกระบวนการจัดเก็บข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

เมื่อพิจารณาเกณฑ์ขั้นที่สอง อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด (Life expectancy at birth) ของประเทศไทยอยู่ที่ 77.7 ปี (พ.ศ.2561) จัดอยู่ในอันดับที่ 47 จาก 366 ของประเทศ/เขตปกครองทั่วโลก โดยมีประเทศญี่ปุ่นเป็นอันดับ 1 ที่อายุ 84.3 ปี ซึ่งดูเหมือนว่าประเทศไทยอาจไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นที่สอง เพราะประชากรไทยไม่ได้มีอายุยืนยาวอันดับต้นๆ ของโลก

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาประเทศที่เป็น Blue_Zone หลายประเทศก็ไม่ได้มีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดอันดับต้นๆ ของโลก เช่น กรีซ 81.9 ปี อันดับ 28 ของโลก คอสตาริกา 80.3 ปี อันดับ 30 ของโลก และสหรัฐอเมริกา 78.8 ปี อันดับ 40 ของโลก ซึ่งไม่ห่างจากประเทศไทยมากนัก แสดงว่า เกณฑ์ขั้นที่สองอาจไม่ได้ถูกใช้อย่างเข้มงวดมากนัก

Life expectancy at birth, total (years) – United States, Costa Rica, Greece, Italy and Japan

สำหรับเกณฑ์ขั้นที่สาม คือ การพิจารณาระดับพื้นที่นั้น มีข้อจำกัด เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการจัดทำดัชนีอายุคาดเฉลี่ยในระดับท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ยังมีข้อมูลบางประการที่อาจบ่งชี้ว่า มีบางพื้นที่มีความชุกของคนอายุยืนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ เช่น สามจังหวัดชายแดนใต้ และจังหวัดติดชายทะเลบางจังหวัด

ทั้งนี้ผมมีสมมติฐานว่า พื้นที่ Blue_Zone ทั้งหมดในปัจจุบันอยู่ใกล้ทะเล ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับแร่ธาตุในดิน น้ำ และอาหาร ที่เป็นประโยชน์ต่อการมีอายุยืนยาว รวมทั้งมีอากาศที่บริสุทธิ์ เนื่องจากมีการไหลเวียนอากาศที่ดี

ถึงแม้ว่า พื้นที่ในประเทศไทยยังไม่โดดเด่นเมื่อเทียบกับ Blue_Zone ในปัจจุบัน แต่ก็มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็น Artificial Blue_Zone ได้ เนื่องจากประเทศไทยมีหลายปัจจัยที่สนับสนุนการมีอายุยืนยาว อาทิ สภาพอากาศที่ไม่รุนแรงสุดขั้วจนเกินไป การมีแหล่งอาหารที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์

โดยอาหารไทยจำนวนมากประกอบด้วยสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ระบบสาธารณสุข สุขอนามัย และบริการทางการแพทย์ของไทยมีคุณภาพและประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง สังคมไทยยังมีวัฒนธรรมการดูแลผู้สูงวัยโดยครอบครัว และการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางที่มีความรู้และฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

อุปสรรคต่อการมีอายุยืนยาว แข็งแรง และมีความสุข ของประเทศไทย

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีปัจจัยบางประการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการมีอายุยืนยาว แข็งแรง และมีความสุข อาทิ การขาดความรู้และความตระหนักในการดูแลสุขภาพ ปัญหาการใช้สารเคมีในการเกษตรเกินขนาดทำให้ผลผลิตอาหารอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

การขาดบริบทที่เอื้อต่อการออกกำลังกาย ปัญหาการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และยาเสพติด ปัญหาคุณภาพอากาศโดยเฉพาะ PM 2.5 ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความเครียด ความเหงา การขาดปฏิสัมพันธ์ในชุมชน การขาดเป้าหมายในชีวิตที่มีคุณค่า เป็นต้น

แนวทางการผลักดันประเทศไทยเป็น Blue Zone

การพัฒนาประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย Blue_Zone แห่งที่ 6 ของโลก ต้องดำเนินการแบบครอบคลุมและบูรณาการ อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ในการผลักดันควรเลือกบางพื้นที่หรือบางชุมชนเป็นพื้นที่ต้นแบบ Thailand’s Blue_Zone โดยการพัฒนาการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลสถานะและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการมีอายุยืนยาวและมีสุขสภาพดีของประชากร

เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ประชากรสูงอายุและอายุคาดเฉลี่ยในระดับพื้นที่หรือระดับชุมชนได้ สามารถเลือกพื้นที่ต้นแบบได้อย่างแม่นยำ และมีความเข้าใจปัจจัยสำคัญในระดับพื้นที่ที่มีผลต่อการพัฒนาเป็น Blue_Zone

การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบต้องทำตั้งแต่ระดับลึกที่สุด คือ การวิจัยและพัฒนาความรู้ความเข้าใจกลไกทางชีววิทยา พันธุกรรม ชีวเคมี และโมเลกุลในระดับเซลล์ เพื่อทำความเข้าใจกระบวนการที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาว และสามารถออกแบบการแทรกแซง (intervention) ได้อย่างเหมาะสมและแม่นยำ

การพัฒนาในระดับต่อมา คือ การพัฒนาความรู้ ทักษะ ความตระหนัก พฤติกรรม และวิถีชีวิต เพื่อทำให้คนมีชีวิตยืนยาว โดยใช้กรอบ โมเดล 12อ สุขสภาพชีวิต”: 123+ ปีอย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วย อาหาร อุทกคุณ (ของเหลวที่เป็นคุณ) โอโซนคุณะ (อากาศสะอาดที่เป็นคุณ) ออกกำลัง อาจม (การขับถ่ายที่เป็นคุณ)

อนามัย อารมณ์ อบอุ่นสัมผัส-โอบกอด ออแกสซึ่ม (กิจกรรมที่ทำให้เกิดการหลั่นฮอร์โมนแห่งความสุข) อัคคนิทรา (การนอนหลับ) อานิกลักษณ์ (Loving Relationship) และอารยชีวลักษณ์-อารยฉลักษณ์ (Life Long Araya Life)

และการพัฒนาในระดับที่กว้างที่สุด เพื่อสนับสนุนพฤติกรรมตามโมเดล 12อ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้บุคคลมีทรัพยากร มีแรงจูงใจ มีทางเลือกในการดูแลตัวเองได้ดียิ่งขึ้น และใช้ชีวิตได้ยาวนานโดยไม่ขัดสน การพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความรู้และความตระหนักในการดูแลตนเอง และศึกษาวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับการมีอายุยืนยาว

การพัฒนาวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่เอื้อต่อการมีชีวิตยืนยาว การพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อเอาชนะโรคที่เกี่ยวกับความชราและช่วยให้ผู้คนมีอายุยืนยาวได้มากขึ้น การพัฒนาสังคมและชุมชนที่ส่งเสริมให้คนทุกวัยมีสุขสภาพที่ดี มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่น มีชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมาย และการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่สะอาดปราศจากมลพิษ เป็นต้น

วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศไทยเป็น Blue_Zone แห่งที่ 6 ของโลก เป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับประเทศไทย เราจึงจำเป็นต้องร่วมกันขับเคลื่อนอย่างบูรณาการ เพื่อให้ไทยมีที่ยืนที่โดดเด่นในเวทีโลก

อ่านบทความทั้งหมดของ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

Featured Image: Mature couple photo created by jcomp – www.freepik.com