Tuesday, March 19, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในยุคหลังโควิด (ตอนที่ 2): ข้อเสนอแนะในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน

บทความตอนที่สองในชุด การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในยุคหลังโควิด ที่ผู้เขียนขอเสนอ ยุทธศาสตร์ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ได้นำแนวทางนี้ไปสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้ประสบความสำเร็จจริงๆ

าเหตุความล้มเหลวในการพัฒนา เศรษฐกิจชุมชน โดยรวมแล้วเกิดจากการแนวทางการพัฒนาที่ขัดแย้งกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์ เช่น ขาดความประหยัดจากขนาด ขาดความหลากหลายของกิจกรรมเศรษฐกิจ ขาดการต่อยอดบนฐานความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ รวมทั้งขาดบูรณาการในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เป็นต้น

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน ทั้งในบทบาทภาครัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจ โดยการเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลมาตลอด และโดยเฉพาะในยุคหลังโควิดเช่นปัจจุบัน ที่มีแรงงานจำนวนมากเลือกกลับไปหางานและสร้างอาชีพในบ้านเกิดของตนเอง จึงอยากเสนอยุทธศาสตร์ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนมากที่สุด ดังนี้

1. สร้างเอกลักษณ์อัตลักษณ์สินค้าและบริการของชุมชน (Identity Creation)

เพื่อหลีกหนีจากการแข่งขันด้านราคา และลดข้อจำกัดด้านต้นทุนของการผลิต สินค้าและบริการของชุมชนจึงต้องมีความแตกต่างจากวิสาหกิจ หรือชุมชนอื่น เพื่อสร้างคุณค่าและความน่าสนใจในมุมองของผู้ซื้อ โดยผมแบ่งแนวทางการพัฒนาออกเป็น 3 ระดับ คือ

ระดับบุคคล: พัฒนาคนแบบ “ตัดเสื้อพอดีตัว” โดยพัฒนาความสามารถที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล ผ่านการฝึกอบรมอาชีพต่างๆ บนจุดประสงค์เพื่อช่วยคนในชุมชนค้นหาศักยภาพของตน และพัฒนาจนเกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ไม่เหมือนใคร

ระดับองค์กร: พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ หรือมีคุณภาพสูง โดยการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือแปรรูปด้วยวิธีการใหม่ ซึ่งอาจอาศัยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ภาครัฐ เอกชนในท้องถิ่นลงทุนวิจัยและพัฒนา ซึ่งสามารถสร้างพันธุ์พืชและสัตว์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างกรรมวิธีการเพาะปลูก หรือทำปศุสัตว์ หรือมาตรฐานหรือแนวปฏิบัติที่ดี เป็นต้น

ผู้เขียน: ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ผู้เชี่ยวชาญ เศรษฐศาสตร์ นโยบายการศึกษา การต่างประเทศ สังคม การเมือง การศึกษา

ระดับชุมชน: พัฒนาสินค้าและบริการที่เป็นช่องว่างของตลาด (Niche Market) โดยแต่ละชุมชนร่วมมือกับภาครัฐ กำหนด จุดยืน (Positioning) หรือ จุดเฉพาะ (Niche) ของตน ส่วนรัฐต้องมีบทบาทในการเป็นผู้ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่มีเอกลักษณ์ของชุมชนให้มากขึ้น

เช่น พัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่มีกลิ่นและรสชาติพิเศษเฉพาะพื้นที่ ผลไม้ที่มีขนาด รูปทรง และสีลักษณะพิเศษเฉพาะพื้นที่ หรือพัฒนาปศุสัตว์ อาทิ วัว สุกร ที่มีเนื้อ และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์

ดังเช่น จังหวัดเฮียวโงะ ญี่ปุ่นทำ เนื้อวัวโกเบ ขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) จนกลายเป็นจุดขายของชุมชน หรืออาจสร้างสรรค์เมนูอาหารเฉพาะถิ่น ประเพณี วัฒนธรรม ศิลปะ ประจำถิ่น หรือสร้างแลนด์มาร์คที่มีเอกลักษณ์ เป็นต้น

2. สร้างพลังเสริมทวี (Synergization)

โดยใช้การบูรณาการความร่วมมือระหว่างบุคคล องค์กร และชุมชนในการส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มคุณค่าและความน่าสนใจของผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) ความประหยัดจากขอบเขต (Economy of Scope) หรือความหลากหลาย

ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ บุคคล องค์กร และชุมชน เช่น วางแผนร่วมกันสร้างชุดโครงการเพื่อสร้างงานในชุมชนเพื่อให้เกิดการสนับสนุนซึ่งกันและกัน วางแผนร่วมกันพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของงาน อาชีพ หรือกิจกรรม ในชุมชนให้ครบวงจร เพื่อให้งาน อาชีพ หรือกิจกรรมต่างๆ เชื่อมโยงกัน พึ่งพากัน

และวางแผนร่วมกันพัฒนาตลาดระหว่างชุมชนที่มีสินค้าหลากหลายเป็นพื้นที่พิเศษ (Cluster) ของงาน อาชีพ หรือกิจกรรม ของชุมชน เช่น พัฒนาตลาดร่วมระหว่างชุมชนที่มีสินค้าหลากหลาย พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว ระหว่างชุมชน ซึ่งสามารถดึงดูดคนได้มากกว่า เป็นต้น

3. สร้างประโยชน์จากทรัพยากร (Utilization)

โดยการพัฒนาวิธีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ทุกประเภท ทุกที่ ทุกเวลา เช่น การใช้ประโยชน์จากขยะ ของเสีย เศษเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นต้น หรือ ใช้กระบวนการเพิ่มคุณลักษณะ รวมถึงความสามารถ (Functionalization) ใหม่ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agritourism) เป็นการเพิ่มฟังก์ชันด้านท่องเที่ยวไปในภาคเกษตร

หรือ วนเกษตร (Agroforestry) เป็นการเพิ่มลักษณะของงานด้านอนุรักษ์เข้าไปในภาคเกษตร หรือสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากทรัพยากร (Monetization) โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การนำวัฒนธรรม หรือประวัติศาสตร์มาสร้างเรื่องราว (Content) ด้านการท่องเที่ยว

รวมถึงพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน (Securitization) เพื่อพัฒนาชุมชน เช่น การแปลงไม้ยืนต้นเป็นทุน (ธนาคารต้นไม้) การแปลงทุนทางสังคมเป็นทุน (การให้กู้โดยค้ำประกันกลุ่ม) และการแปลงความดีเป็นทุน (ธนาคารความดี) เป็นต้น

4. สร้างความสามารถพึ่งพาตนเอง (Self-Reliance)

ในยุคโควิด การสร้างงานในชุมชน จำเป็นมากขึ้น เพราะคนว่างงานมากขึ้น แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั้งประเทศ และทั่วโลกทำให้ตลาดนอกชุมชน มีกำลังซื้อลดลง ดังนั้น โครงการสร้างงานชุมชน ควรเน้นการสร้างงานที่พึ่งพาตนเองได้

ยุทธศาสตร์ คือ ส่งเสริมการผลิตแบบพึ่งตนเองก่อน (Self-Reliance First) เช่น การส่งเสริมการรวมตัวเป็นหน่วยภราดรภาพ (Fraternity Unit) เพื่อทำเกษตรแบบพึ่งตนเองก่อน ผลผลิตที่ส่วนเกินจากการบริโภคจึงนำออกจำหน่าย เริ่มจากร่วมมือกันปรับแนวคิดการผลิตในชุมชนร่วมกันให้เน้นความยั่งยืนด้วยตัวเอง (Self-Sustained Communities – SSC)

เพื่อปรับโครงสร้าง เศรษฐกิจชุมชน เน้นการผลิตเพื่อตลาดภายในชุมชนมากขึ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจภายในชุมชนมากขึ้น เช่น การส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายของการผลิตในชุมชนเพื่อให้เกิดตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเองในชุมชน กระทั่งพัฒนาต่อยอดความร่วมมือสู่ความเชื่อมโยงระหว่างชุมชน (Linked Self-Sustained Communities)

5. สร้างสมรรถนะทางเทคโนโลยี (Technologization)

เทคโนโลยี ช่วยให้ชุมชน ลดข้อจำกัด เพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับคุณภาพ มาตรฐานการผลิต ทำให้สามารถเข้าถึงตลาดและเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น รวมทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นท้องถิ่นควรส่งเสริมการสร้างสมรรถนะทางเทคโนโลยีในการผลิตให้มากขึ้น เช่น การรวมพื้นที่เพาะปลูกให้กลายเป็นเครื่องจักรกลฟาร์ม (Mechanization) หรือการให้เกษตรกรรายย่อยร่วมมือกันบริหารจัดการฟาร์ม เพื่อให้สามารถใช้เครื่องจักรในการผลิตได้อย่างคุ้มค่า

สามารถใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะต่างๆ (เช่น Big Data, IoT, Sensor, AI) ในการผลิตได้ง่ายขึ้น โดยในอนาคตชุมชนจะสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้าและทำการตลาดในระบบออนไลน์ การระดมทุน และการควบคุมคุณภาพสินค้าได้

6. สร้างกิจการที่มีเจ้าของร่วมรูปแบบใหม่ (Neo Mutual Business)

โดยการส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างภาคธุรกิจและวิสาหกิจชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างการถือหุ้น และอำนาจในการออกเสียง เช่น การใช้กฎ 50+1 โดยให้สมาชิกถือหุ้นร้อยละ 50+1 และให้นักธุรกิจเข้ามาถือหุ้นได้ไม่เกิน ร้อยละ 49 เพื่อให้สมาชิกยังถือหุ้นใหญ่ แต่เปิดโอกาสให้นักธุรกิจนำผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารธุรกิจจากภายนอกเข้ามาเป็นผู้บริหาร กรรมการ หรือที่ปรึกษาได้ด้วย

7. สร้างคุณค่าเพื่อสังคม (Social Value)

โดยใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เช่น การมีผู้ผลิตมีบรรษัทภิบาลทำเพื่อประโยชน์สังคม เป็นจุดขายด้านการตลาด ต่อยอดไปสู่การพัฒนาธุรกิจสร้างชาติ (Corporate Nation-Building – CNB, อ่านเพิ่มเติม ธุรกิจจะช่วยสร้างชาติได้อย่างไร) เพื่อช่วยเหลือชุมชนอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาระบบอาสาสมัครเพื่อชุมชน เช่น การสร้างประเพณีให้บัณฑิตจบใหม่ ลงไปพัฒนาชุมชน 2 ปี เป็นต้น

ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมยังมีอยู่มากในชนบท เราจึงไม่สามารถพัฒนาชนบทด้วยวิธีการแบบเดิมได้ การทำงานหนักและมีหลักวิชาที่ถูกต้องคือทางรอดเดียวหากเราต้องการยกระดับชนบทให้พ้นจากความยากจน และยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ครับ

อ่านบทความทั้งหมดของ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

Featured Image: Image by jcomp on Freepik

Leave a Response