Saturday, July 27, 2024
AICloudData CenterDigital TransformationNEWS

ประกาศเปิดตัว AWS Thailand Region ต้นปี 2568

AWS ขยายโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอาเซียนด้วยงบลงทุนกว่า 1.9 แสนล้านบาท เป็นโครงสร้างพื้นฐานระดับ Region ในประเทศไทย รับวิสัยทัศน์ Ignite Thailand และนโยบาย Cloud-First

30พฤษภาคม 2567, อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (AWS) ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการลงทุนในไทย ด้วยการประกาศว่า AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ใหม่จะเปิดให้บริการในช่วงต้นปี 2568

ด้วยการลงทุนมากกว่า 1.9 แสนล้านบาท หรือ 5 พันล้านดอลลาร์ ในประเทศไทยจนถึงปี 2580 จะช่วยให้นักพัฒนา สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ และองค์กรต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรไม่แสวงผลกําไร สามารถเลือกใช้บริการคลาวด์สำหรับรันแอปพลิเคชันและให้บริการแก่ผู้ใช้ปลายทางจากศูนย์ข้อมูลที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

AWS Region ใหม่ที่กำลังจะเปิดใช้งานนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของ AWS ในประเทศไทย ซึ่งเพิ่มเติมจาก Amazon CloudFront edge ทั้งหมด 10 แห่งรวมถึง AWS Outposts และ AWS Local Zone ที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย

AWS_Region ใหม่นี้ถือเป็น Region ทื่สี่ของ AWS ที่เปิดตัวในภูมิภาคอาเซียนซึ่งประกอบไปด้วยสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2567 นี้ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถเก็บข้อมูลของตนไว้ในประเทศไทย

ช่วยให้ลูกค้าสามารถลดความหน่วงของการรับส่งข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น และตอบสนองความต้องการที่เติบโตขึ้นอยากมากในการใช้คลาวด์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

AWS Region ในประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยในด้านดิจิทัล และรองรับความต้องการของตลาดในด้านเทคโนโลยีคลาวด์ เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมทั้งในประเทศไทยและทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ซึ่งสอดคล้องไปกับวิสัยทัศน์ Ignite Thailand และนโยบาย Cloud-First ของภาครัฐ ที่มุ่งพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการขับเคลื่อนนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี

โครงสร้างพื้นฐานแห่งใหม่นี้จะช่วยให้ลูกค้าตั้งแต่สตาร์ทอัพ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ และหน่วยงานภาครัฐ สามารถร่วมมือ ทดลอง พัฒนาและเติบโตไปด้วยกันการเข้าถึงเทคโนโลยีล่าสุด เช่น Generative AI, แมชชีนเลิร์นนิง, IoT และอื่นๆ อีกมากมาย

นายกเศรษฐา เชื่อ AWS Thailand Region จะสนับสนุนโอกาสทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างทักษะดิจิทัล

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ยินดีต้อนรับการลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์ของ AWS ในการสร้าง AWS Thailand Region แห่งใหม่ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลของประเทศไทยก้าวไปอีกขั้น”

“การลงทุนครั้งนี้ช่วยเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพิ่มโอกาส และความสามารถในการแข่งขันของไทย และส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ ผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพไทยนับพันราย”

“ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของนโยบาย Cloud First ที่สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

“เชื่อว่า AWS Thailand Region จะสนับสนุนโอกาสทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างทักษะดิจิทัลให้แก่บุคลากรของเรา รวมถึงขับเคลื่อนนวัตกรรม”

“รัฐบาลพร้อมที่จะร่วมมือกับ AWS เพื่อดึงศักยภาพและสร้างประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาครั้งนี้ไปสู่ประชาชนชาวไทยทุกคน ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญ ผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก”

ความสนใจใน Generative AI ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในประเทศไทย

เทคโนโลยี Generative AI เป็นประเภทของของปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาและแนวคิดใหม่ ๆ ได้ จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่สังคมและอุตสาหกรรมต่างๆ

ในปัจจุบันเราได้เห็นถึงความสนใจของประชาชนทั่วไปใน Generative AI ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และการเปิดตัวของ AWS Thailand Region ใหม่นี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในระยะยาวที่ AWS มีให้แก่ลูกค้า เพื่อที่พวกเขาจะได้นำเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น AI หรือ ML มาประยุกต์ใช้ได้อย่างง่ายดาย

ความต้องการทักษะด้านคลาวด์และดิจิทัลในประเทศไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนทักษะด้าน AI ในบุคลากรไทย โดย 64% ของนายจ้างในประเทศไทยระบุว่าไม่สามารถหาบุคลากรที่มีทักษะ AI ตามที่ต้องการได้

ข้อมูลนี้มาจากการศึกษาในหัวข้อ “การยกระดับทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์: การเตรียมความพร้อมบุคลากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสู่งานแห่งอนาคต” ซึ่งเป็นการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับทักษะดิจิทัลด้าน AI โดย Access Partnership และ AWS ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของทักษะ AI ทั้งสำหรับนายจ้างและบุคลากรในประเทศไทย

AWS มุ่งมั่นที่จะฝึกอบรมคนไทย โดยได้ฝึกอบรมบุคลากรมาแล้วกว่า 50,000 คนในประเทศไทยด้วยทักษะด้านคลาวด์ตั้งแต่ปี 2560 และจะฝึกอบรมให้ถึง 100,000 คนภายในปี 2569

ทั้งนี้ AWS ได้ร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (MHESI), และองค์กรชั้นนำต่างๆ ในภาคเอกชนเช่น CPF และกลุ่มเซ็นทรัล ไปจนถึงโปรแกรมฝึกอบรมและการรับรองมาตรฐานของ AWS อีกมากมาย

ในเดือนพฤศจิกายน 2566 บริษัท Amazon ได้เปิดตัวโครงการ AI Ready ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่ AWS มี ในการฝึกอบรมทักษะด้านคลาวด์ให้กับผู้คนจำนวน 29 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2568

โครงการ AI Ready นำเสนอหลักสูตรฝึกอบรมด้าน AI และ Generative AI แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่เหมาะกับผู้เรียนไม่ว่าจะต้องการเน้นทักษะเทคนิคเฉพาะทางหรือไม่ก็ตาม เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเสริมสร้างทักษะด้าน AI ได้ในแบบที่ต้องการ ในปัจจุบัน

AWS Academy ช่วยให้สถาบันอุดมศึกษาเข้าถึงหลักสูตรด้านคลาวด์ที่พร้อมสอนฟรี ซึ่งเตรียมความพร้อมให้นักเรียนสามารถสอบเพื่อรับใบรับรองที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมและสายงานคลาวด์ที่เป็นที่ต้องการ

โดยปัจจุบันมีนักศึกษาจาก 26 สถาบันในประเทศไทย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น ที่สามารถเข้าถึงหลักสูตรนี้ได้

นอกจากนี้ AWS ยังได้เปิดตัวโปรแกรมฝึกอบรมละการรับรองมาตรฐานอื่นๆ อีกมากมายในประเทศไทย เพื่อให้ผู้เรียนได้มีทักษะด้านดิจิทัลที่จำเป็นและช่วยให้ประสบความสำเร็จในสายงานด้านดิจิทัลได้

เช่น AWS Skill Builder ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลที่มีหลักสูตรออนไลน์ด้านทักษะคลาวด์ฟรีมากกว่า 600 หลักสูตร รวมถึง 62 หลักสูตรที่เป็นภาษาไทย นอกจากนี้ยังมีศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์ใหม่ที่ช่วยให้สามารถสร้างทักษะด้าน AWS Cloud ได้ง่ายขึ้น และการฝึกอบรมดิจิทัลแบบเรียนด้วยตนเองตามความสะดวกของแต่ละบุคคล