Saturday, July 27, 2024
ArticlesColumnistDr.Kriengsak Chareonwongsak

ทำอย่างไร? ประเทศไทยจะไม่เสียเกาะกูดให้กัมพูชา

เกาะกูด

ผู้เขียนอยากเสนอแนวทางวิธีในการดำเนินยุทธศาสตร์ มาตรการเชิงรับ และมาตรการเชิงรุก เพื่อประเทศไทยจะไม่เสียดินแดน เกาะกูด ให้กับกัมพูชา เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในกรณีเขาพระวิหาร ลองสดับและช่วยกันขยายผลจากแนวทางดังกล่าว

กาะกูดเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์และแนวปะการังหลากชนิด ตั้งอยู่ในอ่าวไทย จังหวัดตราด เป็นเกาะแห่งน่านน้ำตะวันออกไทย ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศ มีการประเมินว่าพื้นที่บริเวณนี้อาจมีก๊าซธรรมชาติมากถึง 11 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มูลค่ากว่า 3.5 ล้านล้านบาท น้ำมันอีก 500 ล้านบาร์เรล มูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท

พื้นที่บริเวณนี้ แม้ปัจจุบันจะนับว่าอยู่ในอาณาเขตประเทศไทย แต่ก็เป็นพื้นที่ทับซ้อนที่เป็นข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชาที่ถกเถียงกันมามากกว่า 54 ปี กัมพูชาได้อ้างเขตพื้นที่ไหล่ทวีปในอ่าวไทย อ้างสิทธิในพลังงานแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยทั้งกัมพูชาและไทยต่างใช้หลักเขตแดนที่ 73 เป็นจุดตั้งต้นเช่นเดียวกัน แต่ลากเส้นไปคนละทิศทาง

โดยไทยมองว่าหลักเขตที่กัมพูชาประกาศนั้นไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ระหว่างประเทศ และไทยปฏิเสธที่จะยอมรับการแบ่งเขตตามหลักเขตของกัมพูชา

ความวุ่นวายที่ก่อตัวในอดีต

ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2450 สยามเสนอและยินยอมให้ดินแดนเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ และเมืองศรีโสภณแก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเขตดินแดนที่มีเกาะตราดและด่านซ้ายอยู่ภายใต้ความครอบครองของสยาม ดังนั้นบนหลักการสากลตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส เกาะกูด จึงถูกนับเป็นพื้นที่ของไทยตั้งแต่แรก

อย่างไรก็ตามปี พ.ศ.2513 กัมพูชาเริ่มอ้างสิทธิพื้นที่ทางทะเลบริเวณเกาะกูดเป็นครั้งแรก จากนั้นก็มีการพูดคุยกันเรื่อยมา จนกระทั่งปีพ.ศ. 2544 รัฐบาลไทยในสมัย ทักษิณ ชินวัตรได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับกัมพูชา เพื่อเป็นกรอบในการเจรจาประเด็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล และเรื่องเขตพัฒนาร่วม ที่จะต้องเจรจาควบคู่กันไปแยกกันไม่ได้ ทำให้ปัจจุบันไทยและกัมพูชายังคงหาข้อยุติในพื้นที่ทับซ้อนนี้ไม่ได้

หากไทยและกัมพูชาจำเป็นต้องต่อสู้กันในทางกฎหมายเพื่อให้ได้สิทธิความเป็นเจ้าของที่ชัดเจนเหนือพื้นที่เกาะกูด สิ่งที่ไทยได้เปรียบในเรื่องนี้คือ ประวัติศาสตร์การครอบครองพื้นที่ ที่ไทยได้บริหารเกาะกูดและน่านน้ำโดยรอบในอดีต การควบคุมโดยพฤตินัยนี้สามารถเป็นตัวช่วยในการต่อรองได้

นอกจากนี้หลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เรียกว่า หลักระยะห่างเท่ากัน (The principle of equidistance) ยังคงสนับสนุนข้อโต้แย้งทางฝั่งไทยมากกว่ากัมพูชา ไทยอาจใช้หลักการนี้เสริมสร้างข้อเรียกร้องของตนได้

นอกจากนี้แล้ว ไทยยังมีความมั่นคงในด้านการจัดหาก๊าซธรรมชาติมากกว่ากัมพูชา ขณะที่กัมพูชาพึ่งพาการนำเข้าอย่างมาก ส่งผลให้กัมพูชามีความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคานำเข้าและการหยุดชะงักของอุปทานมากกว่า ซึ่งหมายถึงว่า กัมพูชาอาจมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งเจรจา และยอมรับข้อเสนอจากไทยมากกว่า

อย่างไรก็ตามแม้ว่าเวลานี้ดูเหมือนเกาะกูดยังคงเป็นของประเทศไทย แต่ไทยก็ไม่ควรที่จะประมาทกัมพูชา เนื่องจาก กัมพูชาอาจใช้ศาลโลกมาเป็นเครื่องมือในการตัดสินข้อพิพาทโดยอ้างถึงสนธิสัญญา สยาม – ฝรั่งเศส ซึ่งทำให้กัมพูชาชนะไทยมาแล้วในคดีเขาพระวิหาร ดังนั้นกัมพูชาอาจใช้วิธีเดียวกันอีกในกรณีเกาะกูดก็เป็นได้

ประเทศไทยต้องดำเนินการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าอย่างรอบคอบ ปิดช่องโหว่ต่างๆ ในการเจรจาพื้นที่พิพาทนี้ล่วงหน้า และทำอย่างระมัดระวังที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงของทั้งสองฝ่าย

ผมจึงอยากเสนอแนวทางวิธีในการดำเนินยุทธศาสตร์มาตรการเชิงรับและมาตรการเชิงรุกเพื่อประเทศไทยจะไม่เสียดินแดนเกาะกูดให้กับกัมพูชา เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในกรณีเขาพระวิหาร โดยมีข้อเสนอเป็นมาตรการเชิงรับและเชิงรุกดังต่อไปนี้

1. มาตรการเชิงรับ

เป็นมาตรการเตรียมความพร้อม และป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในการเจรจา เช่น

1) สร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ เรื่องนี้ดูเหมือนไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณเกาะกูด แต่เป็นการดำเนินการเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศ เป็นการป้องกันไม่ให้ไทยต้องถูกบีบให้เร่งเจรจา เพื่อจะเอาก๊าซธรรมชาติบริเวณเกาะกูดมาใช้งาน เนื่องจากการผลิตพลังงานภายในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการในการใช้

 2) หาคำแนะนำเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เตรียมตัวให้พร้อมหากต้องขึ้นศาลโลก ใช้บทเรียนจากกรณีเขาพระวิหาร เพื่อเรียนรู้การต่อสู้ในชั้นศาล นำผลการศึกษามาเตรียมตัวป้องกัน ช่องโหว่ต่างๆ และแสวงหาคำแนะนำจากนักกฎหมายทั่วโลก ซึ่งหากค้นหาดูจะพบว่า มีข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่สนับสนุนข้อโต้แย้งของไทยอยู่ เช่น

  • Professors Clive H. Schofield and Victor Prescott จาก University of Wollongong ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยของออสเตรเลีย สรุปว่าตามอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1958 ทั้งสองประเทศมี ข้อผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามหลัก (equidistance) ในการกำหนดเส้นแบ่งของทะเลอาณาเขต พบว่า เส้นแบ่งของกัมพูชาไม่เป็นไปตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส และเมื่อ Professor Prescott and Clive ทดลองลากเส้นตามหลัก equidistance พบว่า แตกต่างไปจากการตีความของทั้งฝั่งไทย และกัมพูชา แต่ว่าผลที่ได้ใกล้เคียงกับของไทยมากกว่า
  • Narodom Ronariddh and Khim Chun Y ในหนังสือ Le Limites Du Domaine Cambodge (แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า The Limits of the Cambodian Domain) ปี 1976 ซึ่งเป็นนักกฎหมายของกัมพูชาก็เห็นเหมือนกันว่าการกล่าวอ้างของกัมพูชาตามสนธิสัญญานั้นคลาดเคลื่อน เส้นแบ่งที่ลากนั้นตัดเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นของไทย (Kongrawd, n.d., p.3).

3) สร้างหลักฐานที่แสดงถึงการครอบครองพื้นที่ อดีตไทยเคยเสียเขาพระวิหารให้กับกัมพูชา หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เสียไปคือ หลักฐานธงชาติฝรั่งเศสที่อยู่บนเขาพระวิหาร ดังนั้นไทยต้องมีหลักฐานการอยู่ของคนไทย เช่น สถานที่ราชการ ปักธงชาติไทย กระจายทั่วเกาะพื้นที่ไม่มีเจ้าของต้องจัดราชการเข้าไปดูแลเร่งด่วน จูงใจคนกัมพูชาบนเกาะให้เปลี่ยนมาเป็นคนไทย ลงทุนตามเงื่อนไขแล้วจะได้รับสัญชาติไทย เป็นต้น

2. มาตรการเชิงรุก

นอกจากมาตรการเชิงรับแล้ว ไทยควรจะมีมาตรการเชิงรุกที่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่เกาะกูดเป็นของประเทศไทย เป็นการส่งสัญญาณเตือนกัมพูชาว่า เกาะกูด เป็นของประเทศไทยและไทยให้ความสำคัญกับการดูแลพื้นที่ในบริเวณนี้ เช่น

1) นำกองทัพไทยซ้อมรบพื้นที่ทางทะเล เพื่อจำลองเหตุการณ์ความตึงเครียดและความเตรียมพร้อมต่อเหตุที่อาจไม่คาดคิดในอนาคต เป็นการขู่ให้กัมพูชากลัวและไม่เปิดการรบทางทหาร

2) หาแนวร่วมจากต่างประเทศ เช่น อาจจะดึงดูด การค้าการลงทุน ให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือ มีข้อตกลงบางด้านร่วมกันในพื้นที่ เพื่อให้ต่างชาติเป็นผู้สนับสนุนไทยในการเจรจาด้วย

3) ร่วมมือกันทั้ง 3 ภาคกิจในประเทศ อย่างมียุทธศาสตร์ ในประเด็นที่รัฐบาลอาจจะทำได้ไม่สะดวก รัฐบาลอาจจะร่วมมือกับภาคประชากิจและธุรกิจมาช่วย เช่น ใช้องค์กรภาคประชากิจช่วยรัฐบาลขับเคลื่อน เช่น ออกมาเรียกร้อง กดดัน ประท้วง จัดสัมมนา เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนไทย ไม่เห็นด้วยอย่างมาก และใช้ภาคธุรกิจกดดันทั้งทางตรงทางอ้อม ในการไม่เข้าไปลงทุนในกัมพูชาหรือถอนการลงทุนที่มีออกจากกัมพูชา เป็นต้น

กรณีเขาพระวิหารที่ไทยต้องเสียดินแดนบางส่วนให้กัมพูชาไปนั้น ถือเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าที่ไทยต้องตระหนัก และเรียนรู้บทเรียนนำมาใช้เตรียมความพร้อมในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณ เกาะกูด

ซึ่งตราบใดที่ข้อพิพาทยังไม่ได้ข้อยุติ ประเด็นนี้จะวนเวียนมาเป็นประเด็นรบกวนใจคนไทยและรัฐบาลไทยไปอีกยาวนาน ประเทศไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมอยู่เสมอเพื่อไทยจะไม่ต้องเสียดินแดนที่ไม่ควรเสียให้กับประเทศพื้นบ้านอีกในอนาคต

อ่านเพิ่มเติม: Kongrawd, S. (n.d.). Thailand and Cambodia Maritime Disputes. Retrieved 13 April 2024,

อ่านบทความทั้งหมดของ ดร.เกรียงศักดิ์_เจริญวงศ์ศักดิ์

Featued Image: Gulf of Thailand