Sunday, December 15, 2024
CybersecurityNEWS

สกมช. ชวนหน่วยงานรัฐเข้าร่วมโครงการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ GMS และ PCW

สกมช

สกมช. ร่วมกับ กองทุนดีอี จัดประชุมเสวนา สถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในประเทศไทย และแนวทางในการตรวจจับ (Detection) พร้อมรับมือกับภัยคุกคามฯ (Response) ชวนหน่วยงานรัฐเข้าร่วมโครงการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ GMS และ PCW เพื่อยกระดับการป้องกันภัยทางไซเบอร์

มื่อ 23 กรกฏาคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ร่วมกับ กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดประชุมเสวนาในหัวข้อ “สถานการณ์ภัยคุกคามทาง ไซเบอร์ในประเทศไทย และแนวทางในการตรวจจับ (Detection) พร้อมรับมือกับภัยคุกคามฯ (Response) กับสถานการณ์ในปัจจุบัน” 

ภายใต้โครงการจัดหาระบบวิเคราะห์การโจมตีบนเครือข่ายสำหรับตรวจจับภัยคุกคามทางไซเบอร์ (GMS) และโครงการจัดหาระบบตรวจจับพฤติกรรมและวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมทางไซเบอร์เชิงรุก (PCW) โดยจัดขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซนเตอร์ แจ้งวัฒนะ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ห้องประชุมวายุภักษ์ 3 กรุงเทพมหานคร โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาราว 500 คน

พันตำรวจเอก ณัทกฤช พรหมจันทร์ ผู้อำนวยการ สำนักปฏิบิติการ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวรายงานว่า สกมช.ได้มีโครงการจัดหาระบบวิเคราะห์การโจมตีบนเครือข่ายสำหรับตรวจจับภัยคุกคามทาง ไซเบอร์ (GMS) และโครงการจัดหาระบบตรวจจับพฤติกรรมและวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมทาง ไซเบอร์เชิงรุก (PCW) สำหรับหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศและหน่วยงานภาครัฐ 

การจัดประชุมเสวนาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อ จัดเตรียมระบบวิเคราะห์การโจมตีบนเครือข่ายสำหรับตรวจจับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และโครงการจัดหาระบบตรวจจับพฤติกรรมและวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมทางไซเบอร์เชิงรุก เตรียมทีมงานผู้เชี่ยวชาญเฝ้าระวัง สนับสนุนหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศและหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญ 

ยกระดับมาตรการการป้องกันภัยทางไซเบอร์เชิงรุกพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ และการประเมินความเสี่ยง เพื่อลดผลกระทบจากการโจมตีที่อาจจะเกิดขึ้นต่อหน่วยงานได้ทันท่วงที และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานที่ต้องการเข้าร่วมทั้ง 2 โครงการได้รับทราบ โดยการเข้ารวมโครงการนี้จะไม่เสียค่าใช้จ่าย 

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์แห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า “วัตุประสงค์หลักการจัดงานครั้งนี้ อยากจะชวนให้หน่วยงานที่มีความพร้อม และความจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ให้มาเข้าร่วมโครงการ” 

“โดยการสัมมนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมจะได้รับทราบถึงลักษณะของภัยคุกคาม และนำเสนอทางออก โดยนำเสนอ 2 โครงการ ได้แก่โครงการระบบวิเคราะห์การโจมตีบนเครือข่ายสำหรับตรวจจับภัยคุกคามทาง ไซเบอร์ (GMS) และโครงการจัดหาระบบตรวจจับพฤติกรรมและวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมทาง ไซเบอร์เชิงรุก (PCW)” 

“แม้การเข้าร่วมโครงการ หน่วยงานจะไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องมีทีมงานที่มีความพร้อมจะร่วมทำงานกับทาง สกมช. เพื่อร่วมกันเข้าแก้ปัญหา สกมช.เตรียมปัจจัยทาง เทคโนโลยี เครื่องมือ อุปกรณ์ให้ ซึ่งต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในการเตรียมความพร้อมของคน มาทำงานร่วมกัน เพื่อประสบความสำเร็จในการเพิ่มความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่หน่วยงานของท่าน และประเทศของเรา”

เสนอเครื่องมือแก้ปัญหาให้หน่วยงานรัฐ

ภายในงานเสวนาเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ และกระตุ้นให้ตระหนักถึงการสร้างระบบการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ สร้างความพร้อมรับการรับการโจมตีแค่ไหน และเพิ่มศักยภาพในการรับมือการโจมตี โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงาน ที่มาจากหน่วยงานภาครัฐได้เข้าถึงโครงการ GMS และ PWC ของสกมช. 

โดยโครงการ GMS และ PWC เป็นโครงการจัดหาระบบวิเคราะห์การโจมตีบนเครือข่ายสำหรับตรวจจับภัยคุกคามทางไซเบอร์ (GMS) เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามไซเบอร์ที่รุนแรง และซับซ้อนขึ้นทุกวัน โดยใช้แนวทาง ที่ช่วยหน่วยงานให้มากที่สุดด้วยการลงแรง และงบประมาณที่น้อยที่สุดกับหน่วยงานภาครัฐ ที่มีความสำคัญที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ และหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญ 

โครงการ GMS ประกอบด้วย 

  • NDR (Network Detection and Response) การตรวจจับ Traffic ที่ต้องสงสัยและเป็นภัยคุกคามด้วย Machine Learning, 
  • EDR (Endpoint Detection and Response) การติดตั้งเครื่องมือเพื่อช่วยยับยั้ง/หาสาเหตุเชิงลึกในระดับเครื่อง (Endpoint) ที่ก้าวหน้ามากขึ้น มากกว่า Antivirus แบบเดิม
  • ศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Security Operation Center) ศูนย์กลางเพื่อการแจ้งเตือน และพร้อมให้คำปรึกษาในกรณีตรวจพบเหตุการณ์ที่อยู่ในข่ายเป็นภัยคุกคามฯ

การเข้าร่วมโครงการ GMS กับ สกมช. จะช่วยให้หน่วยงานต่างๆ ได้ประโยชน์คือ

  • ได้ทัพเสริม Border Security Monitoring (Improve MTTD) ช่วยระวังภัยจากภัยคุกคามภายนอกให้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • เพิ่มการเห็นภัยคุกคามภายในหน่วยงาน (improve East-West Visibility)
  • ทีมช่วยสนับสนุนการรับมือและตอบสนองต่อภัยคุกคามไซเบอร์ (Fry-Away IR Team)
  • เกิดความร่วมมือและเครือข่ายในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั้งในระดับหน่วยงานและระดับประเทศ (Center for Threat-Informed Defense)

โครงการตรวจจับพฤติกรรมและวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมทางไซเบอร์เชิงรุก (Proactive Cyber Watch : PCW) พร้อมกรณีศึกษา โดยโครงการนี้จะประกอบด้วย 

  • DNS Security Service ป้องกันการโจมตีระบบเครือข่ายและการขโมยข้อมูลผ่านทาง DNS ซึ่ง 95% ของมัลแวร์จะใช้ช่องทาง DNS ในการโจมตี
  • Attack Surface Services แจ้งเตือนหน่วยงานก่อนที่ผู้ไม่หวังดี หรือกลุ่มแฮกเกอร์ โจมตีระบบจากมุมมองการเข้าถึงจากภายนอก (Internet Facing)
  • Threat Intelligence Service แจ้งเตือนจากข่าวกรองทางไซเบอร์ (Cyber Threat Intelligence) เมื่อมีข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลสำคัญ ข้อมูลความลับของหน่วยงานฯ รั่วไหล 
เปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การตรวจจับและรับมือภัยคุกคาม

ตลอดช่วงของงานเสวนา ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิมาอธิบาย ถ่ายทอดความรู้ รวมถึงการแลกเปลี่ยยประสบการณ์ด้านการตรวจจับและรับมือภัยคุกคาม ได้แก่ พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ตติยรัตน์ หอมสำอางค์ ผู้อำนวยการส่วนระบบโครงสร้างพื้นฐานสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมที่ดิน 

ชูเกียรติ ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการส่วนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงการต่างประเทศ และ นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 

ร่วมเสวนาในหัวข้อ “สถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในประเทศไทย และแนวทางในการตรวจจับ (Detection) พร้อมรับมือกับภัยคุกคามฯ (Response) กับสถานการณ์ในปัจจุบัน” โดยกล่าวถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่แต่ละหน่วยงานเคยประสบ และภารกิจของ สกมช. ตาม พรบ. การรักษาความมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ.2562

วีระยุทธ์ เพริดพราว ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กล่าวในช่วงหน่ึงของการบรรยาย ได้ชี้ให้เห็นสภานการณ์ของภัยคุกคามโดยอาศัยข้อมูลจาก MITRE ATT&CK 2024 ซึงเป็นการสรุปข้อมูลกิจกรรมภัยคุกคามไซเบอร์ทั่วโลกในปี 2023 พบว่า มีกลุ่มคนแฮกเกอร์กว่า 4,000 กลุ่ม เป็นจำนวนแฮกเกอร์ล้านกว่าคน โดยมุ่งวัตถุประสงค์ต่างๆ กันทั้งที่ชัดเจนอย่างเช่นทางการเงิน และที่ไม่ชัดเจน พร้อมที่จะโจมตีหน่วยงานใดๆ ได้ตลอดเวลา 

สฤษดิ์พงษ์ บับพาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ได้ให้รายละเอียดของแผนการดำเนินงาน รูปแบบการติดตั้ง และการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่ต้องการเข้าร่วมในโครงการ GMS 

ชญา ลิมจิตติ ที่ปรึกษามูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย ได้บรรยายในหัวข้อ ลดภัยไซเบอร์ด้วยระบบชื่อโดเมน โดยปัจจุบันภัยไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับชื่อโดเมนมีมากขึ้น จึงแนะนำแนวทางลดภัยไซเบอร์ด้วยระบบชื่อโดเมน โดยมีแนวทางดังนี้

  • ชื่อโดเมนที่ลงท้ายด้วย .com หรืออื่นๆ เสี่ยงกว่าที่ลงท้ายด้วย .th ซึ่งควบคุมดูแลโดยมูลนิธิศูนย์สารสนเทศไทย ผู้ใช้ต้องประเมินเองว่าเจ้าของ .com มีตัวตนจริงหรือไม่ และชื่อโดเมนนั้นเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ และการใช้ https:// ใม่ช่วยลดภัยไซเบอร์
  • บริการของรัฐ / โครงการของรัฐ / หน่วยงานของรัฐ จดทะเบียนชื่อบริการ ชื่อโครงการหรือชื่อหน่วยงาน ด้วยชื่อโดเมนที่ลงท้ายด้วย go.th หรือ or.th
  • ถ้าใช้ชื่อเว็บเป็นภาษาไทย ควรใช้ .ไทย ตัวอย่างเช่น https://แบ่งปั่น.ไทย

สาธิต ชัยวิวัฒน์ตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ได้นำเสนอหลักการ แนวคิดและเทคโนโลยีที่ใช้ในโครงการตรวจจับพฤติกรรมและวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมทางไซเบอร์เชิงรุก (Proactive Cyber Watch : PCW) พร้อมกรณีศึกษา 

อรรถพงษ์ หาบสา ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ได้ให้รายละเอียดของแผนการดำเนินงาน รูปแบบการติดตั้งและการเตรียมความพร้อมเข้าร่วมในโครงการ

สกมช

ย้ำหน่วยงานรัฐพิจารณาเข้าร่วมโครงการ GMS และ PCW

พันตำรวจเอก ณัทกฤช พรหมจันทร์ ผู้อำนวยการ สำนักปฏิบิติการ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวสรุปว่า การเสวนาครั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมจะได้รับทราบถึงแน้วโน้มสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่อภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และรับทราบถึงหลักการ แนวคิด และเทคโนโลยีของโครงการระบบวิเคราะห์การโจมตีบนเครือข่ายสำหรับตรวจจับภัยคุกคามทางไซเบอร์ (GMS) และโครงการระบบตรวจจับพฤติกรรมและวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมทางไซเบอร์เชิงรุก (PCW) 

โดย GMS เปิดรับสมัครและคัดเลือกหน่วยงานเข้าร่วมโครงการในปีนี้ 100 หน่วยงาน โดยให้หน่วยงาน ตาม พ.ร.บ.ไซเบอร์ก่อน คือหน่วยงานที่มีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ถ้าโดนโจมตีจะกระทบต่อคนหมู่มาก กลุ่มที่ 2 หน่วยงานภาครัฐสำคัญ ตามด้วยหน่วยงานภาครัฐที่เคยถูกโจมตี โดยในปีที่ผ่านมามีหน่วยงานภาครัฐถูกโจมตีถึง 1,800 หน่วยงาน ส่วนในปีนี้มีถึง 1,500 หน่วยงานที่ถูกโจมตีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

ส่วนโครงการ PCW จะรับสมัครและคัดเลือก 200 หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนอีก 10 หน่วยงานที่ใหญ่ และสำคัญซึ่งถ้าถูกโจมตีมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก หลังจากวันนี้ทางหน่วยงานต่างๆ จะได้รับ QR แบบประสงค์ และแบบประเมินความพร้อมของหน่วยงาน ให้กรอกข้อมูลภายในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ ส่งเข้ามาเพื่อคัดเลือกเข้าร่วมทั้ง 2 โครงการ