Friday, September 20, 2024
ArticlesTechnology

ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ เผย 5 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรง ปี 2021

ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ ภายใต้เทเลนอร์กรุ๊ป ชี้วิกฤต COVID-19 เร่งการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแนวโน้มเทคโนโลยีในปี 2021 ตั้งแต่การพัฒนาเพื่อบรรเทาสุขภาพจิตจากความเหงา ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปในโลกการทำงาน ความปลอดภัยทางดิจิทัล และปัญหาโลกร้อน

บียอน ทาล แซนเบิร์ก ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ หน่วยงานวิจัยภายใต้เทเลนอร์กรุ๊ป

บียอน ทาล แซนเบิร์ก ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ หน่วยงานวิจัยภายใต้เทเลนอร์กรุ๊ป กล่าวว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา ไม่เพียงเป็นปีที่ต้องถูกจารึกว่าเป็น “ปีแห่งความท้าทายแห่งศตวรรษ”

แต่ยังเป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ประชาคมทั่วโลกต่างรวมเป็นหนึ่งเพื่อต่อสู้กับศัตรูที่ไม่อาจจินตนาการได้ ทำให้ผู้คนทั่วโลกต่างเร่งปรับตัวปรับพฤติกรรมสู่ “วิถีชีวิตใหม่” โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน

“วิกฤต COVID-19 กระตุ้นให้เกิดการปรับตัวการทำงานและการดำรงชีวิตสู่ดิจิทัลในเกือบทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกในอัตราเร่ง และในปี 2563 ที่ผ่านมา ยังได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีดิจิทัลในการรับมือกับปัญหาทางสังคมต่างๆ”

“ในปี 2564 นี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิตของคนในสังคม ไปจนถึงปัญหาโลกร้อน ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลที่เกิดอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา ยังได้ทำให้ปัญหาสังคมเดิมประจักษ์ชัดขึ้น”

“โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความต้องการของผู้ใช้งานที่ต้องการความปลอดภัยทางดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกัน การเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดวิถีการทำงานแบบใหม่ที่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์แห่งการทำงานไปตลอดกาล” บียอน กล่าว

ปีนี้ เป็นปี่ที่ 6 ที่ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ได้รวบรวมและวิเคราะห์เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปี 2563 และคาดการณ์แนวโน้มสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 5 แนวโน้มสำคัญ ได้แก่

1.COVID-19 ทำให้เกิดเทคโนโลยีคลายความเหงา

ด้วย COVID-19 ทำให้มาตรการต่างๆ ถูกปรับใช้ เพื่อให้เกิดระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ตัวอย่างเช่น มาตรการทำงานที่บ้าน (Work from home) แม้มาตรการเหล่านั้นจะช่วยลดผลกระทบทางสุขภาพกาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ผลกระทบทางสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลและอาการซึมเศร้าที่เกิดจากความเหงา

ศูนย์วิจัยเทเลนอร์คาดว่า จะมีการพัฒนา eHealth หรือ การใช้เทคโนโลยีไอซีที เพื่อสนับสนุนการให้บริการด้านสุขภาพ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาทางสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นจาก COVID-19 ตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยี AR และ VR ผสานกับเทคโนโลยีฮาโลแกรม เพื่อให้เกิดสัมผัสเสมือนเมื่อมีการสื่อสารระหว่างกัน ซึ่งต่างจากการวิดีโอคอลในปัจจุบัน

นอกจากนี้ เราจะได้เห็นการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อคลายความเหงามากขึ้น ซึ่งหุ่นยนต์ที่ว่านี้มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาประยุกต์ ทำให้หุ่นยนต์สามารถตอบโต้กับมนุษย์ได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถาม การพูดคุย การสร้างความบันเทิง

2.COVID-19 สร้างเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน

การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้กลายเป็นเครื่องเตือนสติให้ผู้คนในสังคมโลกตื่นตัวกับประเด็นด้าน “ความยั่งยืน” ของโลกมากยิ่งขึ้น ซึ่งหนึ่งในปัญหาแห่งศตวรรษที่โลกกำลังเผชิญก็คือ “ภาวะโลกร้อน”

วิกฤต COVID-19 ได้เร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ลดการเดินทาง เกิด “วิถีชีวิตปกติใหม่” (New normal) ซึ่งศูนย์วิจัยเทเลนอร์ เชื่อว่า หน่วยงานรัฐจะอาศัยจังหวะนี้ในการสานต่อและผลักดันกระแสความยั่งยืน และเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่มีการใช้พลังงานอย่างเข้มข้น และนั่นจะส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ งานวิจัยของ World Economic Forum ระบุว่า เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกได้ถึง 15%

นอกจากนี้ เราจะเห็นการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งผสานการใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานสะอาดอื่นๆ เข้าด้วยกันมากขึ้น สามารถพยากรณ์แนวโน้มการใช้พลังงานของเมืองได้

ขณะเดียวกัน เราจะเห็นการใช้เทคโนโลยี TinyML หรือการเรียนรู้ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ซึ่งเป็นจุดตัดของการเรียนรู้ของ IoT อีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นสาขาวิชาวิศวกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ที่มีศักยภาพในการปฏิวัติอุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคต

และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจะทำให้มีการประยุกต์ใช้ TinyMLในอุปกรณ์ต่างๆ มากขึ้น เช่น โดรนถ่ายภาพเพื่อการสำรวจสภาพอากาศ ในภาคการเกษตร เราจะเห็นการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยเกษตรกรทำงานได้อย่างแม่นยำ ลดการเกิดผลกระทบทางสภาวะแวดล้อม

3.DIGITAL DEMENTIA ภาวะสมองเสื่อมจากดิจิทัล

ด้วยการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในอัตราเร่ง ทำให้เรามีการใช้บริการดิจิทัลต่างๆ ที่มากยิ่งขึ้นกับอุปกรณ์ที่หลากหลาย จำนวนบัญชีที่เพิ่มขึ้น ไฟล์ที่มากขึ้น นำมาสู่มาตรการความปลอดภัยทางดิจิทัลที่มากขึ้นเช่นกัน

ด้วยภาวะดังกล่าว ทำให้ผู้คนในปี 2021 จะเผชิญกับภาวะ Digital Dementia หรืออาหารสมองเสื่อมจากการใช้บริการดิจิทัลที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พาสเวิร์ด” ที่ปัจจุบันผู้ให้บริการต่างกำหนดให้พาสเวิร์ดต้องมีการประสมตัวเลข เครื่องหมายและตัวอักษรที่ซับซ้อนมากขึ้น และจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ทุก 3 เดือน เพื่อเป็นการการันตีความปลอดภัยทางไซเบอร์ แต่ในขณะเดียวกัน ก็นำมาซึ่งความปวดหัวทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร

ดังนั้น ศูนย์วิจัยเทเลนอร์จึงคาดการณ์ว่า บริษัทหรือองค์กรต่างๆ จะมีการนำโซลูชั่นที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เอื้อให้ผู้ใช้งาน ใช้งานได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงระดับความปลอดภัยเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็น โซลูชั่นที่ใช้สำหรับการจัดการพาสเวิร์ด (Password manager) หรือการใช้อัตลักษณ์บุคคล (Biometric) เพื่อการยืนยันตัวเอง

เช่น ลายนิ้วมือหรือการสแกนม่านตา แทนการจำตัวเลขพาสเวิร์ด ซึ่งโซลูชั่นต่างๆ จะได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้งานดิจิทัล

4.โลกการทำงานเข้าสู่ยุค SOCIETY-AS-A-SERVICE

ในปีที่ 2563 ที่ผ่านมา มนุษย์ออฟฟิศต่างเผชิญกับเทรนด์สำคัญที่เรียกว่า Work From Home ซึ่งเกิดขึ้น “ทั่วทุกที่” และ “ทันทีทันใด” จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทำให้วิถีการทำงานเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยมีปัจจัยด้าน “ความสามารถต่อการยืดหยุ่น” เป็นหัวใจสำคัญ

ดังนั้น ในปี 2564 นี้ ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ คาดการณ์ว่า โลกแห่งการทำงานจะเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Society-as-a-service ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของการอำนวยความสะดวกปัจจัยพื้นฐานในการทำงานให้แก่พนักงานสามารถทำงานที่ใดก็ได้ ในอนาคต เราจะได้เห็นจุดให้บริการฟรีอินเทอร์เน็ต ห้องประชุมงานในที่สาธารณะหรือร้านกาแฟมากขึ้น

หน่วยงานรัฐท้องถิ่นจำเป็นต้องเสริมพื้นที่ที่ให้บริการดังกล่าวมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ห้องสมุดสาธารณะ ซึ่งในความเป็นจริง แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว แต่ให้บริการโดยเอกชน เช่น ร้านกาแฟ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน บริษัทเอกชนควรเพิ่มทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการทำงานของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity) สุขอนามัยทางดิจิทัล (Digital hygiene) ตลอดจนเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานแบบ Remote working

อย่างไรก็ตาม การจะก้าวสู่โลกการทำงานแบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบได้นั้น สิ่งสำคัญคือการปรับวิธีคิดหรือ Mindset ของพนักงานให้สามารถปรับตัวและยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ ซึ่งบริษัทควรคำนึงถึงการเพิ่มพูนทักษะหรือ upskilling ทั้งในระดับองค์กรและบุคคล

5.COVID-19 เร่งการมาของ EDTECH

จากผลกระทบของ COVID-19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ยูนิเซฟ ระบุว่า เด็กนักเรียนทั่วโลกจำนวนกว่า 1,600 ล้านคนได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียน อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการควบคุมการระบาด โดยเด็กนักเรียนในประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยมีจำนวนวันเข้าเรียนน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แม้โรงเรียนต่างๆ ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทดแทน แต่ในขณะเดียวกัน การเรียนแบบออนไลน์ได้ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา โดยประเทศที่มีรายได้สูง มีสัดส่วนของเด็กและเยาวชนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ถึง 87% ขณะที่ ประเทศที่มีรายได้ต่ำมีสัดส่วนเพียง 6% เท่านั้น ทั้งนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะรุนแรงและดำเนินต่อเนื่องสู่ปี 2564

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ มองว่า โลกจะได้เห็นเทคโนโลยีทางการศึกษาที่เข้ามาเติมเต็ม สร้างสรรค์ และทำให้การเรียนออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้วิกฤตการณ์ COVID-19 จะยุติลงในอนาคต ทำให้ความต้องการในตลาดของผู้บริโภคมีมากขึ้น ทั้งยังเป็นตัวเร่งของการเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์แห่งโลกการเรียนการสอนสู่โลกดิจิทัลมากยิ่งขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการอุบัติขึ้นของนวัตกรรมทางการศึกษาเปรียบเสมือนทางสองแพร่ง เมื่อ “การเข้าถึง” ประโยชน์ของเทคโนโลยีดิจิทัลยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อย ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงจะได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้น ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายิ่งถ่างกว้างขึ้นไปอีกในอนาคตต่อจากนี้