Tuesday, September 17, 2024
Technology

แนวโน้มเทคโนโลยีในปี 2021 และอนาคต จากมุมมองของ เดลล์ เทคโนโลยีส์

เดลล์ เทคโนโลยีส์ ประกาศ มุมมองของปี 2021 และอนาคต ชี้อุตสาหกรรมก้าวสู่ยุคของข้อมูล และควอนตัม คอมพิวติ้ง นวัตกรรม 5G บนมัลติคลาวด์ และการเปลี่ยนแปลงของอุปกรณ์ Edge

ดลล์ เทคโนโลยีส์ ประกาศวิสัยทัศน์ Perspectives – 2021 and beyond สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น (APJ) โดย อามิต มิธา ประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และโกลบอล ดิจิทัล ซิตี้ พร้อมด้วย จอห์น โรส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคโนโลยี สรุปถึงสิ่งสำคัญสูงสุดอันดับต้นด้านไอที (Top IT Priorities) ของปี 2020 พร้อมระบุเทคโนโลยีเทรนด์ที่จะขึ้นมานำในปี 2021 และปีต่อๆ ไป

“ปี 2020 คือปีของความรีบเร่งอย่างที่เราได้เห็นกัน เรามีโอกาสได้นั่งในที่นั่งแถวหน้าสุดของการเคลื่อนสู่การปฏิวัติด้านดิจิทัล (Digital Transformation) ในเวลาเพียงข้ามคืนเพื่อพบการเปลี่ยนแปลง ด้วยการเริ่มการทำงานกันจากบ้าน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจก็ยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น และนี่ก็คือพลังที่แข็งแกร่งทรงอานุภาพของเทคโนโลยี” มิธา กล่าว 

อามิต มิธา ประธานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และโกลบอล ดิจิทัล ซิตี้

และเสริมว่า “ด้วยเหตุนี้ การสร้างและพัฒนา นวัตกรรมได้ถูกเร่งให้เกิดเร็วมากยิ่งขึ้น ในปีที่แล้ว เดลล์ เทคโนโลยีส์ประกาศเปิดตัวนวัตกรรมหลักในหลายส่วน อาทิ การเปิดตัวของ PowerScale, PowerStore และ Project APEX เรากำลังพัฒนาสายผลิตภัณฑ์ในระดับชั้นนำของอุตสาหกรรมในหลายๆ ส่วน เพื่อเสริมพลังในการทำงานให้กับองค์กรธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราคือบริษัทด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในยุคของข้อมูล” 

ควอนตัม คอมพิวติ้งและเซมิคอนดักเตอร์ ท่ามกลางท้อปเทรนด์เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่

สำหรับแนวโน้มเทคโนโลยีในปี 2021 และในอนาคตที่ไกลกว่านั้น โรสได้ชี้เฉพาะไปที่ควอนตัม คอมพิวติ้ง และกล่าวว่าการเติบโตของเทคโนโลยีดังกล่าวยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีในอนาคตข้างหน้า ทั้งนี้ ควอนตัม คอมพิวติ้ง คือ การเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง (disruption) 

“แต่ควอนตัม คอมพิวติ้งจะไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลง (disrupt) ตลาดในด้านพลังการประมวลผลคอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิม” โรสอธิบายเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีควอนตัม คอมพิวติ้ง คือ ตัวเร่ง ที่เสริมประสิทธิภาพให้กับพลังการประมวลผลคอมพิวเตอร์แบบเดิม”

“ในปีที่แล้ว ควอนตัม คอมพิวติ้งยังคงเป็นสิ่งที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาและคนส่วนใหญ่เองก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่ในปีนี้ เรามีระบบควอนตัมในจำนวนพอสมควรที่พบเห็นได้ทั้งในพับบลิค คลาวด์ ในบริษัทด้านอุตสาหกรรม และในห้องแล็บของภาครัฐบาล” 

และปีนี้จะเป็นปีแรกที่จะมีการอำนวยความความสะดวกในวงกว้างมากยิ่งขึ้นให้กับระบบนิเวศด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อนำมาใช้ในการทดสอบการทำงานร่วมกับควอนตัม คอมพิวติ้ง นี่จะเป็นปีแรกที่นักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวแตอร์ที่ไม่เคยเข้าถึงควอนตัม คอมพิ้วติ้งมาก่อน สามารถเข้าถึงโปรแกรมจำลองและเริ่มต้นเรียนรู้ภาษาของควอนตัมหลายปีล่วงหน้าก่อนที่จะเปลี่ยนควอนตัมไปเป็นมูลค่า”

นอกจากนี้ โรสยังชี้ให้เห็นว่า เซมิคอนดักเตอร์ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ทางด้านเทคโนโลยีชั้นนำที่ควรทราบ “เรากำลังก้าวจากยุคของการประมวลผลที่เรียกว่า Homogeneous Compute ที่หมายถึง การประมวลผลโดยกลุ่มของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นแพลตฟอร์ม สเป็คเดียวกัน

จอห์น โรส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านเทคโนโลยี

ไปสู่ยุคของการประมวลผลแบบ Heterogeneous Compute หรือ คลัสเตอร์การประมวลผลที่ประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกัน ซึ่งนี่หมายความว่าระบบ Homogeneous Compute อาทิ x86 จะได้รับการส่งเสริมประสิทธิภาพเป็นอย่างสูงด้วยสถาปัตยกรรมเฉพาะโดเมน หรือ Domain Specific Architectures (ตัวเร่งความเร็ว) และระบบนิเวศเซมิคอนดัคเตอร์ต่างๆ ได้รับการจัดระบบใหม่เพื่อโดเมนนี้”

โรสยังเน้นย้ำว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นในปริมาณที่เท่าเทียมกันทั้งในการสร้างซอฟต์แวร์ให้มีความทันสมัย หรือ Software Modernization และการบูรณาการของแพลตฟอร์มต่างๆ (Integration Platforms) เข้าด้วยกัน อาทิ เซิร์ฟเวอร์ในอนาคต การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเชิงเทคนิคเท่านั้นหากแต่จะเกิดขึ้นในระดับภาพรวมของอุตสาหกรรมภายในปีนี้

โอกาสสำหรับนวัตกรรม 5G และมัลติคลาวด์ นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่อุปกรณ์ Edge

จากข้อมูลของโรส แนวคิดที่เกี่ยวกับ 5G จะไม่ใช่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค หากแต่จะเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อการใช้งานในส่วนนี้

“ในปี 2021 เราจะมีอุปกรณ์ 5G SA (คือ ระบบ 5G ที่เชื่อมต่ออยู่บนเครือข่าย 5G โดยเฉพาะ) ที่แท้จริงที่จะพร้อมกับคุณสมบัติขั้นสูง ทั้งนี้ กรณีการใช้งานในระดับเอนเทอร์ไพรซ์จะมีอิทธิพลสำคัญต่อภาพรวมในตลาด ของ 5G ในการนำเอามาใช้งานทั้งในภาครัฐและเอกชน” 

“สถาปัตยกรรมพื้นฐานของ 5G จะเคลื่อนตัวออกจากการใช้งานในกลุ่มโทรคมนาคม แล้วย้ายไปสู่คลาวด์ และสถาปัตยกรรมด้านไอที ซึ่งจะเปิดกว้างสู่รูปแบบของการกำหนดด้วยซอฟต์แวร์ (Software-Defined) เป็นครั้งแรกอีกด้วย” เขากล่าว

การทำนายส่วนสุดท้ายของโรสคือ ส่วนของอุปกรณ์ปลายทาง หรือ Edge ที่มีการเพิ่มจำนวนขึ้นของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกัน (Edge Proliferation) จะกลายมาเป็นปัญหาสำคัญของ multi-cloud edge ที่มีระบบปลายทาง (Edge) ต่างๆ ที่เป็นอิสระต่อกันมากเกินไป โดยสถาปัตยกรรมเอดจ์จะเข้ามามีส่วนร่วมอยู่ระหว่างเอดจ์ แพลตฟอร์ม (ศูนย์กลางการแชร์ประสิทธิภาพการใช้งาน) และเอดจ์ เวิร์กโหลด (ส่วนขยายของงานการประมวลผลและงานด้านข้อมูล)

“ในปี 2021 และปี 2022 เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้าง เอดจ์ แพลตฟอร์มต่างๆ ที่สามารถทำงานด้วยประสบการณ์ของมัลติเพิล เอดจ์ (Multiple Edge) และบริการรูปแบบต่างๆ ที่กำหนดด้วยซอฟต์แวร์ (Software-Defined Services) บนตัวเองเพื่อแก้ปัญหาการเพิ่มจำนวนของอุปกรณ์เอดจ์ที่มากขึ้น 

ทั้งนี้ เอดจ์ แพลตฟอร์มจะกลายเป็นพื้นที่สำคัญใหม่ของประสิทธิภาพไอที On-Premise ที่พร้อมให้บริการทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และรูปแบบบริการ as-a-service” เขาอธิบายเพิ่มเติม

มิธา กล่าวว่า เทรนด์ต่างๆ เหล่านี้มีความสอดคล้องและสามารถนำไปใช้ได้กับประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงญี่ปุ่น (APJ) ซึ่งกล่าวได้ว่ามันคือ เป้าหมายสำคัญที่สำคัญอย่างยิ่ง (Moonshot Goals) ของแผนงาน Dell Technologies’ 2030 ที่เดลล์จะสร้างผลกระทบทางสังคมในเชิงบวกให้เกิดขึ้นจริง และวัดผลได้โดยการปลูกฝังการรวมเข้าด้วยกันเพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืน เพื่อการเปลี่ยนแปลงชีวิตและรักษาความเป็นส่วนตัวและจริยธรรมในองค์รวม

“ท้ายที่สุด เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำไม่เพียงแต่มีความสำคัญเท่านั้น แต่หากทำได้เป็นอย่างดีและถูกต้องแล้วจะช่วยให้โลกใบนี้ให้เป็นสถานที่ที่ดียิ่งขึ้น เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อนำเอาเทคโนโลยีและข้อมูลเข้ามาผสมผสานกับเจตจำนงค์ของมนุษยชาตินั่นคือพลังในเชิงบวกของโลกและจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป และในเวลานี้ ผมเชื่อว่าเรากำลังมุ่งหน้าสู่อนาคตที่สดใสและดีกว่าเดิม”