Thursday, December 5, 2024
NEWS

สสว.เผย SME ไตรมาส 3/2564 ดีขึ้นต่อเนื่อง

สสว. เผยสถานการณ์ SME ไตรมาส 3/2564 สัญญาณดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจาก GDP SME ขยายตัวร้อยละ 0.2 หรือมีมูลค่า 1,356,720 ล้านบาท ผลจากโครงการคนละครึ่งเฟส 3 และปัจจัยเสริมจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยสถานการณ์ SME ไตรมาส 3/2564 สัญญาณดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการช่วยเหลือ SME เดินหน้าส่งผลสำเร็จ ทั้งการสนับสนุน SME เข้าถึงตลาดภาครัฐที่สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการกว่า 5.5 แสนล้านบาท และการขับเคลื่อนผ่านโครงการต่างๆ ของ สสว. ตลอดปี 2564

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ดำเนินการวิเคราะห์สถานการณ์ SMEs ไตรมาส 3/2564 (ก.ค.-ก.ย.) พบว่า GDP SME ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2/2564 (เม.ย.-มิ.ย.) ที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 0.2 หรือมีมูลค่ารวม 1,356,720 ล้านบาท

โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.5 ของ GDP รวมของประเทศ และเมื่อพิจารณา GDP ตามขนาดวิสาหกิจ พบว่า วิสาหกิจรายย่อย (Micro) มีการขยายตัวสูงสุดคือร้อยละ 8.0 รองลงมาคือ วิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) ร้อยละ 2.2 ส่วนวิสาหกิจขนาดย่อม (Small) หดตัวลงร้อยละ 3.8

“การฟื้นตัวของ SME ที่เริ่มมาตั้งแต่ไตรมาส 2 และต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 3 นี้ มีผลสำคัญมาจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐคือโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ที่กลับมาดำเนินการอีกครั้งในไตรมาสนี้จนถึงสิ้นปี 2564

นอกจากนี้ยังมาจากความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการโดยเฉพาะในกลุ่มขนาดกลาง และมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคส่งออกที่กลับมาเติบโต รวมถึงมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ให้ความช่วยเหลือ SME ได้เริ่มส่งผลอย่างต่อเนื่อง” ผอ.สสว. กล่าว

เมื่อพิจารณาถึงตัวเลข SME ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีจำนวน 3,176,055 ราย เป็นกลุ่มวิสาหกิจรายย่อย (Micro) มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 85.47 รองลงมาคือวิสาหกิจขนาดย่อม (Small) คิดเป็นร้อยละ 13.18 และวิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) คิดเป็นร้อยละ 1.35

โดย SME ยังคงเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจประเทศ แต่จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบให้ขีดความสามารถของ SME ลดลง รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยพลิกฟื้นหรือฟื้นฟูรวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยมีมาตรการสำคัญที่ สสว. ร่วมกับกรมบัญชีกลาง สนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2563 และเริ่มส่งผลตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมา

โดย สสว. ได้พัฒนาระบบขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SME เพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ www.thaismegp.com เพื่อเป็นช่องทางหลักให้ SME ที่ต้องการเข้าถึงตลาดภาครัฐ ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ช่วยให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการอื่นๆ ได้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SME อย่างต่อเนื่อง

โดยมีผู้ขึ้นทะเบียนในระบบรวม 115,200 ราย มีรายการสินค้าและบริการ รวม 898,000 รายการ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2564) ที่สำคัญผู้ประกอบที่ขึ้นทะเบียน ได้รับการจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานภาครัฐคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 551,306 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564)

ขณะเดียวกัน สสว. ได้พัฒนาระบบทะเบียนสมาชิก สสว. เพื่อเป็นช่องทางในการเชื่อมต่อกับผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ ให้ได้รับข้อมูล องค์ความรู้ สิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาจาก สสว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้ประกอบการ SME ขึ้นทะเบียนในระบบนี้ไม่น้อยกว่า 1,500,000 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2564)

ส่วนการดำเนินโครงการในปี 2564 ที่ผ่านมา เพื่อให้ความช่วยเหลือส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างสังคมผู้ประกอบการให้เติบโตและก้าวสู่สากล สสว. ได้ทำการพัฒนาผู้ประกอบการ ด้วยการส่งเสริมการเริ่มต้นธุรกิจ การพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) ให้ประกอบธุรกิจอย่างมืออาชีพ และพัฒนาวิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ให้ก้าวสู่ธุรกิจสมัยใหม่ โดยมีผู้ประกอบการได้รับการพัฒนารวมทั้งสิ้น 25,578 ราย สนับสนุนให้ SME เข้าถึงบริการทั้ง Online และ Offline รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 206,557 ราย

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาและยกระดับระบบสนับสนุนและเชื่อมโยงระบบนิเวศเพื่อการประกอบธุรกิจ โดยดำเนินโครงการนำร่อง One ID ด้วยการพัฒนาระบบ Single Sign One ทั้งนี้เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ SME สามารถเข้าถึงการส่งเสริม สนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐได้โดยสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึงต่อไป