Wednesday, November 13, 2024
NEWS

SCB WEALTH ยกทัพ ADVISORY TEAM ดูแลความมั่งคั่งให้ลูกค้าในทุกจังหวะการลงทุน

SCB WEALTH ยกทัพ ADVISORY TEAM ดูแลความมั่งคั่งให้ลูกค้าในทุกจังหวะการลงทุน พร้อมจะดูแลต่อยอดให้กับลูกค้า Wealth ในประเทศไทย

SCB WEALTH กลับมาอีกครั้งในรูปแบบ SCB WEALTH HOLISTIC EXPERTS หลังจากโควิด-19 เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

นำทีมโดย SCB WEALTH ADVISORY TEAM ที่พร้อมจะดูแลต่อยอดความมั่งคั่งให้กับลูกค้า Wealth ในประเทศไทย ด้าน SCB CIO เน้น 5 กลยุทธ์จัดพอร์ตชนะเงินเฟ้อสูงและดอกเบี้ยขาขึ้น ในช่วงตลาดผันผวน

แนะทยอยสะสมตราสารหนี้คุณภาพดี กระจายความเสี่ยงสู่สินทรัพย์ Private asset,  Structure note และหุ้นกลุ่ม ESG   ส่วน SCBS  ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 3.4 % รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ  เป้าหมาย SET Index ปีนี้ อยู่ที่ 1,650  จุด  เคลื่อนไหวในกรอบ 1,550 -1,750 คาดไตรมาส 3 ดัชนีตลาดหุ้นไทยต่ำสุด แนะลงทุนหุ้นที่มีกำไรแกร่ง ราคาไม่แพง ได้แก่ กลุ่มธนาคาร   อาหารและเครื่องดื่ม

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดเผยว่าในภาวะที่ตลาดผันผวน SCB ให้ความสำคัญในการดูแลลูกค้าและให้คำปรึกษาแบบครบวงจร โดยเน้นในเรื่องการสรรหาผลิตภัณฑ์และการจัดพอร์ต Asset Allocation ที่ตอบโจทย์ทุกช่วงภาวะของการลงทุน

โดยจุดมุ่งหมายที่สำคัญจะเป็นการสร้างแบรนด์ที่เน้นเรื่องการให้คำปรึกษาด้านการทำ Wealth planning เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งของลูกค้า และมีการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถของ Wealth RM และ Investment advisor รวมถึง Product capability ที่ครอบคลุมทุกเป้าหมายการลงทุน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

รวมถึงการมีทีมงานที่เป็นคลังสมอง ของ  SCB  WEALTH ประกอบด้วย   สายงาน  Chief  investment  officer (  CIO  )  และ Investment office and product

ซึ่งเป็นทีมงานมืออาชีพที่มีประสบการณ์มาจากการเป็นผู้จัดการกองทุน  นักวิเคราะห์หลักทรัพย์  และผู้วางแผนการลงทุนซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ ตอบโจทย์ด้านการบริหารความมั่งคั่งให้กับลูกค้าอย่างแท้จริง   มีการทำงานอย่างเป็นระบบ ในการติดตามภาวะตลาดการเงินการลงทุน  เพื่อกำหนดกลยุทธ์คัดเลือกผลิตภัณฑ์ และจัดสรรสินทรัพย์การลงทุนให้ลูกค้าได้อย่างใกล้ชิด

สามารถให้คำแนะนำ ปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที  สายงาน  Estate planning and  family office เป็นศูนย์ที่ปรึกษาด้านการจัดการทรัพย์สินและมรดกของครอบครัวเพื่อกลุ่มลูกค้า  High Net Worth Individuals

โดยมุ่งเน้นในการให้คำแนะนำเบื้องต้นอย่างครบวงจรด้านกฎหมาย ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพย์สินของครอบครัว  และ การวางแผนการส่งต่อทรัพย์สินจากรุ่นสู่รุ่น  นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือที่ดีจากบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์  จำกัด  (SCBS ) ในการวิเคราะห์ข้อมูลเจาะลึกบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย

ซึ่งคุณภาพของข้อมูลนับเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้การทำธุรกรรมด้านการเงินและการลงทุนประสบความสำเร็จ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ เช่น structured products และ private assets ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกช่วงเวลา   จึงนับเป็นกำลังที่สำคัญในการเสริมศักยภาพของ SCB WEALTH ให้มีความเข็งแกร่ง  สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับลูกค้าได้อย่างยั่งยืน

ศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment office and product และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย CIO Office ธนาคารไทยพาณิชย์  เปิดเผยว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญปัญหาอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวในระดับสูงและมีความเสี่ยงชะลอตัว ซึ่งอาจทำให้หลายประเทศมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี  2566 -2567

โดยมี 3 ปัจจัยหลัก ที่ส่งผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก  ดังนี้

1) ผลกระทบด้านห่วงโซ่อุปทาน ภายหลังจากหลายประเทศที่เป็นฐานของเศรษฐกิจหลักของโลกกำลังกลับเข้าสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบปกติก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19 แต่กลับมีการถูกกระทบของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain disruption) ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อุปทานด้านแรงงานก็ยังประสบภาวะขาดแคลนทำให้ค่าแรงมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาคการผลิตและภาคบริการ

2) ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical conflicts) มีแนวโน้มยืดเยื้อ ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่าง รัสเซีย- ยูเครน ความตึงเครียดระหว่างโลกประชาธิปไตยตะวันตกกับโลกสังคมนิยม ทำให้เกิดการกีดกันในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางการเมือง นโยบาย และ มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ ราคาพลังงานและ อาหารปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนกลายเป็นภาวะเงินเฟ้อด้านต้นทุน (cost push inflation) ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อตามไปด้วย

3) การปรับเปลี่ยนของนโยบายการเงินแบบฉับพลันหลังเงินเฟ้อสูงมีแนวโน้มยืดเยื้อ โดยเฉพาะนโยบายการเงินที่เคยมีลักษณะผ่อนคลายทั่วโลก มีการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำและอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยาวนาน

และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาของสินทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวขึ้นอย่างมาก แต่เมื่อเงินเฟ้อเริ่มเร่งตัวสูงและมีแนวโน้มยืดเยื้อทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องเร่งปรับทิศทางนโยบายการเงินให้ตึงตัวมากขึ้นอย่างมาก โดยการเร่งขึ้นดอกเบี้ยและดึงสภาพคล่องออกจากระบบ

สำหรับนัยต่อภาพการลงทุน ภาวะเงินเฟ้อสูงที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ จะส่งผลให้วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงปี 2565 – 2566 และส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดการเงินโลก ผ่านการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร การลดลงของผลตอบแทนจากตลาดหุ้นทั่วโลก

โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเน้นการเติบโตของรายได้สูงแต่ยังไม่มีกระแสเงินสดรองรับในระยะสั้น (long duration equities) นอกจากนั้นความไม่แน่นอนด้านความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนด้านนโยบาย ยังจะทำให้ความผันผวนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงมีสูงขึ้นอีกด้วย

กลยุทธ์การจัดพอร์ตเพื่อชนะเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้นแบบเร็วและแรง รวมถึงตลาดการเงินโลกที่ยังผันผวน  โดยแนะนำ 5 กลยุทธ์ ดังนี้

1) สร้างกระแสเงินด้วยการทยอยสะสมตราสารหนี้คุณภาพสูง (Build income streams) ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อต่อราคาพลังงานและอาหาร จะยังทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อการขยับขึ้นของเงินเฟ้อเริ่มชะลอลง การทยอยสะสมพันธบัตรคุณภาพสูง (Investment Grade) จะเป็นการสร้างกระแสรายได้ให้กับพอร์ตโฟลิโอได้

2) กระจายความเสี่ยงสู่ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องจับจังหวะการลงทุนก็กำไรได้ (Non-directional products)  การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีการเคลื่อนไหวตามตลาด ในช่วงที่มีความไม่แน่นอนจากสงครามและความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ย ด้วยการใช้ Market timing อาจเกิดภาวะแรงฉุดจากความผันผวน (Volatility drag) ในพอร์ตโฟลิโอได้ เพื่อจัดการความเสี่ยงด้านนี้

การลงทุนในสินทรัพย์ประเภท Private assets จะช่วยให้ได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอและลดความผันผวนของพอร์ตได้ โดยนักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงด้วยการเลือกลงทุนใน Private equity, Private credit, และ Private real estate  เป็นต้น

3)  ป้องกันความเสี่ยงด้านต่ำ (Limit downside risk) ด้วยหุ้นกู้อนุพันธ์แฝง (Structure notes) สำหรับนักลงทุนที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงด้านต่ำในการลงทุน การลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์แฝงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยตอบโจทย์ได้ในประเด็นนี้ โดยทาง SCB CIO มีทางเลือกหลากหลายในด้านผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น KIKO และ Equity-Linked Note

4) มองข้ามความผันผวนระยะสั้นด้วยการลงทุนแบบ Thematic แม้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมมีแนวโน้มชะลอตัว ตามวัฏจักรเศรษฐกิจ แต่ในระยะปานกลางและระยะยาว ยังมีหลายภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตของรายได้และกำไรอย่างยั่งยืนได้ ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมในกลุ่ม ESG (Environmental, Social, and Governance) โดยเฉพาะธีม Renewable Energy & Decarbonization

ทั้งนี้  ในส่วนของกลยุทธ์การลงทุนรายสินทรัพย์ในช่วงไตรมาสที่ 3 SCB CIO มีมุมมอง Neutral สำหรับการลงทุนในหุ้น  ทั้งกลุ่มตลาดหุ้น Develop markets  มีมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผลประกอบการยังฟื้นตัวต่อเนื่อง

แต่ได้รับผลกระทบหลักจากเรื่องของเงินเฟ้อและการเร่งตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร คงมุมมองหุ้นยูโรปเป็น Slightly negative จากผลกระทบยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยูโรป สำหรับกลุ่ม Emerging markets  คงมุมมอง Slightly positive ต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีนหลังมีการทยอยเปิดเมืองและออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงมีความเสี่ยงในด้านเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยต่ำกว่ากลุ่มประเทศอื่นๆ ส่วน หุ้นไทย และ เวียดนาม เรามีมุมมอง Slightly positive

เนื่องจากแม้จะได้อานิสงค์จากการเปิดเมืองเปิดประเทศ แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี ผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นในไทยและเวียดนาม รวมถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น และปรับ Asian REITs เป็น Neutral เนื่องจากผลกระทบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น

นอกจากนี้  การจัดการด้านความเสี่ยงของเงินเฟ้อ เราปรับสินค้าโภคภัณฑ์เป็น Positive โดยเฉพาะในกลุ่มอาหาร ซึ่งอุปทานมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่องจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการห้ามส่งออกอาหารในหลายประเทศ ในขณะที่ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงแต่การปรับตัวขึ้นต่อน่าจะถูกกระทบจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย  

5) การนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Enhancing return) เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การลงทุนที่ SCB CIO พร้อมนำเสนอเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน โดยการนำสินทรัพย์การลงทุนไม่ว่าจะเป็นหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุนที่มีอยู่แล้วมาเป็นหลักประกันในการทำ Lombard loan เพื่อนำไปลงทุนต่อยอดเสริมผลตอบแทนในระยะข้างหน้า

สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด  ประเมิน แนวโน้มตลาดหุ้นไทย ในช่วงครึ่งหลังของปี   2565   โดยภาพรวม คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ ประมาณ  3.4% จากอานิสงส์การเปิดประเทศ แม้ว่าการบริโภคในประเทศอาจจะมีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่อง และ อัตราดอกเบี้ยที่มีโอกาสปรับตัวขึ้น

โดยในกรณีที่แย่สุด (worse case) คาดว่าเศรษฐกิจไทย จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 2.9 %  ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งหลังของปีนี้  คาดว่ายังไม่สดใส โดยได้รับผลกระทบจาก sentiment  ด้านลบของตลาดหุ้นสหรัฐฯ  และจีน

อย่างไรก็ตาม  ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยแข็งแกร่งกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ เนื่องจากแนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียนในภาพรวมยังมีการเติบโตได้จากอนิสงส์ของการเปิดประเทศ ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านลบจากเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยมีสัดส่วนในตลาดไม่มาก

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนทั้ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  (SET ) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ  (MAI )  ในไตรมาส 1 / 2565  มีกำไรสุทธิรวม 2.84 แสนล้านบาท  เพิ่มขึ้น 11 % YoY กลุ่มที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น

ได้แก่  กลุ่มพาณิชย์  28 %   กลุ่มธนาคาร 14%  กลุ่มพลังงาน และ กลุ่มปิโตรเคมี 15% กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 14 %  กลุ่มการแพทย์  331% และ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  46%  ส่วนกลุ่มที่กำไรสุทธิลดลง ได้แก่ กลุ่มเกษตร  – 54%  กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์  – 4%  กลุ่มประกัน -78%  และกลุ่มบรรจุภัณฑ์ – 4%

ทั้งนี้   SCBS มองว่า ปัจจัยพื้นฐานของ SET  ในปี  2565 -2566  ยังคงดี  โดยคาดว่า  Earnings Per  Share (EPS)  เติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 10 % ต่อปี กลุ่มที่ EPS ฟื้นตัวไปที่ระดับก่อนเกิดโควิด  ได้แก่ กลุ่มธนาคาร กลุ่มพลังงาน กลุ่มปิโตรเคมี   กลุ่มพาณิชย์ และกลุ่มท่องเที่ยว เป็นต้น    ซึ่ง  SCBS ได้ประเมินกรอบ SET Index ในระดับคงเดิม ที่  1,550 -1,750 จุด  และประเมินเป้าหมายของ SET Index ปีนี้อยู่ที่ 1,650 จุด

โดยมองว่า SET Index จะไม่ลดลงแรงเหมือนช่วงโควิด  เนื่องจากผลกระทบต่อกำไรไม่แรงเท่าช่วงที่ผ่านมา ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียน ในครึ่งหลังของปี   2565   ได้แก่  1) ต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบโดยจะกระทบกลุ่มขนส่ง และวัสดุก่อสร้าง 2) การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)  อาจจะกระทบ กลุ่มท่องเที่ยว   อาหาร  พาณิชย์  และโรงไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดหุ้นไทยจะผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3 /2565 เนื่องจาก ผ่านช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง  จีนเริ่มคุมสถานการณ์โควิดในประเทศได้  แนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนชัดเจน  ตลาดได้รับปัจจัยหนุนจากการเปิดประเทศ และเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัว ส่วนความเสี่ยงอื่นๆที่ต้องติดตาม ได้แก่ การเคลื่อนย้ายของเงินทุนต่างชาติ   การเปิดประเทศของจีนที่ล่าช้า  และสงครามรัสเซีย -ยูเครน

“เราใช้วิธีการประเมินมูลค่าหุ้นตามพื้นฐานและการเติบโตของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ( Bottom-up approach ) โดยเราประเมินราคาเป้าหมายของ SET Index อยู่ที่ 1,650 จุด  จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

โดยกลุ่มที่มองว่ามี Upside  เมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่  กลุ่มธนาคาร  กลุ่มสื่อสาร  กลุ่มอาหาร  ส่วนกลุ่มที่มี Downside  ได้แก่ กลุ่มขนส่ง การแพทย์  ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  อสังหาริมทรัพย์ และท่องเที่ยว   เราใช้ Bear case valuation   เป็นจุดเข้าซื้อที่สำคัญ โดยให้  Margin of safety ที่ 5% จากระดับปัจจุบันหรือต่ำกว่า 1,600 จุด เรามองกรอบ SET Index  อยู่ที่ 1,550 – 1,750 จุด ” สุกิจ กล่าว