PDPC จัดงานวันคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กระตุ้นความสำคัญการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

“PDPC จัดงาน DATA PRIVACY DAY 2025 หรือวันคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กระตุ้นความสำคัญการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตัวแปรสำคัญต่อการสร้างความน่าเชื่อถือและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซนเตอร์ แจ้งวัฒนะ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC จัดงาน DATA PRIVACY DAY 2025 หรือวันคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ขึ้นเป็นการยืนยันและกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญต่อการสร้างความน่าเชื่อถือและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
ภายในงานได้รับเกียรติจาก ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานเปิดงาน โดยรองนายกฯ ได้กล่าวเน้นย้ำเรื่องความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คือปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะทำให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ สร้างความไว้วางใจให้กับผู้บริโภค
และยังเป็นการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศที่จะเข้ามาสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ในภาพรวม โดยได้ย้ำถึง บทบาทที่สำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ว่าสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในหลายมิติ โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่ข้อมูลกลายเป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ
DATA PRIVACY DAY ช่วยย้ำความตระหนักเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล
เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC กล่าวว่า “การจัดงาน DATA_PRIVACY DAY 2025 ของ สคส.ในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงภารกิจที่สำคัญของ สคส. ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ”
“โดยเฉพาะเรื่องของการจัดให้มีมาตรการรักษาความมั่นคงและปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA และเป็นเรื่องหนึ่งของ Cyber Security ในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่อข้อมูลส่วนบุคคล ป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล อันเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล”
“ที่มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ คือเรื่องของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ได้รับข้อมูลรั่วไหลเหล่านั้นแล้วไปหลอกลวงประชาชนทำให้เกิดความเสียหาย”
“การจัดงานดังกล่าวเป็นการดำเนินกิจกรรมที่สอดรับกับนโยบาย ข้อมูลรั่วไหลเป็น “0” ของสคส. ที่กำลังดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อให้บรรลุถึงความปลอดภัยในการคุ้มครองข้อมูลแก่ประชาชนให้ได้ในที่สุด”
ครม.เห็นชอบ เพิ่มโทษในพ.ร.ก.ไซเบอร์ แบงก์-ค่ายมือถือต้องร่วมรับผิดชอบ
ภายในการกล่าวเปิดงานตอนหนึ่ง รองนายกฯ ประเสริฐ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เสนอแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีสาระสำคัญ 5 ประเด็น คือ
1.กำหนดความรับผิดชอบร่วมของสถาบันการเงิน เครือข่ายมือถือ และสื่อสังคมออนไลน์ โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
2.กำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ต้องมีหน้าที่ระงับการใช้งานซิมการ์ดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทันที
3.การเร่งรัดกระบวนการคืนเงินให้ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นการเพิ่มหน้าที่ให้ธนาคารต้องส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชี ที่มีความเชื่อมโยงกับการกระทำความผิดไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เพื่อให้สามารถตรวจสอบ และคืนเงินให้กับผู้เสียหายได้โดยเร็ว
4.เพิ่มอำนาจการดำเนินการกับแพลตฟอร์มโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด โดยกำหนดให้แพลตฟอร์มต้องร่วมรับผิดชอบในการป้องกัน และตรวจสอบการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในระบบของตน
และ 5.เพิ่มบทลงโทษสำหรับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลจะต้องมีบทลงโทษที่เหมาะสม
ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้มีการกำหนดโทษเพิ่มเติมสองลักษณะ คือ เปิดเผยแบบส่งต่อ และเปิดเผยแบบขายข้อมูล ซึ่งโทษจะหนักเบาต่างกัน โทษสูงสุดปรับ 5 ล้านบาทต่อหนึ่งกระทง ส่วนโทษจำคุก 5 ปี วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ลดความเสียหายให้พี่น้องประชาชน
โดยคาดว่าจะผลบังคับใช้หลังจากผ่านการพิจารณาจาก กฤษฎีกา คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ราวเดือนกุมภาพันธ์นี้
สำหรับการจัดงาน DATA_PRIVACY DAY 2025 ในครั้งนี้ รองนายกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การมีระบบบริหารจัดการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้มแข็ง จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยี และยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจ E-commerce และการทำธุรกรรมออนไลน์”
“เพราะผู้บริโภคมีความมั่นใจว่าข้อมูลส่วนตัวจะได้รับการปกป้อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล และยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ”
“เพราะการมีมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นที่ยอมรับของสากล จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และช่วยลดความเสี่ยงและความเสียหายทางธุรกิจที่อาจเกิดจากการรั่วไหลของข้อมูล”
“นอกจากนี้ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เนื่องจากทุกองค์กรต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเดียวกัน และไม่สามารถที่จะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลไปในทางที่ไม่เหมาะสมเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันทางการค้าได้”
“ในที่สุดแล้ว การพัฒนาและบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน” รองนายกฯ ประเสริฐ กล่าวสรุป