Wednesday, September 18, 2024
5GNEWS

Mitsubishi Electric จับมือ DOCOMO ติดตั้ง Private 5G โรงงานต้นแบบใน EEC

Mitsubishi Electric ประกาศความร่วมมือ DOCOMO ติดตั้ง Private 5G ณ สร้าง โชว์รูมของโรงงานอัจฉริยะต้นแบบ บนเครือข่าย Private 5G ใน EEC ตั้งเป้าหมายจะดำเนินการให้เสร็จภายไตรมาส 3 ปี 2565

Mitsubishi Electric ร่วมกับ NTT DOCOMO, INC. หรือ DOCOMO ผู้นำการให้บริการด้านเทคโนโลยีเครือข่ายการสื่อสารในประเทศญี่ปุ่น ตัดสินใจขยาความร่วมมือเพื่อเข้าร่วมเป็นเครือข่ายพันธมิตร e-F@ctory’s Alliance หรือ Digital Manufacturing Ecosystem ในประเทศไทย กับ Mitsubishi Electric Factory Automation (Thailand) เพื่อนำเทคโนโลยี Private_5G Network มาช่วยในการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยเพื่อร่วมสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ของภาครัฐ

ความร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ทาง NTT DOCOMO, INC. ประเทศญี่ปุ่นที่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรในการขยายเทคโนโลยีระบบเครือข่ายการสื่อสารของญี่ปุ่นไปยังต่างประเทศ ตามแผนการโครงการร่วมทุน Overseas Corporate 5G Solution Consortium โดยมีแผนที่จะร่วมกันติดตั้งในพื้นที่/โรงงานต้นแบบ ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเปิดให้ภาคอุตสาหกรรมได้เข้ามาเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงประโยชน์ของ Private 5G Network ที่สอดคล้องกับความต้องการ

โดยตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายไตรมาส 3 ปี พ.ศ. 2565 เพื่อมุ่งหวังในการผลักดันในการสร้างโรงงานอัจฉริยะในอุตสาหกรรมการผลิตผ่านระบบออโตเมชัน และเทคโนโลยีไร้สาย ซึ่งแยกเป็นอิสระจากเครือข่ายการสื่อสารสาธารณะ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประมวลผลเพื่อปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเน้นให้ความสำคัญเป็นการเฉพาะสำหรับด้านความปลอดภัยเพื่อป้องกันการเข้าถึงและรั่วไหลของข้อมูลของผู้ประกอบการ

โชว์รูมของโรงงานอัจฉริยะ บนเครือข่าย Private 5G
วิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด

วิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ MELFT อธิบายเพิ่มเติมว่า “MELFT ในฐานะบริษัทลูกในประเทศไทยของ Mitsubishi Electric Corporation ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรม”

“และได้มีความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อการติดตั้ง Digital Manufacturing Model Line หรือต้นแบบสายการผลิตสำหรับจัดแสดงเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติด้านการผลิตสำหรับภาคอุตสาหกรรมในแนวทางของ e-F@ctory ในพื้นที่ของโครงการ EEC Automation Park”

“เพื่อทำหน้าที่เป็นโชว์รูมของโรงงานอัจฉริยะสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทย โดยตั้งอยู่ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา”

“โดยความร่วมมือกับพันธมิตร NTT DOCOMO, INC. ถือว่าเป็นประโยชน์มากสำหรับการต่อยอดความร่วมมือกับทางสำนักงาน EEC ในการช่วยผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยในพื้นที่ EEC รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะการผลักดันโครงการที่ใช้ประโยชน์ในเทคโนโลยี 5G สำหรับภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้เป็นจริงได้เร็วขึ้น”

“เนื่องจากบริษัทในอุตสาหกรรมการผลิตค่อนข้างมีความกังวลอย่างมากในเรื่องเกี่ยวกับด้านความปลอดภัยของเครือข่ายการสื่อสารโดยเฉพาะการติดตั้งเครือข่ายแบบ Private_5G ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ให้เห็นถึงระบบที่มีความปลอดภัยสูงและมีความเสถียรเป็นอย่างมาก

เพราะแยกเป็นอิสระจากเครือข่ายสื่อสารสาธารณะอย่างสิ้นเชิงไร้ผลกระทบจากการรับส่งข้อมูลจากการสื่อสารอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องทำให้การเชื่อมต่อและนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการผลิตเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์”

“นอกจากนี้ระบบไร้สายยังช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการเดินสาย การย้ายสายเคเบิล และประหยัดเวลาในการโยกย้ายอุปกรณ์ในระยะยาว ยิ่งกว่านั้น จะช่วยให้สามารถใช้โซลูชันที่เป็นประโยชน์อื่นๆ เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้อย่างง่ายดาย และยืดหยุ่น โดยสุดท้าย จะทำให้เป้าหมายของทางภาครัฐในการสนับสนุนการสร้างโรงงานอัจฉริยะในอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยเป็นไปได้เร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”

เร่งพัฒนาและผลักดันโครงการให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0

โดยความร่วมมือในการติดตั้งเทคโนโลยีการสาธิตทดสอบ Private_5G Network ในประเทศไทยครั้งนี้ ส่งผลให้ทาง Mitsubishi Electric Factory Automation (Thailand) มีเครือข่ายพันธมิตรที่สมบูรณ์ครอบคลุมทุกส่วนงาน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการผลิตและการสื่อสาร หรือ Operation Technology รวมถึง Information Technology

เพื่อร่วมทำงานกับพันธมิตรกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกับ Systems Integrator สำหรับการเร่งพัฒนาและผลักดันโครงการต่างๆ ของภาครัฐเพื่อทำให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0 ผ่านความร่วมมือกับคณะทำงาน EEC ในประเทศไทยได้อย่างรวดเร็วและแน่นอนยิ่งขึ้น

นอกจากนี้การเข้ามาทำธุรกิจของ NTT DOCOMO, INC. ประเทศญี่ปุ่น ครั้งนี้ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นสำหรับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลญี่ปุ่นในการเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมไทยให้เกิดการพัฒนามากขึ้น

เพื่อเพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขันกับทั่วโลกได้อย่างที่วางเจตนาร่วมกันไว้ ด้วยการเชื่อมโยงผู้ให้บริการเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและรวมถึงเชื่อมโยงนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น และยังเป็นการยืนยันว่าความร่วมมือระหว่างสองประเทศนี้จะยังคงดำเนินต่อไปด้วยความสัมพันธ์อันดีเช่นเดิม

ในความร่วมมือครั้งนี้ ทั้งสองบริษัทได้มีการกำหนดบทบาทในการทำงานร่วมกันโดยแยกเป็นส่วนเทคโนโลยีและความรู้ด้านวิศวกรรมต่างๆ ในส่วนที่แต่ละฝ่ายมีความชำนาญเพื่อดำเนินการให้เจตนารมณ์ในความร่วมมือครั้งนี้เป็นไปตามแผนงานโดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้และความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังคนเพื่อปรับตัวรองรับเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน