Friday, March 29, 2024
ArticlesColumnistDr.Peeradej Nanan

The Digital Futurist (ตอนที่ 577) Vaccine Distribution & Digital Technologies

ขอยกตัวอย่าง ประเทศอิสราเอล ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยบริหารจัดการวัคซีน (vaccine distribution) ให้ถึงประชาชนได้อย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ สามารถติดตามผลการป้องกันโรคและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า จำนวนของวัคซีน

ัคซีน (vaccine) สารชนิดหนึ่งที่ฉีดเข้าไปในตัวเรา เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรค ในสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคอย่างทุกวันนี้ วัคซีนเป็นความหวังหนึ่งที่จะมาช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาด

อย่างไรก็ตามการป้องกันดูแลสุขอนามัยของตนเองอย่างเคร่งครัดยังคงเป็นวัคซีนที่สำคัญตามที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์ได้แนะนำไว้ แม้วัคซีนจะมีประสิทธิภาพดีเพียงใด จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการวัคซีนอย่างเหมาะสม

การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการวัคซีนให้ถึงประชาชนได้อย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ สามารถติดตามผลการป้องกันโรคของวัคซีนและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบก็เป็นประเด็นสำคัญไม่แพ้ การได้มาของวัคซีน

ผู้เขียน: ดร.พีรเดช ณ น่าน ที่ปรึกษา คณะกรรมการวิศวกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

ประเด็นหนึ่งที่ต้องยอมรับกันคือการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศในสถานการณ์เช่นนี้ หลายประเทศไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราต้องบริหารจัดการวัคซีนให้กับประชากรส่วนใหญ่ของโลกเสริมจากผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคจากการหายป่วยจากเชื้อ COVID-19 เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity)

การบริหารจัดการที่มีบริบทเกินกว่าเพียงปริมาณความต้องการ (demand) ยังมีประเด็นด้านปริมาณการผลิต (supply) จนมีการเจรจาระหว่างประเทศผู้ผลิตวัคซีน กับ ประเทศผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แสวงหาข้อตกลงเพื่อเป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่ายในสถานการณ์ความขาดแคลนเช่นนี้

การดำเนินการที่ต้องแข่งกับเวลา เนื่องจากการควบคุมการแพร่กระจายโรคได้ยิ่งเร็วเท่าไรย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้นเท่านั้น มีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยประชาชนภายในประเทศ และยังสร้างความมั่นใจให้กับการลงทุน และเสริมความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว

ประเทศอิสราเอล ถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีสัดส่วนปริมาณผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ต่อประชากรสูงที่สุด ประเทศในตะวันออกกลางที่มีประชากรอยู่ราว 9 ล้านราย ทำภารกิจสำคัญนี้ได้อย่างไรเรามาศึกษาผ่านข้อมูลที่ได้จากผู้บริหารของประเทศดังนี้

UNIVERSAL HEALTHCARE

การที่ประเทศอิสราเอลมีระบบสุขภาพถ้วนหน้าที่มีรากฐานที่มั่นคง ทำให้การบริหารจัดการวิกฤติด้านสาธารณสุขทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการรักษาที่จำเป็นเช่น การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการได้รับวัคซีนที่จำเป็น สำหรับประชาชนจะไม่มีค่าใช้จ่าย

TRUST

‘Trust’ความเชื่อมั่น คำเดียวสั้นๆ แต่มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ จากการสำรวจพบว่าประชากรในอิสราเอล ร้อยละ 90 รู้สึกพึงพอใจกับกองทุนสุขภาพของตน แสดงถึงความมั่นใจในโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างมาอย่างยาวนาน

PREVENTIVE CARE

ประเทศอิสราเอล ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคมากกว่าการรักษาโรค ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์กล่าวไว้ว่าจากนโยบายนี้น่าจะเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19 ของประเทศต่ำกว่าประเทศอื่น

การนำเทคโนโลยี big data ทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) ช่วยระบุกลุ่มเสี่ยงที่จะมีโอกาสป่วยได้ล่วงหน้า เพื่อเชิญท่านเหล่านั้นเข้าตรวจและดูแลเชิงป้องกันก่อนที่จะป่วยเป็นโรค โดยก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดใหญ่ในครั้งนี้ บางผู้ประกอบการด้านสุขภาพก็ได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลลักษณะนี้กับการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อการป้องกันในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมาก่อนหน้านี้แล้ว

SENSE OF EMERGENCIES

ประเทศอิสราเอล เป็นประเทศที่สามารถจัดการรู้ว่าควรทำอะไรในภาวะฉุกเฉิน จากประสบการณ์ที่ผ่านหลายเหตุการณ์วิกฤติแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการบริหารในภาวะฉุกเฉินได้เป็นอย่างดี ข้อได้เปรียบจากการที่ได้เผชิญกับภาวะฉุกเฉินระดับประเทศ ที่หลายประเทศอาจจะไม่อยากจะมีประสบการณ์ แต่มันก็ได้เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ให้เห็นว่าประเทศนี้ทำได้

WELL-ORGANIZED

การฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรทั่วประเทศไม่ได้เป็นครั้งแรก ที่ผ่านมาเคยมีการรณรงค์การฉีดวัคซีนอยู่เป็นประจำ อย่างการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโรคหัด วัคซีนโรคโปลิโอ ทำให้มีระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับระดับหนึ่งอยู่แล้ว ระบบดิจิทัลเพื่อการนัดหมายฉีดวัคซีน การแจ้งเตือนล่วงหน้า ระบบการยกเลิกนัดหมาย การนัดหมายเพื่อการเข้ารับการฉีดวัคซีนในเข็มที่สองสำหรับวัคซีนของผู้ผลิตบางราย

เมื่อมีเทคโนโลยีการนัดหมายที่เป็นระบบ การจัดการแยกการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่แข็งแรงไม่เจ็บป่วย ออกจากผู้ที่มีโรคประจำตัวทำให้การควบคุมโรคอื่นๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยการเก็บข้อมูลสุขภาพของประชาชนอย่างมีระบบสามารถแยกแยะจัดกลุ่มได้

การบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีทำให้สามารถนัดหมายได้เป็นช่วงหลักนาที เผื่อเวลาให้กับการจัดการเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ นอกจากนั้นการบริหารปริมาณวัคซีนที่เหลือในแต่ละวัน แทนที่จะต้องทิ้งวัคซีนที่เหลือจากการเปิดใช้ไปบางส่วนแล้ว ก็มีระบบดิจิทัลมารองรับเพื่อเรียกประชาชนเข้ารับวัคซีนนอกตารางนัด เพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่ามากที่สุด

COMMUNICATION

การสื่อสารในภาวะวิกฤติมีความสำคัญมาก การสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนถึงความปลอดภัยของวัคซีน หลักการและเหตุผลในการจัดลำดับผู้ที่จะได้รับวัคซีนก่อนหลัง ความชัดเจนของกำหนดการสถานที่การรับวัคซีน การส่งเสริมให้ผู้ที่รับวัคซีนแล้วถ่ายภาพลงสื่อสังคมออนไลน์เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เช่นเดียวกับการเผยแพร่ภาพผู้นำของหลายประเทศที่เข้ารับการฉีดวัคซีนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นผ่านสื่อดิจิทัลที่ทรงพลังที่เราใช้งานอยู่กันทุกวันนี้

DATA

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่ได้รับวัคซีนถูกเก็บในระบบคอมพิวเตอร์ มีการปกป้องความเป็นส่วนตัวอย่างรัดกุม รับส่งข้อมูลด้วยการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อติดตามความก้าวหน้าการฉีดวัคซีน ผลข้างเคียง และข้อมูลที่เกี่ยวข้องในภาพรวมทั้งประเทศ

ประเด็นที่สำคัญคือ อิสราเอลเป็นหนึ่งประเทศที่ได้การยอมรับด้านเทคโนโลยี การที่ผู้ผลิตวัคซีนตกลงส่งวัคซีนให้กับประเทศนี้นอกจากการเจรจาและสัญญาข้อตกลงแล้ว อีกด้านหนึ่งน่าจะเป็นความสามารถในการบริหารจัดการและเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นข้อมูลทางคลินิกอย่างดีให้กับผู้ผลิตวัคซีนด้วย

การมีข้อมูลสุขภาพของประชากรทำให้ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบางทางสุขภาพบางกลุ่มผ่านการเฝ้าดูอาการเป็นพิเศษก่อนและหลังการรับวัคซีน ซึ่งแน่นอนถ้าไม่มีข้อมูลสุขภาพเดิมอยู่ หรือผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นโรคใดอยู่ก็อาจจะมีความเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้

PEOPLE

ส่วนสำคัญที่สุดคือ คนในประเทศ ที่พร้อมใจสามัคคีร่วมไม้ร่วมมือ เราจะเห็นได้ในหลายประเทศมีอาสาสมัครเพื่ออำนวยความสะดวกจัดการในจุดรับการฉีดวัคซีน บุคลากรทางการแพทย์ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ และ พวกเราเองทุกคนที่จะทำให้เราผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

REFERENCES

1.MIT Technology Review, “This is how America gets its vaccines,” Jan. 2021.
2.Harvard University, “Ensuring equity in COVID-19 vaccine distribution,” Feb. 2021.
3.The Jerusalem Post, “Nine reasons why Israel leads the world in vaccine distribution,” Jan. 2021.

Leave a Response